“จากการลงพื้นที่ถนนอุดมสุขระยะทางกว่า 3.2 กม. พบว่ามีสิ่งกีดขวาง และมีปัญหาทั้งหมด 428 จุด ได้แก่ เสาไฟขวางทางเท้า ทางเท้าชำรุด ทางลาดระหว่างซอย แนวต้นไม้ สะพานลอย วินมอเตอร์ไซต์ ถึงเวลาแล้วที่กทม.ต้องคิดถึงคนเดินทางเท้าให้มาก โดยในระยะสั้นที่ต้องแก้ไขคือทำทางข้ามทางม้าลาย และติดตั้งสัญญาณไฟข้ามถนน ระยะกลางคือทุบสะพานลอย ปรับพื้นผิว ทำทางคนพิการ โดยทำประชาพิจารณ์ร่วมกับประชาชนในพื้นที่ สำหรับในระยะยาวควรดำเนินการเอาสายไฟฟ้าลงดินเพื่อให้กรุงเทพฯเป็นเมืองที่น่าอยู่และสวยงาม” นายฉัตรชัย หมอดี ส.ก.เขตบางนา ได้เสนอญัตติ เรื่อง ขอให้กรุงเทพมหานครสำรวจและปรับปรุงทางเท้าให้มีคุณภาพดีเท่ากันทั่วเมือง ต่อที่ประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมสามัญ สมัยแรก (ครั้งที่ 2) ประจำปีพุทธศักราช 2566 วันนี้ (11 ม.ค.66)
ส.ก.เขตบางนา กล่าวว่า เนื่องจากทางเท้าหลายพื้นที่เกิดปัญหาชำรุด พื้นทางเท้าไม่เรียบเสมอกัน มีสิ่งกีดขวางบนทางเท้าจำนวนมาก การเดินข้ามซอยไม่มีทางม้าลายหรือสัญญาณจราจรให้รถหยุด และไม่ได้ออกแบบให้ถูกต้องตาม หลักการออกแบบเพื่อคนทั้งมวล (Universal Design) ส่งผลให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนในการใช้งาน ไม่สามารถเดินเท้าได้อย่างปลอดภัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มคนพิการและผู้สูงอายุที่ใช้เก้าอี้รถเข็นมีอุปสรรค ในการใช้ทางเท้าเป็นอย่างมาก ในบางครั้งต้องลงไปใช้พื้นที่ถนนในการเดินทางเนื่องจากทางเท้าบริเวณที่พักอาศัยไม่เอื้ออำนวย ซึ่งเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุและการเฉี่ยวชนจากยานพาหนะบนท้องถนน ในขณะที่ทางเท้าบริเวณย่านศูนย์กลางธุรกิจ ห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ โรงแรมหรูหรา สถานที่ท่องเที่ยว กลับมีทางเท้าที่ดีและปลอดภัยต่อการเดิน ดังนั้น เพื่อเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในกรุงเทพมหานครให้ดีขึ้นและสร้างเมืองที่คนมีความเท่าเทียมกัน จึงขอให้กรุงเทพมหานครสำรวจและปรับปรุงทางเท้าให้มีคุณภาพดีเท่ากันทั่วเมือง
นางสาวมธุรส เบนท์ ส.ก.เขตสะพานสูง กล่าวว่า ยังมีถนนอีกหลายจุดที่ทางเท้าต้องมีการปรับปรุง รวมถึงถนนเส้นหลักที่ไม่มีทางเท้า บางจุดมีทางเท้าแต่มีต้นไม้บนทางเท้าหรือท่อระบายน้ำ จึงขอให้ฝ่ายบริหารคำนึงปัญหารากของต้นไม้ซึ่งเมื่อเติบโตขึ้นจะทำให้ทางเท้าหรือฟุตบาทเสียหายได้ นอกจากนี้การทำสัญญากับผู้ว่าจ้าง มีการทิ้งงานกลางคัน ทำให้การก่อสร้างไม่แล้วเสร็จ ก็เป็นปัญหาเร่งด่วนที่ต้องแก้ไขเป็นการเร่งด่วน ด้านนางสาวรัตติกาล แก้วเกิดมี ส.ก.เขตสายไหม ได้แสดงความเห็นด้วยกับการคำนึงถึงความสำคัญของการเลือกพันธุ์ไม้มาปลูกบริเวณฟุตบาท
