
วันพุธที่ 30 เมษายน 2568 การประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมสามัญ สมัยที่สอง (ครั้งที่ 4) ประจำปี พ.ศ. 2568 ณ ห้องประชุมสภากรุงเทพมหานคร อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร 2 ดินแดง นายนภาพล จีระกุล ส.ก. เขตบางกอกน้อย ยื่นกระทู้ถามสด เรื่อง การดำเนินการชำระหนี้ค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุง (O&M) ของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายที่ 1 และ 2 ในส่วนที่ค้างชำระ รายงานการศึกษาปัญหาโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวพิจารณาเสร็จตั้งแต่เดือนมีนาคม มีการรายงานผลให้สภา กทม. ทราบเมื่อวันที่ 9 เมษายน แต่ไม่ทราบว่านายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ทราบหรือไม่
.
นายนภาพล กล่าวว่า หนี้ค่าเดินรถและซ่อมบำรุงของส่วนต่อขยายที่ 1 และ 2 ถึงกำหนดชำระมานานแล้ว และต้องเสียดอกเบี้ยวันละ 5,400,000 บาท ขณะนี้มี 3 ส่วนที่ต้องชำระ คือ ส่วนแรกบีทีเอสฟ้องศาลอยู่ขณะนี้ ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2564 – ตุลาคม 2565 รวม 12,245 ล้านบาท และช่วงหลังฟ้องที่ถึงกำหนดชำระแล้ว แต่ กทม. ยังไม่ได้ชำระ ตั้งแต่พฤศจิกายน 2565 – ธันวาคม 2566 เงินต้นรวมดอกเบี้ย กว่า 15,499 ล้านบาท นายนภาพลถามว่าตอนนี้ ผู้ว่าฯ ได้ดำเนินการไปถึงไหน อย่างไรแล้ว
.
“แต่ละวันนับจากที่คณะกรรมการวิสามัญศึกษาปัญหารถไฟฟ้ารายงานผล จนถึงวันนี้ เข้าสู่สัปดาห์ที่ 3 แล้ว รวม 21 วัน มีหนี้ที่ต้องจ่ายวันละ 5.4 ล้านบาท รวมดอกเบี้ยตอนนี้เดินหน้าไปอีก 113.4 ล้านบาท และจากวันนี้ผ่านไปอีกวันละ 5 ล้านบาทไปเรื่อยๆ ท่านจะทำอย่างไร”
.
นายชัชชาติ ยอมรับเป็นเรื่องหนักใจเพราะเป็นเงินจำนวนมาก ที่ผ่านมา กทม. จ่ายให้บีทีเอสแล้วประมาณ 31,700 ล้านบาท และมีประเด็นที่เกี่ยวข้องหลายเรื่อง เช่น ป.ป.ช. และสัญญาส่วนที่ 2 ที่สภา กทม. ยังไม่ได้พิจารณาเนื่องจากมีความละเอียดอ่อน ส่วนรายงานของคณะกรรมการวิสามัญฯ นั้นรับทราบแล้ว
.
อย่างไรก็ตาม กทม. คุยกันตลอด แต่การจะเอาเงินของประชาชนไปจ่าย สภากทม. ก็ต้องรับผิดชอบร่วมกัน หากไม่รอบคอบ ไม่มีรายละเอียดชัดเจน เชื่อว่าเสนอเข้าสภากทม.พิจารณาก็ไม่มีทางอนุมัติให้ และเรื่องนี้ไม่ใช่เกิดในสมัยเราเป็นคนเริ่มต้น ไม่ใช่จบแค่นี้ หากไม่รอบคอบในอนาคตอีก 10 ปี เรื่องนี้อาจจะกลับมาหาทุกคนได้
.
