ในที่ประชุมสภากรุงเทพมหานครสมัยประชุมสามัญ สมัยแรก (ครั้งที่ 2) ประจำปีพุทธศักราช 2566 วันนี้ (11 ม.ค.66) : นายสราวุธ อนันต์ชล ส.ก.เขตพระโขนง ได้ยื่นกระทู้ถามสด เรื่อง การแก้ไขปัญหาอุโมงค์ระบายน้ำบึงหนองบอนทรุดตัวในพื้นที่เขตพระโขนง จากเหตุการณ์สะพานข้ามคลองเคล็ดในพื้นที่เขตพระโขนงเกิดการทรุดตัวเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565 เนื่องจากน้ำใต้ดินพัดทรายเข้าอาคารรับน้ำและไหลเข้าอุโมงค์ระบายน้ำจนทำให้ชั้นดินด้านบนทรุดตัว ส่งผลให้เสาเข็มสะพานคลองเคล็ดทรุดตัวพังลงมาและถนนมีการทรุดตัวเป็นระยะทางหลายสิบเมตร ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ได้รับความเดือดร้อนในการสัญจร และวิตกกังวลเป็นอย่างมากว่าถนนที่ใช้งานมีความเสี่ยงที่จะทรุดตัวเพิ่ม
ส.ก.พระโขนง กล่าวว่า 6 ปีแล้วที่อุโมงค์ระบายน้ำบึงหนองบอนยังก่อสร้างไม่เสร็จ และได้รับการสอบถามจากประชาชนตลอดมา จึงขอสอบถามผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ดังนี้
1. กรุงเทพมหานครได้มีการดำเนินการตรวจสอบหาข้อเท็จจริงไปถึงขั้นตอนใด โดยการเรียกผู้รับจ้าง ที่ปรึกษาโครงการ และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องมาให้ข้อมูลหรือไม่ หากมีการตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้วจะเปิดเผยรายงานการตรวจสอบได้เมื่อใด
2. กรุงเทพมหานครมีการตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 และงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 สำหรับแก้ไขปัญหานี้เป็นจำนวนเงินเท่าไร หากมีการตั้งงบประมาณแล้วมีการดำเนินการอย่างไร
3. กรุงเทพมหานครจะแก้ไขปัญหาอุโมงค์ระบายน้ำบึงหนองบอนและสะพานคลองเคล็ด ที่มีการทรุดตัวให้สามารถใช้งานได้อย่างปลอดภัยภายในเมื่อใด
นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ชี้แจงความคืบหน้าโครงการ ว่า กทม.ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยได้เรียกผู้รับจ้าง และที่ปรึกษาโครงการ เข้ามาให้ข้อมูลและชี้แจงข้อเท็จจริงต่อสำนักการระบายน้ำพบว่าก่อนเกิดเหตุผู้รับจ้างได้ทำการขุดเจาะอุโมงค์ได้ตลอดความยาวของโครงการแล้ว และอยู่ในขั้นตอนการทำความสะอาดอุโมงค์ วันเกิดเหตุระหว่างการทำความสะอาดปล่องเพื่อก่อสร้างผนังคอนกรีตหน้าอุโมงค์ ผู้รับจ้างพบน้ำซึมด้านล่างรอยต่อระหว่างปล่องรับน้ำ S3 (คลองเคล็ด) กับอุโมงค์ ผู้รับจ้างจึงได้เสนอวิธีการยิงวัสดุอุด PU โฟมให้แข็งตัวเพื่อให้การซึมของน้ำลดลง ไม่เป็นอุปสรรคต่อการติดตั้งเหล็กเสริม เพื่อเทคอนกรีตผนังคอนกรีตหน้าอุโมงค์ ซึ่งวิธีการยิงวัสดุอุด PU โฟม ดังกล่าวเป็นวิธีการที่เคยทำสำเร็จมาแล้วจากปล่องรับน้ำ S6 (สุขุมวิท 101/1) ที่มีสถานการณ์การรั่วซึมเช่นเดียวกับปล่องรับน้ำ S3 และใช้เวลาแก้ไขใกล้เคียงกัน หลังจากการยิงวัสดุอุด PU โฟม การซึมของน้ำลดลง ต่อมาในวันเดียวกันเกิดเหตุน้ำทะลักเข้าภายในปล่องกระทันหัน ทำให้อุโมงค์ทรุดตัวเป็นแนวยาวประมาณ 100 เมตร ส่งผลกระทบต่อผิวทาง สะพาน และสิ่งปลูกสร้างในบริเวณใกล้เคียง จากเหตุการณ์ดังกล่าวสำนักการระบายน้ำ ได้ขอให้วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) ร่วมพิจารณาการชี้แจงจากผู้รับจ้างและที่ปรึกษา ทั้งนี้ ผู้รับจ้างจะต้องรับผิดชอบโดยซ่อมแซมให้คืนสภาพดีหรือเปลี่ยนให้ใหม่โดยค่าใช้จ่ายของผู้รับจ้างเอง เนื่องจากผู้รับจ้างยังไม่ได้ส่งมอบงานให้กับกทม. อย่างไรก็ตามคาดว่าจะแก้ปัญหาดังกล่าวให้แล้วเสร็จภายในเดือนมิ.ย.68