(11 ม.ค.66) ที่ประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมสามัญ สมัยแรก (ครั้งที่ 2) ประจำปีพุทธศักราช 2566 ณ อาคารไอราวัตพัฒนา กทม.2 ดินแดง : สำหรับวาระการประชุมครั้งนี้ นายนภาพล จีระกุล ส.ก.เขตบางกอกน้อย ได้ยื่นญัตติด้วยวาจา เรื่อง ขอให้สภากรุงเทพมหานครตั้งคณะกรรมการวิสามัญศึกษาเพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว และนายสุทธิชัย วีรกุลสุนทร ส.ก.เขตจอมทอง ได้ยื่นญัตติ เรื่อง ขอให้สภากรุงเทพมหานครตั้งคณะกรรมการวิสามัญศึกษาระบบขนส่งมวลชนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว โดยที่ประชุมสภากรุงเทพมหานครได้มีมติเห็นชอบให้รวมทั้ง 2 ญัตติ และใช้ชื่อญัตติ เรื่อง ขอให้สภากรุงเทพมหานครตั้งคณะกรรมการวิสามัญศึกษาปัญหาโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว เนื่องจากเป็นเรื่องที่มีรายละเอียดการอภิปรายในลักษณะเดียวกัน
นายนภาพล กล่าวว่า ที่ได้ยื่นญัตตินี้เข้ามาเนื่องจากผู้ว่าฯกทม.มักจะกล่าวอยู่เสมอว่าเรื่องของรถไฟฟ้าให้รอความคิดเห็นของสภา ซึ่งขณะนี้ BTS ได้เริ่มทวงถามแล้ว ญัตติที่ตั้งขึ้นเพื่อศึกษาแนวทางการแก้ไขปัญหา ซึ่งก็ตรงจุด เป็นการตั้งธงว่าจะแก้ไขอย่างไรและมอบให้ผู้ว่าฯ กทม.พิจารณาต่อ ปัญหาคือการที่ BTS จะให้เราใช้หนี้ เราก็ล่าช้ามานาน ควรตั้งคณะกรรมการวิสามัญมาตั้งแต่สมัยประชุม สมัยที่ 3
“เรื่องรถไฟฟ้ากทม.ได้ดำเนินการมานาน กทม.จำเป็นต้องศึกษาปัญหาอุปสรรคที่เกิดขึ้น เนื่องจากมีประชาชนให้ความสนใจเป็นจำนวนมาก ส.ก.จึงต้องร่วมกันแก้ไข เพราะปัญหาความเดือดร้อนของกทม. ก็คือความเดือดร้อนของคนกทม.ด้วย” นายสุทธิชัย กล่าว
ทั้งนี้ ตามที่กรุงเทพมหานครได้ให้บริการระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานคร เพื่อบรรเทาปัญหาการจราจรในกรุงเทพมหานครและเพื่อเพิ่มทางเลือกในการเดินทางที่มีประสิทธิภาพ ประหยัดและปลอดภัยให้ประชาชน กรุงเทพมหานครได้ดำเนินการโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 3/2566 ลงวันที่ 11 เมษายน พ.ศ.2565 บูรณาการในเรื่องของการบริหารจัดการในเส้นทางของรถไฟฟ้าสายสีเขียวตามเส้นทางสัมปทาน ส่วนต่อขยายที่ 1 และส่วนต่อขยายที่ 2 เพื่อให้การเดินรถเป็นไปอย่างต่อเนื่องเป็นโครงข่ายเดียวกัน (Through Operation) และอำนวยความสะดวกในการเดินทางของประชาชนซึ่งดำเนินการเรียบร้อยแล้วนั้น ปัจจุบันกรุงเทพมหานครมีค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวและภาระหนี้จากโครงการฯ มีมูลค่าสูง เป็นรายจ่ายที่กรุงเทพมหานครไม่สามารถที่จะจัดสรรงบประมาณของกรุงเทพมหานคร เนื่องจากกรุงเทพมหานครมีภารกิจที่ครอบคลุมหลายด้านทั้งด้านการศึกษา เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม จึงจำเป็นต้องศึกษาในเรื่องนี้พร้อมเร่งแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นเพื่อให้เกิดความชัดเจนในการดำเนินโครงการและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน
ในการประชุม ส.ก.ได้ร่วมกันอภิปรายประเด็นปัญหาต่าง ๆ ซึ่งเกิดจากการดำเนินการโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ประกอบด้วย นายพีรพล กนกวลัย ส.ก.เขตพญาไท นายสุรจิตต์ พงษ์สิงห์วิทยา ส.ก.เขตลาดกระบัง และนายวิรัช คงคาเขตร ส.ก.เขตบางกอกใหญ่
จากนั้นที่ประชุมมีมติเห็นชอบกับญัตติ เรื่อง ขอให้สภากรุงเทพมหานครตั้งคณะกรรมการวิสามัญศึกษาปัญหาโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว และเสนอให้ตั้งคณะกรรมการวิสามัญฯ 23 คน โดยเป็นส.ก. 18 คน และฝ่ายบริหาร 5 คน โดยไม่กำหนดระยะเวลาในการศึกษา