(18 ม.ค.66) ในการประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมสามัญ สมัยแรก (ครั้งที่ 3) ประจำปีพุทธศักราช 2566 ณ ห้องประชุมสภากรุงเทพมหานคร อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ดินแดง : นายสุทธิชัย วีรกุลสุนทร ส.ก.เขตจอมทอง ได้เสนอญัตติ ขอให้กรุงเทพมหานครหารือกรมบัญชีกลางประเด็นปัญหากรณีการให้แต้มต่อกับผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) และการใช้พัสดุที่ผลิตภายในประเทศ
เนื่องจากกฎกระทรวงกำหนดพัสดุและวิธีการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุที่ รัฐต้องการส่งเสริมหรือสนับสนุน (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2563 และหนังสือคณะกรรมการวินิจฉัยปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ เรื่อง อนุมัติยกเว้นและกำหนดแนวทางการปฏิบัติตามกฎกระทรวงกำหนดพัสดุและวิธีการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุที่รัฐต้องการส่งเสริมหรือสนับสนุน (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2563 ได้กำหนดแนวทางการดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างกับผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) และพัสดุที่ผลิตภายในประเทศ เช่น กรณีการจัดซื้อโดยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์และใช้เกณฑ์ราคาในการพิจารณาคัดเลือกผู้ชนะ ให้พิจารณาแต้มต่อในการยื่นข้อเสนอ โดยหากผู้ยื่นข้อเสนอ ซึ่งเป็นผู้ประกอบการ SMEs ซึ่งได้ขึ้นบัญชีรายการพัสดุและบัญชีรายชื่อประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ไว้กับสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม เสนอราคาสูงกว่าราคาต่ำสุดของผู้ยื่น ข้อเสนอรายอื่นไม่เกินร้อยละ 10 ให้จัดซื้อจากผู้ประกอบการ SMEs ดังกล่าว ทั้งนี้ จากการติดตามการใช้จ่ายงบประมาณของกรุงเทพมหานครพบว่า การจัดซื้อจัดจ้างตามแนวทางดังกล่าว ก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมกับผู้ประกอบธุรกิจรายอื่นที่ไม่ได้ขึ้นบัญชีรายชื่อไว้กับสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมและกรุงเทพมหานครยังได้รับความเสียหายเนื่องจากต้องสูญเสียงบประมาณในการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุในราคาที่สูง แทนที่จะได้พัสดุที่มีราคาต่ำและมีคุณภาพเท่ากันจากผู้ประกอบธุรกิจรายอื่น ซึ่งจะเป็นการประหยัดงบประมาณ หรือกรณีการจัดจ้างก่อสร้าง ให้หน่วยงานของรัฐต้องกำหนดให้คู่สัญญาต้องใช้พัสดุประเภทวัสดุหรือครุภัณฑ์ที่จะใช้ในงานก่อสร้างเป็นพัสดุที่ผลิตภายในประเทศ โดยต้องไม่น้อยกว่าร้อยละ 60 ของมูลค่าพัสดุที่ใช้ในงานก่อสร้างทั้งหมด และให้หน่วยงานพิจารณาการใช้เหล็กในงานก่อสร้างก่อน โดยให้คู่สัญญาต้องใช้เหล็กที่ผลิตภายในประเทศไม่น้อยกว่าร้อยละ 90 ของปริมาณเหล็กที่ต้องใช้ทั้งหมดตามสัญญา ซึ่งข้อเท็จจริง ผู้ผลิตเหล็กในประเทศจะมีน้อยราย อาจเป็นการผูกขาด และงานก่อสร้างไม่สามารถใช้เหล็กจากต่างประเทศที่มีคุณภาพที่ดีกว่าได้ ส่งผลต่อคุณภาพของงาน สิ่งเหล่านี้เป็นปัญหาในทางปฏิบัติ ดังนั้น จึงขอให้กรุงเทพมหานครหารือกรมบัญชีกลางประเด็นปัญหากรณีการให้แต้มต่อกับผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) และการใช้พัสดุที่ผลิตภายในประเทศ
“ปัจจุบันว่าหลายโครงการผู้ประมูลต่ำสุดจะไม่ได้งาน ซึ่งได้รับแจ้งว่าเป็นเพราะผู้ประมูลไม่ได้จดทะเบียน SMEs ถึงแม้จะประมูลได้ต่ำกว่าก็อาจจะไม่ได้งาน เพราะมีแต้มเพิ่มให้หากจดทะเบียน SMEs ซึ่งพบว่ากรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง กำหนดแนวทางนี้ขึ้น เพื่อต้องการสนับสนุนผู้ประกอบการในช่วงที่โควิดระบาด และยังกำหนดให้ใช้ผลิตภัณฑ์ในประเทศเท่านั้น ส่งผลให้กทม.ต้องใช้งบประมาณมากขึ้น บางโครงการหลายร้อยล้าน ในฐานะประธานคณะกรรมการเศรษฐกิจ การเงิน การคลังและการงบประมาณ จึงต้องมาติดตามในเรื่องนี้” ส.ก.สุทธิชัย กล่าว
นางกนกนุช กลิ่นสังข์ ส.ก.เขตดอนเมือง กล่าวว่า ในปี 66 งบประมาณส่วนใหญ่ที่ใช้จะเป็นเรื่องของการพัฒนาถนนหนทางและตรอกซอกซอย ซึ่งในพื้นที่ดอนเมืองมีการดำเนินการก่อสร้างถนนพร้อมท่อระบายน้ำหลายแห่ง จึงขอนำเสนอโครงการการวางท่อระบายน้ำในลักษณะที่ต่างจากของกทม.โดยอยู่ในพื้นที่บางละมุง จังหวัดชลบุรี จากการสอบถามผู้ควบคุมพบว่าหากมีการวางท่อได้เป็นอย่างดี และเมื่อสามารถเชื่อมท่อได้ดีจะทำให้ไม่เกิดปัญหาเรื่องของการ Crack และรับน้ำหนักพื้นถนนได้ดีขึ้น กรณีการก่อสร้างถนนเส้นยาว ๆ จะมีผลกระทบต่อการใช้รถใช้ถนนและการจราจรกทม.จึงควรนำนวัตกรรมใหม่มาใช้บ้าง โดยต้องมีมาตรฐานอุตสาหกรรมด้วย ทั้งนี้มาตรฐานของกรมบัญชีกลางมีหลายอย่าง แต่ไม่ทราบว่ามีการกำหนดมาตรฐานใหม่ ๆ เช่นนี้หรือไม่ จึงขอให้กทม.พิจารณานำไปปรับใช้ในโครงการจัดซื้อจัดจ้างด้วย
นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ฝ่ายบริหารต้องขอขอบคุณส.ก.ที่นำเสนอแนวคิดเหล่านี้ ซึ่งกรุงเทพมหานครพิจารณาแล้วเห็นว่าเป็นแนวคิดที่ควรนำไปดำเนินการ ขณะนี้สำนักการคลังอยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักการระบายน้ำ และสำนักการโยธา เพื่อนำเสนอกระทรวงการคลัง โดยแบ่งเป็น 2 ประเด็น คือ การของบประมาณมาสนับสนุนในส่วนที่เกินหลังจากที่มีการประมูลไปแล้ว แนวคิดที่ 2 คือ กรุงเทพมหานครจะขอยกเว้นให้กรุงเทพมหานครปฏิบัติตามกฎกระทรวงดังกล่าว ซึ่งแนวคิดของส.ก.จะสามารถนำไปใช้แก้ไขปัญหาการเงินการคลังของกรุงเทพมหานครได้