(11 ม.ค.65) นายวิรัตน์ มีนชัยนันท์ ประธานสภากรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมสามัญ สมัยแรก (ครั้งที่ 2) ประจำปีพุทธศักราช 2566 โดยมี สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร คณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม ณ ห้องประชุมสภากรุงเทพมหานคร อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ดินแดง
โดยในที่ประชุมได้รายงานผลการดำเนินงานของกรุงเทพมหานครตามญัตติที่ส.ก.ได้เสนอไว้ ให้ที่ประชุมรับทราบ 3 เรื่อง ประกอบด้วย
1.รายงานผลการดำเนินงานตามญัตติของนายกฤษฏ์ คงวุฒิปัญญา ส.ก.เขตภาษีเจริญ เรื่อง ขอให้กรุงเทพมหานครพิจารณาดำเนินการแก้ไขปัญหาด้านทรัพยากรบุคคลของกรุงเทพมหานครให้เกิดประสิทธิภาพ
2.รายงานผลการดำเนินงานตามญัตติของนางสาวศศิธร ประสิทธิ์พรอุดม ส.ก.เขตพระนคร เรื่อง ขอให้กรุงเทพมหานครแก้ไขปัญหาคนเร่ร่อนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร
3.รายงานผลการดำเนินงานตามญัตติของนางกนกนุช กลิ่นสังข์ ส.ก.เขตดอนเมือง เรื่อง ขอให้กรุงเทพมหานครเตรียมแผนรองรับประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการยกเลิกสัญญาบริการสาธารณสุขโรงพยาบาลเอกชนในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
* ขยายเวลาพิจารณาร่างข้อบัญญัติเงินนอกงบประมาณของกทม.
นายสุทธิชัย วีรกุลสุนทร ส.ก.เขตจอมทอง ในฐานะประธานคณะกรรมวิสามัญพิจารณาร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง เงินนอกงบประมาณพ.ศ. … ก่อนรับหลักการ ได้เสนอขอเลื่อนระยะเวลาการพิจารณาของคณะกรรมการฯ เนื่องจากคณะกรรมการฯได้มีการเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมให้ข้อมูล และมีเอกสารที่ต้องใช้พิจารณาเป็นจำนวนมาก จึงขอขยายเวลาพิจารณาออกไปจนถึงวันที่ 16 ก.พ.66
* ส.ก.ร่วมอภิปราย เสนอกทม.ตั้งที่ทำการเขตให้ครบ อำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนผู้มาใช้บริการ
ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้เสนอญัตติขอความเห็นชอบเพิ่มวงเงินงบประมาณ ก่อนดำเนินการก่อหนี้ผูกพันโครงการเช่าที่ดินเพื่อเป็นที่ทำการสำนักงานเขตคลองเตย
ตามที่ สำนักงานเขตคลองเตยได้รับงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ.2566 งานอำนวยการและบริหารสำนักงานเขต งบดำเนินงาน รายการผูกพัน โครงการเช่าที่ดินเพื่อเป็นที่ทำการสำนักงานเขตคลองเตย ระยะเวลาดำเนินการ 3 ปี (2566-2568 ) วงเงินงบประมาณทั้งโครงการ 1,728,000 บาท (ตารางวาละ 15 บาทต่อเดือน เป็นเงินเดือนละ 48,000 บาท คิดเป็นปีละ 576,000 บาท) ซึ่งการท่าเรือแห่งประเทศไทย มีหนังสือแจ้งหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการต่อสัญญาเช่าที่ดินของการท่าเรือฯ โดยคิดอัตราค่าเช่าปีที่ 1 นับตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2566 อัตราค่าเช่า ตารางวาละ 15 บาทต่อเดือน เป็นเงินเดือนละ 48,000 บาท คิดเป็นปีละ 576,000 บาท ปีที่ 2-3 นับตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2566 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2568 อัตรา ค่าเช่าตารางวาละ 16.50 บาทต่อเดือน เป็นเงินเดือนละ 52,800 บาท คิดเป็นปีละ 633,600 บาท รวมค่าเช่า 3 ปี คิดเป็นเงิน 1,843,200 บาท อัตราค่าเช่าที่เพิ่มขึ้นมีผลทำให้วงเงินโครงการเพิ่มขึ้น จากเดิม 1,728,000 บาท เป็น 1,843,200 บาท สูงกว่าวงเงินงบประมาณที่ได้รับตามข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี เป็นเงิน 115,200 บาท ตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2563 กำหนดให้ต้องเสนอขอความเห็นชอบจากสภากรุงเทพมหานคร จึงได้นำเรื่องดังกล่าวเข้าสู่วาระการพิจารณาของสภากทม.ในครั้งนี้