จากนั้น ส.ก.ได้ร่วมกันอภิปรายปัญหาของพื้นที่ จุดที่ต้องได้รับงบประมาณในการปรับปรุงทางเท้า และการทำทางลาด ประกอบด้วย นายวิพุธ ศรีวะอุไร ส.ก.เขตบางรัก นายพุทธิพัชร์ ธันยาธรรมนนท์ ส.ก.เขตยานนาวา และนายสมชาย เต็มไพบูลย์กุล ส.ก.เขตคลองสาน
ในส่วนของ นายสัณห์สิทธิ์ เนาถาวร ส.ก.เขตวัฒนา ขอให้ความสำคัญกับถนนทองหล่อซึ่งมีนักท่องเที่ยวเดินทางสัญจรผ่านไปมาจำนวนมาก และขอให้ปรับปรุงถนนทองหล่อเพื่อให้เป็นต้นแบบของ Universal Design นายพีรพล กนกวลัย ส.ก.เขตพญาไท ขอให้ออกแบบมาตรฐานทางเท้าทุกพื้นที่ให้เหมือนกันให้หมดและเร่งรัดให้หน่วยงานดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน สามารถใช้ทางเดินเท้าได้อย่างปลอดภัย
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวต่อที่ประชุมสภากทม. ว่าหัวใจสำคัญของการพัฒนากรุงเทพมหานคร คือ กรุงเทพฯเดินได้ เดินดี ซึ่งมีทั้งมิติในแง่การสร้างเศรษฐกิจชุมชน คือจุดไหนเดินได้ เศรษฐกิจปลายทางก็จะดีขึ้น มิติเรื่องของสิ่งแวดล้อม เมื่อคนเดินได้ก็จะลดการใช้รถใช้ถนน ยืนยันว่าจะรับถนนทุกสายที่ส.ก.เสนอมาดู และการทำทางเท้าให้ดีซึ่งเป็นนโยบายเชิงรุก รวมทั้งดูเรื่องไฟฟ้าส่องสว่างให้ดีขึ้นด้วย เพื่อให้กทม.มีทางเท้าที่ดี มีแสงสว่างเพียงพอ เป็นเมืองที่สามารถเดินได้ เดินดี
รศ.ดร.วิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวเพิ่มเติมว่า กรณีการปรับปรุงทางเท้าบริเวณถนนรามคำแหง เขตสะพานสูงนั้น ได้รับการจัดสรรงบประมาณปี 66 แล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างการประกวดราคา ส่วนโครงการปรับปรุงทางเท้าและผิวทางถนนอุดมสุขอยู่ระหว่างการร่างการของบประมาณเพิ่มเติมปี 66 ทั้งนี้ข้อเสนอแนะของส.ก.ที่ขอให้ทบทวนการสร้างสะพานลอยคนเดินข้ามถนนสี่เลนก็เห็นด้วยและอยู่ระหว่างการดำเนินการ รวมถึงการให้ความสำคัญกับคนเดินเท้าโดยได้ทบทวนการทำเกาะกลางและทำทางเดินข้ามที่ปลอดภัยในพื้นราบ ขณะเดียวกันในเรื่องของการปรับปรุงทางเท้าทางตามแบบ Universal Design ในปลายปีที่ผ่านมากทม.ได้ปรับปรุงทางลาดคนพิการให้สะดวกต่อการใช้งานมากขึ้น โดยลดระดับทางเท้าบริเวณถนนทางเข้า-ออก ซอยสาธารณะ การขออนุญาตรูปแบบการตัดทางเท้าเชื่อมทางเข้าสู่อาคารกำหนดให้ต้องเรียบเสมอทางเท้า ซึ่งในขณะนี้มีแบบมาตรฐานแล้วและจะกำชับให้สำนักงานเขตกำกับดูแลให้มากขึ้น
—————–