(2 ต.ค. 67) ในการประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมวิสามัญ สมัยที่สี่ (ครั้งที่ 1) ประจำปีพุทธศักราช 2567 โดยมีนายสุรจิตต์ พงษ์สิงห์วิทยา ประธานสภากรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุม ณ ห้องประชุมสภากรุงเทพมหานคร อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร 2 ดินแดง
นายประพฤทธ์ หาญกิจจะกุล สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตห้วยขวาง ยื่นญัตติด้วยวาจาเรื่องขอให้กรุงเทพมหานครเร่งรัดจัดหารถเก็บขนมูลฝอยทดแทนในส่วนที่จะครบกำหนดสัญญาในปี 2567 นายประพฤทธ์กล่าวว่า กรุงเทพมหานครกำลังเจอกับปัญหาเรื่องขยะตกค้าง เฉพาะในพื้นที่เขตห้วยขวาง มีปริมาณขยะวันละ 300 กว่าตัน ซึ่งเป็นปริมาณที่เยอะมาก และการจ้างรถเก็บขนมูลฝอยในปีงบประมาณ 2567 จาก 7 โครงการ จะหมดสัญญาจำนวน 4 โครงการ ซึ่งจะทำให้กทม.ขาดรถเก็บขนมูลฝอยเป็นจำนวนมาก โดยเมื่อวันที่ 30 กันยายน ขาดรถขนขยะจำนวน 102 คัน และจะขาดเพิ่มเติมในวันที่ 22 พฤศจิกายน และ 22 ธันวาคม 2567 รวมทั้งสิ้น 842 คัน อันที่จริงแล้วเป็นโครงการที่มีมานานแล้ว แต่เหตุใดทำไมไม่มีความต่อเนื่องของการจัดการรถขนขยะเพื่อสนับสนุนการขนย้ายขยะมูลฝอย
นายประพฤทธ์ กล่าวต่อไปว่า รถขนขยะไฟฟ้าจะมาทดแทนจำนวน 470 คัน ในปีงบประมาณ 2568 ได้หรือไม่ ขอสอบถามเรื่องความคืบหน้าของโครงการนี้ และมีความกังวลเรื่องผลกระทบในมิติต่าง ๆ ได้มีการศึกษาดีพอหรือยังในเรื่องความเหมาะสมในเชิงพื้นที่ และความคุ้มค่าในด้านทรัพยากร
นายพุทธิพัชร์ ธันยาธรรมนนท์ สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตยานนาวา กล่าวเสริมประเด็นเพิ่มเติมว่าการเปลี่ยนผ่านจากรถสันดาบมาเป็นรถไฟฟ้าเป็นเรื่องที่ยาก อันที่จริงรถสันดาบอาจจะประหยัดในเชิงค่าใช้จ่ายของราคาตัวรถ แต่เมื่อนำค่าใช้จ่ายมารวมกันและคำนวณต้นทุน ทั้งในเรื่องของราคารถ ค่าน้ำมัน ค่าไฟฟ้า พลังงานต่าง ๆ จะรู้ว่าแบบไหนประหยัดและคุ้มค่ากว่าในระยะยาว เช่น เขตสายไหมที่มีปัญหาขยะล้นเมือง จัดเก็บไม่ทัน เมื่อนำรถเก็บขนมูลฝอยไฟฟ้ามาใช้จะมีความคุ้มค่าหรือไม่ อยากให้ฝ่ายบริหารคำนึงถึงความเป็นธรรมกับภาษีของประชาชนให้มากที่สุด
นางสาวนฤนันมนต์ ห่วงทรัพย์ สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตคลองสามวา ตั้งข้อสังเกตุเรื่องการขาดแคลนรถขยะในเขตของตนโดยเปรียบเทียบว่า กทม.วุ่นวายเหมือนตายวันแรก ซึ่งก่อนหน้านี้เขตคลองสามวามีปัญหาเรื่องขาดแคลนบุคลากรในการเก็บขนมูลฝอยที่ไม่เพียงพอ ซึ่งทางสำนักงานเขตได้แก้ปัญหาด้วยการจัดพนักงานกวาดซึ่งส่วนใหญ่เป็นพนักงานผู้หญิง มาช่วยเก็บขนขยะในพื้นที่ และตอนนี้ยังประสบปัญหาขาดแคลนรถขนขยะขนาด 3 ลูกบาศก์เมตร อีก และคาดว่าเขตจะขาดรถขนขยะได้ไม่เกินสองเดือนเท่านั้น โดยตั้งคำถามต่อฝ่ายบริหารว่าจะแก้ไขปัญหานี้ให้กับชาวคลองสามวาอย่างไร และ 270 วันต่อจากนี้ ต้องจัดการปัญหาขยะกันอย่างไร
นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ตอบประเด็นดังกล่าวพร้อมชี้แจงถึงการศึกษาข้อดีข้อเสียและข้อเปรียบเทียบระหว่างรถขนขยะแบบสันดาบ และรถขนขยะไฟฟ้า โดยรถขนขยะไฟฟ้าใช้งบประมาณที่น้อยกว่า ต้นทุนด้านพลังงานน้อยกว่า ที่สำคัญในประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมทั้งการปล่อย pm 2.5 ก๊าซเรือนกระจก ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ และก๊าซออกไซด์ของไนโตรเจน ซึ่งล้วนแต่เป็นมลพิษต่อชาวกรุงเทพมหานครทั้งสิ้น แต่หากใช้รถขนขยะไฟฟ้าจะมีปริมาณมลพิษเป็นศูนย์ ส่วนในประเด็นการจัดหารถขนขยะให้เพียงพอในช่วงสิ้นปีงบประมาณ 2567 มีข้อผิดพลาดบางประการที่ทำให้ไม่สามารถปล่อยรถขนขยะไฟฟ้าออกไปให้เพียงพอได้ในขณะนี้
นอกจากนี้ รองผู้ว่าฯ จักกพันธุ์ ยืนยันถึงความมุ่งมั่นและตั้งใจที่จะทำให้โครงการนี้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี เพราะมีความตั้งใจจริงในการปรับปรุงรถขนขยะให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังเป็นการประหยัดทรัพยากรในทุกด้าน ทั้งงบประมาณและพลังงานที่ใช้ และแสดงจุดยืนถึงความตั้งใจอันดีและความโปร่งใสของการทำงาน
ด้านกรุงเทพมหานครจะจัดการแถลงข่าวประเด็นดังกล่าวในวันศุกร์ที่ 4 ตุลาคม 2567
————————————-