(18 ม.ค.66) ในการประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมสามัญ สมัยแรก (ครั้งที่ 3) ประจำปีพุทธศักราช 2566 ณ ห้องประชุมสภากรุงเทพมหานคร อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ดินแดง : นายวิพุธ ศรีวะอุไร ส.ก.เขตบางรัก ได้เสนอญัตติเรื่อง ขอให้กรุงเทพมหานครพิจารณาดำเนินการจัดระเบียบสายสื่อสารในพื้นที่กรุงเทพมหานคร
เนื่องจากกรุงเทพมหานครมีหลายพื้นที่มีปัญหาสายไฟ สายสื่อสารบนเสาไฟฟ้ารกรุงรังเป็นจำนวนมาก ก่อให้เกิดความไม่เป็นระเบียบเรียบร้อย อาจส่งผลต่อความไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน อาจเกิดอุบัติเหตุเสียชีวิตจากการถูกไฟช็อต และมีความเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดเหตุเหลิงไหม้ อีกทั้งยังกีดขวางทางสัญจร เป็นปัญหาที่ควรได้รับการแก้ไขโดยเร็ว โดยการดำเนินการเกี่ยวกับสายสื่อสารในพื้นที่กรุงเทพมหานครมีหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น การไฟฟ้านครหลวง สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) และกรุงเทพมหานคร โดยทุกหน่วยงานต้องบูรณาการร่วมกันเพื่อให้สามารถดำเนินการจัดระเบียบสายสื่อสารได้อย่างเป็นรูปธรรม ทั้งนี้ ถนนหลายเส้นในกรุงเทพมหานครที่เป็นถนนสายสำคัญ เช่น ถนนเจริญกรุงเป็นถนนสายแรกของเมืองไทย เป็นถนนสายสำคัญที่สร้างโดยใช้เทคนิคการสร้างแบบตะวันตก ผ่านพื้นที่หลายเขต เช่น เขตพระนคร เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย เขตสัมพันธวงศ์ เขตบางรัก เขตสาทร และเขตบางคอแหลม แนวถนนเส้นนี้กรุงเทพมหานครควรจัดลำดับความสำคัญในการจัดระเบียบสายสื่อสารให้เป็นระเบียบเรียบร้อย ดังนั้น เพื่อให้กรุงเทพมหานครเป็นเมืองน่าอยู่ มีความเป็นระเบียบเรียบร้อยและปลอดภัย จึงเสนอญัตติขอให้กรุงเทพมหานครพิจารณาดำเนินการจัดระเบียบสายสื่อสารในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ในการประชุมสภากรุงเทพมหานครครั้งนี้
“ในพื้นที่กทม.มีสายสื่อสารที่รอรับการแก้ไขในหลายจุด และก่อให้เกิดปัญหาเพลิงไหม้หลายครั้ง จากการลงพื้นที่มีข้อสังเกตุว่าสายสื่อสารที่มัดรวมกันเป็นกระจุกจะเป็นส่วนหนึ่งของสาเหตุเพลิงไหม้หรือไม่ จากไทม์ไลน์การนำสายสื่อสารและสายไฟฟ้าลงดินตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547 จนถึงปัจจุบัน ยังไม่เห็นความคืบหน้าของโครงการ ทั้งนี้หากในระยะยาวการทำให้กทม.เป็น Smart City เต็มรูปแบบ จะทำให้ระบบไฟฟ้ามั่นคงมีเสถียรภาพ ทัศนียภาพสวยงาม มีความปลอดภัยด้านอัคคีภัย สามารถลดอุบัติเหตุ ส่งเสริมการท่องเที่ยว รองรับการเติบโตทางเศรษฐกิจ ลดค่าใช้จ่ายในการตัดต้นไม้ ลดคาร์บอนไดออกไซด์ และช่วยลดปัญหาน้ำขังและน้ำท่วม สุดท้ายความรับผิดชอบอาจไม่ใช่ของกทม.ทั้งหมด แต่กทม.ในฐานะเจ้าบ้านและเจ้าของ Infrastructure จึงควรหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ไขปัญหาในระยะยาว” ส.ก.วิพุธ กล่าว