ด้าน นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ชี้แจงว่า ฝ่ายบริหารมีการเจรจาต่อรองขอลดเงินต้นและดอกเบี้ย และเร่งรัดการชำระหนี้ตามกฎหมาย โดยชำระหนี้บางส่วนไปแล้ว 37,000 ล้านบาท ตามคำสั่งศาลในคดีที่ 1 ส่วนที่ยังไม่ได้จ่ายในคดีที่ 2 ประมาณ 12,000 ล้านบาท และค่าจ้างเดินรถที่ยังไม่ได้ฟ้อง 17,000 ล้านบาท และในปี 2568 อีกประมาณ 8,700 ล้านบาท ส่วนเรื่องที่ค้างในคดีที่ 6 เป็นค่าเดินรถและซ่อมบำรุงปี 2568 อยู่ระหว่างการเจรจา เนื่องจากติดที่สัญญายังไม่ผ่านสภา จึงต้องต่อรองร่วมกันก่อนที่จะนำกลับมาสู่สภากทม. พิจารณาอีกครั้ง
.
ทั้งนี้ กทม. ได้ตั้งกรรมการเจรจากับบีทีเอสไป 3 ครั้ง ขอปรับลดเงินต้น จากกรณีที่มีคอขวดบริเวณสะพานตากสิน และขอปรับลดดอกเบี้ย ซึ่งบีทีเอสยังไม่ได้ตอบ แต่ได้ส่งหนังสือตามไปอีกครั้ง และยังมีการเจรจาเพิ่มในประเด็นค่าจ้างเดินรถปี 2568 ในอนาคตหลังจากหมดสัมปทานปี 2572 ที่จะมีการซื้อรถใหม่ที่จะนำมาหารเป็นค่าใช้จ่ายในปัจจุบัน เพื่อให้กำหนดไว้ในสัญญาเดินรถครั้งใหม่
.
นอกจากนี้ยังมีหนังสือถามไปยัง ป.ป.ช. ว่าสามารถจ่ายค่าจ้างเดินรถในคดีที่ 2 ได้หรือไม่ แต่ยังไม่ได้รับคำตอบกลับมา จะมีการถามไปอีกครั้งในเร็วๆ นี้ รวมถึงถามสำนักงานอัยการสูงสุดไป 2 กรณี คือ การชำระค่าจ้างระหว่างคดีที่ 2 ที่ยังไม่มีคำพิพากษามา และกรณีหลังการฟ้องจนถึงปัจจุบันจ่ายได้หรือไม่ โดยได้รับคำตอบมาเมื่อวาน (29 เมษายน 2568) ว่ากรณีที่ 1 ไม่อาจให้ความเห็นได้เนื่องจากอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครอง ส่วนกรณีที่ 2 ให้ กทม. พิจารณาตามอำนาจหน้าที่
.
นายนภาพล ถามต่อว่า ที่ชี้แจงว่ามีการตั้งกรรมการต่อรองกับบีทีเอสนั้นไม่ใช่เป็นการต่อรอง เพราะการก่อสร้างช่วงคอขวดที่มีการทำรางเดียว แต่ในสัญญาระบุ 2 ราง และคิดเงินไปแล้ว จึงถือเป็นการต่อรองเรื่องเงินต้นที่ค้างชำระ ถามว่ามีการลดเงินต้นและดอกเบี้ยหรือไม่
.
นายวิศณุ ชี้แจงว่า ขณะนี้ยังไม่มีการลดอะไรเลย เราจึงต้องอ่านสัญญาให้ละเอียด เช่น กรณีช่วงสะพานตากสินที่มีการดูจำนวนเที่ยวที่วิ่งผ่าน เดิมมีการลดค่าไฟ 6 ล้านบาท ซึ่งตามสัญญาปี 2564 ระบุจำนวนเที่ยวควรจะมากกว่านี้ แต่ทำไม่ได้ตามนั้น จึงต้องนำส่วนนี้มาคิดด้วย ควรลดราคาได้เพิ่มขึ้น ส่วนเรื่องขอความเห็นใจให้ลดเงินต้น และดอกเบี้ย เป็นเรื่องที่เขาจะพิจารณาเอง และตอนนี้ยังไม่ได้รับคำตอบ
.
