ในการประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมสามัญ สมัยแรก (ครั้งที่ 3) ประจำปีพุทธศักราช 2566 นายพุทธิพัชร์ ธันยาธรรมนนท์ ส.ก.เขตยานนาวา ได้เสนอญัตติ ขอให้สภากรุงเทพมหานครตั้งคณะกรรมการวิสามัญศึกษาแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษจากยานพาหนะการก่อสร้างและอื่น ๆ ในเขตกรุงเทพมหานคร
เนื่องจากกรุงเทพมหานครเป็นพื้นที่ที่มีการขยายตัวทางด้านเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม มีการใช้ระบบขนส่งมวลชนค่อนข้างสูง มีจำนวนยานพาหนะมากและสภาพการจราจรติดขัด จึงส่งผลให้กรุงเทพมหานครประสบปัญหามลพิษทางอากาศมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะบริเวณริมถนนจะมีปริมาณมลพิษสูงกว่าบริเวณพื้นที่ทั่วไปที่เป็นที่พักอาศัย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นปัญหาที่เกิดจากฝุ่นละอองในบรรยากาศ จากข้อมูลการตรวจสอบคุณภาพอากาศในกรุงเทพมหานคร พบว่าบริเวณเส้นทางที่มีการจราจรหนาแน่นจะมีปริมาณฝุ่นละอองในบรรยากาศอยู่ในระดับสูงกว่ามาตรฐาน ซึ่งสาเหตุที่ทำให้เกิดฝุ่นละอองอันเป็นมลพิษทางอากาศและเป็นอันตรายต่อสุขภาพของประชาชนมากที่สุด คือ ยานพาหนะที่สัญจรไปมาบนท้องถนนในกรุงเทพมหานคร คิดเป็นร้อยละ 40 ของทั้งหมด ที่ผ่านมากรุงเทพมหานครได้มีมาตรการในการควบคุมและแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศมาอย่างต่อเนื่อง โดยร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐและเอกชน การตรวจจับรถยนต์ที่มีควันดำเกินมาตรฐาน การตรวจวัดควันดำจากรถโดยสารประจำทางร่วมกับกรมการขนส่งทางบก การควบคุมรถราชการก่อมลพิษในสังกัดกรุงเทพมหานคร การจัดทำระบบเชื่อมโยงข้อมูลรถยนต์ปล่อยมลพิษในกรุงเทพมหานคร รวมทั้งการรณรงค์ขอความร่วมมือจากประชาชนหลีกเลี่ยงการใช้เส้นทางในช่วงเวลาที่มีมลพิษสูง การให้บริการตรวจปรับแต่งเครื่องยนต์ฟรีแก่ประชาชน การส่งเสริมให้ติดตั้งเครื่องกรองมลพิษจากท่อไอเสียรถยนต์ การเฝ้าระวังคุณภาพอากาศในบรรยากาศ การรายงานผลปริมาณมลพิษให้ประชาชนทราบ และการประชาสัมพันธ์เพื่อรณรงค์สร้างจิตสำนึกในการมีส่วนร่วมของประชาชนทุกรูปแบบ แต่ปัญหาดังกล่าวก็ยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง จึงควรมีการศึกษาปัจจัยปัญหาและแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง เพื่อให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตและสุขภาพที่ดี เกิดความร่วมมือกับทุกภาคส่วนในการที่จะร่วมกันแก้ปัญหา
“ปัญหามลพิษ ฝุ่นละออง ส่งผลกระทบต่อชีวิตเด็กและเยาวชน ซึ่งในอนาคตจะทำให้ประเทศเราก้าวไปข้างหน้าไม่ได้ เพื่อให้กรุงเทพมหานครมีอากาศที่ดีสำหรับคนทุกคน กทม.จึงควรแก้ปัญหานี้อย่างจริงจัง” นายพุทธิพัชร์ กล่าว โดยนายสัณห์สิทธิ์ เนาถาวร ส.ก.เขตวัฒนา ได้ร่วมอภิปรายเพื่อสนับสนุนในญัตตินี้ด้วย
ที่ประชุมสภากรุงเทพมหานคร เห็นชอบให้ตั้งคณะกรรมการวิสามัญศึกษาแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษจากยานพาหนะการก่อสร้างและอื่น ๆ ในเขตกรุงเทพมหานคร จำนวน 16 ท่าน กำหนดระยะเวลาในการศึกษา 60 วัน
———————-