จากนั้นส.ก.ได้ร่วมกันอภิปรายเพื่อสนับสนุนญัตติของส.ก.เขตบางรัก ประกอบด้วย นางสาวภัทราภรณ์ เก่งรุ่งเรืองชัย ส.ก.เขตบางซื่อ ซึ่งกล่าวว่า เรื่องสายสื่อสารเป็นเรื่องที่สำคัญและเข้าใจว่าซับซ้อนเพราะมีหลายหน่วยงานเข้ามาเกี่ยวข้อง ในเขตบางซื่อ พบปัญหาสายไฟหรือสายสื่อสารเข้าไปชิดกับตัวอาคารบ้านเรือนของประชาชนซึ่งอาจก่อให้เกิดปัญหาอัคคีภัยได้ และเมื่อแจ้งการไฟฟ้านครหลวงไม่พบว่ามีการดำเนินการแก้ไขแต่อย่างไร ในแยกบางโพก็พบปัญหาการโยงสายไฟและสารสื่อสารจากเสาไฟเข้าบ้านเรือนประชาชน และสายสื่อสารบางส่วนก็โดนตัดเหลือเพียงสายทองแดง ไม่มีการจัดระเบียบสายต่าง ๆ เช่นเดียวกับนายสมชาย เต็มไพบูลย์กุล ส.ก.เขตคลองสาน ซึ่งกล่าวว่า ในพื้นที่คลองสานก็มีปัญหาสายสื่อสารเช่นเดียวกัน แต่ทีโอทีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ให้ความร่วมมือในการจัดระเบียบเป็นอย่างดี นอกจากนี้การจัดเก็บภาษีสายสื่อสารอาจจะทำให้ปัญหาดีขึ้น
นางสาวนภัสสร พละระวีพงษ์ ส.ก.เขตบางกะปิ กล่าวว่า ภาพความรุงรังของสายสื่อสารเป็นภาพที่คนกรุงเทพฯเห็นชินตา ที่ไม่ได้ทำลายแค่ทัศนียภาพแต่ยังทำให้เกิดอุบัติแหตุกับชีวิตประชาชนด้วย จึงขอให้กรุงเทพมหานครแก้ไขโดยด่วน
นายวิรัช คงคาเขตร ส.ก.เขตบางกอกใหญ่ กล่าวว่า เจ้าหน้าที่ฝ่ายโยธาได้รายงานว่าสายไฟบางจุดมีอายุกว่า 20 ปี การไฟฟ้านครหลวงไม่ได้นำสายเก่าออก ซึ่งหากนำออกได้อาจจะทำให้ทัศนียภาพดีขึ้น การที่กฟน.ปักเสา กทม.ไม่ได้มีรายได้แต่อย่างใด แต่กฟน.จะมีรายได้จากเจ้าของสายสื่อสารทั้งหลาย และเป็นหน้าที่ของกทม.ที่ต้องแก้มลภาวะทางสายตานี้
นายสุรจิตต์ พงษ์สิงห์วิทยา ส.ก.เขตลาดกระบัง กล่าวเสนอว่า ไม่ให้เอาสายไฟฟ้าลงดินเนื่องจากงบประมาณของกทม.มีจำกัด แต่การเอาสายตายหรือสายที่ไม่ได้ใช้งานออก หรือการสร้างกระเปราะเพื่อส่งสัญญาณถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นการลงทุนไม่มาก ไม่เป็นการเพิ่มภาระให้กับหน่วยงานผู้ใช้
รศ.ดร.วิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า การจัดระเบียบสายสื่อสารจะมีอยู่ 2 ลักษณะ คือ การนำสายสื่อสารลงใต้ดิน และการจัดระเบียบสายสื่อสารที่พาดอยู่บนเสาไฟ การนำสายสื่อสารลงใต้ดิน การไฟฟ้านครหลวงจะเป็นหน่วยงานหลักที่ดำเนินการก่อสร้างท่อร้อยสายใต้ดินและกทม.จะอนุญาตให้เปิดพื้นที่ทางเท้าเพื่อก่อสร้างท่อ ในปัจจุบันการไฟฟ้านครหลวงได้ดำเนินการเสร็จ 62 กม. ในปีนี้ดำเนินการอีก 29 กม. และจะดำเนินการต่อเนื่อง รวมระยะ 236 กม. คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2570 ซึ่งเส้นทางเหล่านี้เมื่อการไฟฟ้านครหลวงนำเสาไฟฟ้าออก สายสื่อสารจะถูกบังคับให้นำลงใต้ดินเพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยและปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน
สำหรับเส้นทางอื่นจะมีการรื้อถอนสายตายหรือสายสื่อสารที่ไม่มีการใช้งานออกเพื่อลดจำนวนสาย และเดินสายใหม่บนไม้คอนที่ติดตั้งใหม่พร้อมระบุเจ้าของสายสื่อสาร ปัจจุบันกสทช.ได้จัดระเบียบสายสื่อสารแล้วเสร็จ 37 เส้นทาง รวมระยะทาง 161 กม. และมีแผนในปีนี้อีก 442 กม. ในส่วนของกทม.จะดำเนินการร่วมกับกฟน.และกสทช.อย่างใกล้ชิดเพื่อวางแผนการจัดระเบียบสายสื่อสารให้ครบ 1,000 กม. ตามนโยบาย
—————-