นายนภาพล ถามคำถามที่สองว่า กรณีการทำหนังสือถามไปที่กฤษฏีกา ไม่ทราบว่าเกี่ยวข้องอย่างไร หากอัยการตอบกลับมาแนวทางเดิม จะทำอย่างไร จะรอจนกว่าศาลปกครองจะพิพากษาใช่หรือไม่ ซึ่งต้องใช้เวลาประมาณ 2 ปี ส่วนของดอกเบี้ยจะทำอย่างไร
.
นายชัชชาติ ชี้แจงว่า ตนถามเพื่อความรอบคอบ เพราะสุดท้ายแล้วการตัดสินใจไม่ใช่เฉพาะผู้บริหาร แต่ต้องร่วมกับฝ่ายนิติบัญญัติของกทม.ด้วย ที่ยื่นถามกฤษฏีกาเพราะมีข้อขัดแย้งเรื่องสัญญาส่วนที่ 2 ยังไม่ได้ผ่านสภา กทม. ถือเป็นข้อขัดแย้งทางกฎหมายหรือไม่ ก็ได้รับคำตอบให้ไปถามมหาดไทย
.
“ยืนยันว่าเป็นความพยายามทำทุกอย่างให้รอบคอบที่สุด ทราบว่าดอกเบี้ยมันเดินตลอด แต่การทำก็ต้องรอบคอบด้วย เพราะหากจ่ายผิดพลาดไป ไม่สามารถอ้างได้ว่าเพราะดอกเบี้ยมันเดินวันละ 5 ล้าน เราถึงต้องตัดสินใจแบบนี้”
อย่างไรก็ตามทางอัยการเพิ่งได้ตอบกลับมาเมื่อเย็นวานนี้ (29 เมษายน 2568) ต้องกลับไปดู ต้องไปพูดคุยว่ามองอย่างไร เพราะเท่าที่ทราบทั้งคณะศาลปกครอง และอัยการเป็นชุดใหม่ อาจจะมีการมองต่างกัน
.
นายนภาพล กล่าวว่า นอกจากนี้ยังมีหนี้ในอนาคต นั่นคือ หนี้ค่าจ้างเดินรถตามสัญญาระบุว่า จะชำระเงินทุกวันที่ 20 ของเดือน แต่พบว่า มกราคม – มีนาคม 2568 ยังไม่มีการชำระเลย โดยบอกว่าตอนนี้อยู่ที่ฝ่ายบริหารจะเซ็นหรือไม่ ถามว่าช่วง 2 เดือนจะมีการคิดดอกเบี้ยหรือไม่ เพราะทราบว่าจะมีการมาขอเงินกับ กทม. แล้วจะมีการชำระเมื่อไหร่ เพราะตนเกรงว่าจะเป็นการอ้างว่าเป็นสัญญาเดียวกับที่ฟ้องอยู่ในศาลหรือต้องรอถามอัยการก่อนว่าชำระได้หรือไม่
.
นายวิศณุ ชี้แจงว่า ได้ขอทำเรื่องเพื่อขอตั้งงบประมาณรายจ่ายไปแล้ว ขณะนี้เรื่องอยู่ที่สำนักการคลัง และอีกไม่นานคงจะมีการเอาส่วน 1 และส่วน 2 มาจ่าย นายนภาพล ถามต่อว่า สรุปแล้วตอนนี้การจ่ายเงินยังไม่มีข้อมูลหรือสรุปได้ว่าจะจ่ายเมื่อไหร่ อย่างไรเพราะอัยการคงไม่ฟันธงว่าจ่ายได้หรือไม่ ความเสียหายที่เกิดขึ้นตอนนี้มันค่อนข้างจะเยอะ
“ ผมถามว่ากล้าจ่ายหรือไม่ จริงๆผมเห็นด้วยกับการจ่ายเพราะเราไม่ต้องแบกภาระ อย่างผมบอกว่าดอกเบี้ยมันเดินทุกวัน แต่ท่านต้องตัดสินใจอะไรสักอย่างบนพื้นฐานที่ทำให้ กทม. เสียประโยชน์ หรือเสียหายให้น้อยที่สุด ”นายนภาพลกล่าว