Search
Close this search box.
สภา กทม. ตั้งคณะกรรมการวิสามัญพิจารณาร่างข้อบัญญัติเงินอุดหนุนกทม.ก่อนรับหลักการ

ในที่ประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมสามัญ สมัยที่สี่ (ครั้งที่ 1) ประจำปีทุทธศักราช 2567 ณ ห้องประชุมสภากรุงเทพมหานคร อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร 2 ดินแดง วันนี้ (2 ต.ค.67) นายชัชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เสนอญัตติร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง เงินอุดหนุนของกรุงเทพมหานคร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …..

นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า หลักการและเหตุผลที่ขอแก้ไขเพิ่มเติมข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง เงินอุดหนุนของกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2560 นั้น เพื่อให้รัฐวิสาหกิจเป็นหน่วยงานที่สามารถขอรับเงินอุดหนุนจากรุงเทพมหานคร เพื่อดําเนินการตามภารกิจของกรุงเทพมหานครและเป็นประโยชน์ต่อประชาชนมากยิ่งขึ้น จึงจําเป็นต้องตราข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร นอกจากนี้ กรุงเทพมหานคร โดย สำนักงบประมาณ ได้มีการตั้งรหัสหมวดต่าง ๆ ในการขอเงินอุดหนุน เพื่อสนับสนุนรัฐวิสาหกิจในกรณีจำเป็นเร่งด่วน ไว้ทั้งสิ้น 13 รหัสไว้อย่างชัดเจนอีกด้วย ซึ่งที่ผ่านมากรุงเทพมหานครใช้งบกลางในการติดตั้งไฟฟ้าส่องสว่าง โดยให้หน่วยงานขอจัดสรรงบประมาณเพื่อจัดซื้อจัดจ้างตามระเบียบการจัดซื้อจัดจ้าง

จากนั้น สมาชิกสภากรุงเทพมหานครได้ร่วมอภิปรายในญัตตินี้ คือ นายวิรัตน์ มีนชัยนันท์ สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตมีนบุรี กล่าวว่า รัฐวิสาหกิจที่ให้บริการกับประชาชนในพื้นที่กรุงเทพฯ อาทิ การประปา ไฟฟ้า โทรศัพท์ หรือรถประจำทาง ที่ผ่านมา กรุงเทพมหานครเคยของบประมาณเพื่อนำไปอุดหนุน เช่น การไฟฟ้านครหลวง ขอสนับสนุนเรื่องของไฟฟ้าส่องสว่าง การนำสายไฟลงใต้ดิน หรือการติดตั้งประปาหัวแดง เป็นต้น ซึ่งตนคิดว่าร่างข้อบัญญัติเดิมมีความเหมาะสมอยู่แล้วเพราะสามารถนำงบประมาณอุดหนุนมาใช้ในกรณีมีเหตุจำเป็นเร่งด่วนเพื่อแก้ปัญหาให้ประชาชนได้และมีความคล่องตัว และไม่เห็นด้วยที่ร่างข้อบัญญัติใหม่จะขอจัดสรรงบประมาณรายจ่ายอุดหนุนรัฐวิสาหกิจจากงบกลาง จึงขอให้ตั้งคณะกรรมการวิสามัญพิจารณาอย่างถี่ถ้วนก่อนรับหลักการแก้ไขเพิ่มเติมข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครฉบับนี้ โดยนางกนกนุช กลิ่นสังข์ สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตดอนเมือง สนับสนุนให้ตั้งคณะกรรมการวิสามัญเพื่อศึกษาพิจารณาการแก้ไขเพิ่มเติมข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครฉบับนี้ ก่อนรับหลักการ

นายพุทธิพัชร์ ธันยาธรรมนนท์ สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตยานนาวา ตั้งข้อสังเกตว่า รัฐวิสาหกิจที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับพื้นที่กรุงเทพมหานครมีจำนวนหลายหน่วยงาน ซึ่งการขอเงินอุดหนุนล้วนเกี่ยวข้องกับงบประมาณของกรุงเทพมหานคร สภากรุงเทพมหานครจึงควรพิจารณาอย่างรอบคอบ จึงเห็นสมควรอย่างยิ่งที่ควรตั้งคณะกรรมการวิสามัญเพื่อพิจารณาก่อนรับหลักการ เพื่อให้การใช้เงินงบประมาณที่มาจากภาษีของประชาชนคุ้มค่าและปลอดภัยที่สุด

ต่อมา ที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้ตั้งคณะกรรมการวิสามัญ จำนวน 16 คน เพื่อพิจารณาญัตติร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง เงินอุดหนุนของกรุงเทพมหานคร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….. ก่อนรับหลักการ โดยกำหนดให้พิจารณาแล้วเสร็จภายใน 30 วัน

.

แชร์ข่าว:
กรุงเทพฯ มีอะไร อัพเดทข่าวสารฉับไว กิจกรรมที่น่าสนใจ และมีส่วนร่วมได้ รวมไว้ให้ที่นี่

©2022 สงวนลิขสิทธิ์ กรุงเทพมหานคร

สำนักงานประชาสัมพันธ์ สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร 173 ถนนดินสอ แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กทม. 10200