“ขยะที่คนกรุงเทพฯสร้างถูกส่งไปยังต่างจังหวัดจำนวนมาก ทำให้ประชาชนที่อยู่ใกล้เคียงต้องเจอกับปัญหาเรื่องกลิ่น โรค พาหะของโรคจากสัตว์ และขยะอาหารยังก่อให้เกิดภาวะเรือนกระจกด้วย และมีก๊าซต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจากขยะมากมาย หากสถานประกอบการรายใหญ่มีการกำจัดขยะจากอาหารตั้งแต่ต้นทางจะลดปัญหาเหล่านี้ไปได้ โดยห้างใหญ่ ๆ สามารถก่อขยะได้ถึง 50 ตันต่อวัน ซึ่งเทียบเท่ากับขยะในพื้นที่หนึ่งตำบล และต้องจ่ายค่าจัดการขยะกว่า 500,000 บาทต่อปี การกำหนดให้มีการกำจัดขยะตั้งแต่ต้นทางจะลดจำนวนรอบในการเข้าไปเก็บขยะและสามารถเข้าไปดูแลประชาชนได้ดีขึ้น ทุกวันนี้การเก็บขยะไม่ทัน เป็นปัญหาของทุกเขต รวมทั้งปัญหาการขาดแคลนบุคลากรด้วย ถึงเวลาแล้วที่เราจะออกกฎหมายควบคุมให้มีการกำจัดขยะตั้งแต่ต้นทาง ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะแก้ได้ทันที แต่ต้องเริ่มแล้ว การออกกฎหมายให้ทุกตึกมีเครื่องกำจัดขยะ ในอนาคตทุกที่จะมีเครื่องกำจัดขยะ เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน เป็นการลดโลกร้อน และลดงบประมาณที่กรุงเทพมหานครต้องใช้ในการกำจัดขยะด้วย” นางสาวนิภาพรรณ จึงเลิศศิริ ส.ก.เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย ได้เสนอญัตติ เรื่อง ขอให้กรุงเทพมหานครพิจารณาออกกฎหมายให้มีการจัดการมูลฝอยตั้งแต่ต้นทาง ต่อที่ประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมสามัญ สมัยแรก (ครั้งที่ 2) ประจำปีพุทธศักราช 2566 วันนี้ (11 ม.ค.66) ณ ห้องประชุมสภากรุงเทพมหานคร อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ดินแดง
ส.ก. นิภาพรรณ กล่าวว่า จากจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้น การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ พฤติกรรมการบริโภค และพฤติกรรมการทิ้งโดยไม่คัดแยกหรือนำกลับไปใช้ใหม่ จากสถิติกรุงเทพมหานครมีปริมาณมูลฝอยประมาณ 10,706 ตัน/วัน ปริมาณมูลฝอยที่จัดเก็บได้ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 ถึงวันที่ 30กันยายน 2565 มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 8,979.37 ตัน/วัน เป็นมูลฝอยเปียกจำพวกมูลฝอยอินทรีย์มีค่าเฉลี่ย 3,874 ตัน/วัน คิดเป็นร้อยละ 45 ของปริมาณมูลฝอยทั้งหมด โดยส่วนหนึ่งนำไปกำจัดด้วยเทคโนโลยีหมักปุ๋ย และนำไปคัดแยกและสร้างพลังงานไฟฟ้า ซึ่งที่ผ่านมากรุงเทพมหานครต้องสูญเสียงบประมาณในการกำจัดมูลฝอยในแต่ละปีเป็นเงินกว่า 12,000 ล้านบาท หากกรุงเทพมหานครมีกฎหมายบังคับใช้กับสถานที่ต่าง ๆ เช่น โรงเรียน โรงพยาบาล ห้างสรรพสินค้า โรงแรม เป็นต้น ให้มีการคัดแยกมูลฝอยนำมูลฝอยเปียกไปทำปุ๋ยหมัก หรือปุยอินทรีย์เพื่อลดปริมาณมูลฝอยต้นทาง จะเป็นการลดภาระในการจัดการมูลฝอยของกรุงเทพมหานคร
ด้าน นายสุรจิตต์ พงษ์สิงห์วิทยา ส.ก.เขตลาดกระบัง กล่าวว่า เรื่องขยะเป็นหนึ่งในประเด็นสำคัญ ถึงเวลาแล้วที่กทม.ต้องออกกฎหมายที่แรงกว่านี้ อาชีพพนักงานเก็บขยะเป็นอาชีพที่มีความเสี่ยงสูง อาจเนื่องจากเครื่องแบบ อุปกรณ์เสื่อมสภาพ ซึ่งกทม.ควรให้การดูแล ตลอดจนดูแลสวัสดิการ เพิ่มโควต้าการบรรจุพนักงาน โดยปรับกฎระเบียบให้เป็นปัจจุบันมากขึ้น