จากนั้น ส. ก.ได้ร่วมอภิปรายเกี่ยวกับปัญหาอุปสรรคและความเดือดร้อนจากปัญหาที่ทำการเขตในพื้นที่ต่าง ๆ ประกอบด้วย
นายสุทธิชัย วีรกุลสุนทร ส.ก.เขตจอมทอง กล่าวว่า นอกจากเขตคลองเตยแล้วยังมีอีกหลายเขตที่ควรมีที่ทำการของตนเอง เช่น เขตธนบุรีซึ่งมีสถานที่คับแคบและต้องเช่าที่ดินเพื่อเป็นที่ทำการ เขตวัฒนาขาดที่จอดรถ ประชาชนที่มารับบริการไม่ได้รับความสะดวก เขตบางรักไม่มีความคืบหน้าการหาสถานที่ตั้งสำนักงานเขต เขตบางนามีที่ดินแต่ยังไม่มีการก่อสร้างอาคารที่เหมาะสม
“นอกจากอาคารที่ทำการแล้วควรจัดหาสถานที่จอดรถให้พร้อมด้วย เพื่อแสดงให้เห็นความใส่ใจของผู้บริหารในการแก้ไขปัญหา รวถึงการทำงานบางอย่างจำเป็นต้องลดขั้นตอนการทำงาน เพื่อให้หน่วยงานสามารถใช้งบประมาณได้ทันปีงบประมาณ ไม่ให้ผลสัมฤทธิ์ของงานล่าช้า” ส.ก.สุทธิชัย กล่าว
นายวิพุธ ศรีวะอุไร ส.ก.บางรัก กล่าวว่า สำนักงานเขตคือหัวใจในการทำงานและให้บริการประชาชน เขตบางรักเป็นเขตที่มีการจ่ายภาษีอันดับต้น ๆ ของกทม. แต่อาคารสำนักงานเขตมีการก่อสร้างมานานกว่า 40 ปี พื้นที่มีเพียง 2 ไร่ และมีที่จอดรถรองรับเพียง 10 คัน ในช่วงเวลาเร่งด่วน ประชาชนจะไม่มีที่จอดทำให้ต้องไปจอดริมถนน ส่งผลให้เกิดการจราจรติดขัดและส่งผลกับประชาชนที่สัญจรผ่านไปมาด้วย
“จากที่อาคารเก่ามากทำให้เกิดเหตุไฟฟ้าลัดวงจร และไฟดับหลายครั้ง แต่ยังไม่ถึงขั้นเกิดความเสียหายในทรัพย์สินและชีวิตของประชาชน ซึ่งเชื่อว่ากทม.จะดำเนินงานโดยคำนึงถึงคุณภาพชีวิตของประชาชนเป็นสำคัญ และการลงทุนเกี่ยวกับการก่อสร้างจะเป็นประโยชน์ไปอีกหลายสิบปี” ส.ก.วิพุธ กล่าว
นายจิรเสกข์ วัฒนมงคล ส.ก.เขตธนบุรี กล่าวว่า ปัจจุบันที่ทำการเขตธนบุรีต้องอาศัยที่ของวัด ประชาชนที่มาติดต่อต้องเสียค่าที่จอดรถ จึงขอเสนอแนวทางแก้ไข ดังนี้ ใช้สถานที่ของสำนักเทศกิจและให้ย้ายสำนักเทศกิจมารวมกับหน่วยงานราชการที่กทม.2 ดินแดง แนวทางที่ 2 คือ ขอใช้พื้นที่องค์กรสินค้า กระทรวงพาณิชย์ โดยอาจทำเรื่องขอใช้ 30 ปี หรือใช้แนวทางที่ 3 คือการซื้อที่ดินเอกชนเพื่อทำเป็นอาคารสำนักงานเขต นอกจากนี้ขอให้กทม.พิจารณาเพิ่มอัตรากำลังของเจ้าหน้าที่ฝ่ายโยธาด้วย เพื่อให้สามารถทำหน้าที่แก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนได้อย่างเต็มที่
นายสัณห์สิทธิ์ เนาถาวร ส.ก.เขตวัฒนา กล่าวว่า ที่ทำการสำนักงานเขตวัฒนาต้องเช่าพื้นที่ของเอกชนมานานกว่า 10 ปี เสียค่าเช่ากว่าล้านบาท รวมถึงผู้มาติดต่อราชการต้องเสียค่าจอดรถและไม่ได้รับความสะดวก เคยเสนอพื้นที่รร.วัดแจ่มจันทร์ซึ่งผู้ปกครองก็กังวลใจว่ารร.จะต้องปิด ส่วนพื้นที่บริเวณวัดธาตุทองก็มีความเหมาะสมแต่ติดเรื่องกรรมสิทธิ์ นอกจากนี้ยังมีพื้นที่จองกองสลาก ถนนเอกมัย ซึ่งหากพูดคุยกองสลากได้ น่าจะเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุด
ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าวว่า ฝ่ายบริหารจะรับข้อเสนอทุกข้อไปดำเนินการ ทั้งนี้ ที่ทำการเขตเป็นส่วนสำคัญในการให้บริการประชาชน ซึ่งที่ทำการของเขตวัฒนาก็พบว่าคับแคบและมีปัญหา ผู้บริหารจะรับแนวคิดของส.ก.ไปพิจารณาเพื่อแก้ไขปัญหาต่อไป
จากนั้นที่ประชุมได้ลงมติเห็นชอบเพิ่มวงเงินงบประมาณก่อนดำเนินการก่อหนี้ผูกพันโครงการเช่าที่ดินเพื่อเป็นที่ทำการสำนักงานเขตคลองเตยตามที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เสนอ