นางกนกนุช กลิ่นสังข์ ส.ก.เขตดอนเมือง กล่าวว่า เรื่องขยะก็เป็นปัญหาของดอนเมืองเช่นกัน ซึ่งอาจไม่ใช่ปัญหาแต่เป็นเรื่องของการบริหารจัดการ พื้นที่ของกทม.ไม่ได้ขยายมากขึ้นแต่การขยายตัวของบ้านเรือนและครัวเรือนมีจำนวนมากขึ้น หลายปีที่ผ่านมาขยะในคลองลดลง แต่ปัญหาที่มากขึ้นคือการทิ้งขยะก่อสร้างในพื้นที่ว่างที่ไม่ได้ล้อมรั้ว ดังนั้นการแก้ปัญหาขยะในที่ดินว่างเปล่า ควรประสานเขตพื้นที่ติดต่อเจ้าของที่ดินเพื่อกั้นแนวเขต ป้องกันปัญหาข้อร้องเรียนจากประชาชน รวมถึงเขตต้องมีการวางแผนและจัดระบบการจัดเก็บขยะให้ดี มีการประชาสัมพันธ์ให้ชาวบ้านทราบ และดูแลบุคลากรที่มีอยู่ให้เหมาะสม การจัดสรรบุคลากรในพื้นที่เพื่อทำงาน ต้องเลือกผู้ที่พร้อม มีวิสัยทัศน์ ให้มีความเหมาะสมทั้งคนและงาน
นายพุทธิพัชร์ ธันยาธรรมนนท์ ส.ก.เขตยานนาวา กล่าวว่า ในฐานะประธานคณะกรรมการรักษาความสะอาดและสิ่งแวดล้อม เคยพูดกันมาหลายครั้งเรื่องการขึ้นค่าขยะในอาคารสูงหรือห้างร้าน ซึ่งกทม.ต้องมีระเบียบ ข้อบัญญัติที่เข้มข้นมากกว่านี้ ซึ่งการเก็บขยะปริมาณที่น้อยลงจะทำให้ฝ่ายรักษาฯของเขตสามารถลดจำนวนบุคลากรได้ แต่ในฐานะประชาชนพบว่าการไม่แยกขยะ มีเหตุผลจากความยุ่งยาก การแบ่งขยะเป็นหลายประเภทจึงต้องมีการสร้างความรู้ให้แก่ประชาชน และต้องมีการจูงใจให้ประชาชนเห็นความสำคัญ
ด้านนางสาวรัตติกาล แก้วเกิดมี ส.ก.เขตสายไหม ได้อภิปรายขอให้ฝ่ายบริหารกำชับเขตให้จัดเจ้าหน้าที่ดูแลปัญหาอย่างทั่วถึง และดูแลสวัสดิการค่าตอบแทนเพื่อเป็นขวัญกำลังใจให้เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน นายวิพุธ ศรีวะอุไร ส.ก.เขตบางรัก กล่าวว่า ปัญหาการชักลากขยะในซอยชุมชนซึ่งพบว่ายังขาดแคลนในหลายจุด ปัญหาการคัดแยกขยะเป็นปัญหาต้นทาง ปัญหาปลายทางคือเจ้าหน้าที่ขาดเครื่องมือ อุปกรณ์ในการปฏิบัติงาน จึงขอให้ฝ่ายบริหารจัดสรรให้เจ้าหน้าที่ให้ครบถ้วน นายกฤษฏ์ คงวุฒิปัญญา ส.ก.เขตภาษีเจริญ อภิปรายขอให้ฝ่ายบริหารจัดสรรถังขยะเพิ่มเติมและเหมาะสมกับจำนวนประชาชน และพิจารณาซ่อมแซมหรือซื้อเรือเก็บขยะเพิ่มเติม
นายวิรัช คงคาเขตร ส.ก.เขตบางกอกใหญ่ กล่าวว่า ปัญหาขยะเป็นเรื่องของวินัยที่ต้องสอนตั้งแต่เด็กให้รู้จักการแยกขยะ การประสานร่วมกับมูลนิธิต่าง ๆ อาทิ มูลนิธิตาวิเศษ จะสามารเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไขปัญหาขยะในอนาคตได้
นายจักกพันธุ์ ผิวงาม ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า เรื่องการคัดแยกขยะนี้ ฝ่ายบริหารเห็นด้วย โดยสำนักสิ่งแวดล้อมได้ตั้งคณะกรรมการเพื่อจัดทำร่างข้อบัญญัติการจัดเก็บและแยกขยะมูลฝอยตั้งแต่ต้นทาง ซึ่งเมื่อดำเนินการเรียบร้อยแล้วจะเสนอต่อสภากทม.เพื่อพิจารณาต่อไป อย่างไรก็ดีขณะนี้กทม.ได้ดำเนินการตามกฎกระทรวงที่ให้ราชการส่วนท้องถิ่นต้องมีแนวทางสร้างความรู้ให้แก่ประชานเกี่ยวกับการแยกขยะตั้งแต่ต้นทาง ปี 65 เป็นต้นมา โดยกทม.ได้จัดทำแผนปฏิบัติการส่งเสริมการลดและคัดแยกมูลฝอยตามประเภทแหล่งกำเนิดมูลฝอย (ZERO WASTE TO LANDFILL) ระหว่างปี 2566-2569 แบ่งประเภทตามแหล่งกำเนิดเป็น 22 กลุ่มเป้าหมาย ตั้งเป้าให้กลุ่มเป้าหมาย 36,000 แห่ง สามารถแยกขยะด้วยตัวเองได้
นอกจากนี้ หลังจากที่สภากทม.เห็นชอบขยายเวลาบังคับใช้ข้อบัญญัติค่าธรรมเนียมการจัดเก็บขยะออกไปเป็น ต.ค. 66 กทม.ได้เตรียมร่างข้อบัญญัติใหม่โดยกำหนดให้บ้านที่มีการแยกขยะจะเสียค่าธรรมเนียมน้อยลง แต่หากมีขยะมากจะต้องจ่ายค่าธรรมเนียมในอัตราก้าวหน้า ซึ่งจะเป็นการกระตุ้นให้ประชาชนได้มีการแยกขยะได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น