“เอกกวิน” ทวงความคืบหน้าห้องเรียนปลอดฝุ่น ฝากฝ่ายบริหารเฝ้าติดตาม

วันพุธที่ 30 เมษายน 2568 การประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมสามัญ สมัยที่สอง (ครั้งที่ 4) ประจำปี พ.ศ. 2568 ณ ห้องประชุมสภากรุงเทพมหานคร อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานนคร 2 ดินแดง นายเอกกวิน โชคประสพรวย ส.ก. เขตราชเทวี ตั้งกระทู้ถามสดผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เรื่อง ความคืบหน้าการดำเนินการห้องเรียนปลอดฝุ่นของศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียนกรุงเทพมหานคร ว่า หลังจากที่ตนได้แถลงเรื่องห้องปลอดฝุ่นสามารถใช้งบสำนักงานประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ต่อมาวันที่ 6 มีนาคม 2568 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ประชุมเพื่อให้กรุงเทพมหานครและสำนักงานเขตต่างๆ เร่งจัดทำโครงการใช้งบประมาณของหลักประกันสุขภาพเพื่อทำห้องปลอดฝุ่น จนถึงวันนี้เป็นระยะเวลาเดือนกว่าเกือบสองเดือน ตนจึงสอบถามฝ่ายบริหารถึงความคืบหน้าในการจัดตั้งโครงการห้องปลอดฝุ่นของสำนักงานเขต 50 เขต รวมแล้วศูนย์เด็ก 264 ศูนย์ มีเขตไหนบ้างแล้วที่ตั้งงบ สปสช. ซื้อเครื่องกรองอากาศและเครื่องปรับอากาศ
.
ด้านนายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า การทำห้องปลอดฝุ่นก็เป็นนโยบายที่พยายามทำอยู่ แบ่งออกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรก คือ โรงเรียนในสังกัดอยู่ภายใต้อำนาจที่ กทม. ดูแล ได้ผ่านงบประมาณปี 2568 เรียบร้อยแล้ว และอยู่ในขั้นตอนของการก่อสร้าง ส่วนที่นายเอกกวินสอบถามนั้น เป็นศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียนซึ่งอยู่ภายใต้ของการกระจายอำนาจให้ชุมชนที่ดูแล โดยทาง กทม. จัดทำงบประมาณมาตลอด ทั้งหมดมี 264 ศูนย์ 867 ห้อง จะมีการดำเนินการห้องปลอดฝุ่น 3 รูปแบบ
รูปแบบที่หนึ่ง ห้องระบบปิดไม่มีเครื่องปรับอากาศและเครื่องกรองอากาศทั้งหมด 536 ห้อง
รูปแบบที่สอง ห้องปิดมีเครื่องฟอกอากาศทั้งหมด 374 ห้อง
รูปแบบที่สาม ห้องปิดมีเครื่องปรับอากาศ 303 ห้อง
ตอนนี้พยายามหาทางออกให้กับชุมชน เพราะไม่สามารถตั้งงบของราชการได้ จึงมีการหารือกับทาง สปสช. และปลดล็อกเรื่องงบประมาณทางกองทุนฯ โดยเมื่อก่อนศูนย์พัฒนาเด็กเล็กจะของบประมาณในนามกลุ่มประชาชนซึ่งจะมีข้อจำกัดการจัดซื้อครุภัณฑ์ในวงเงินไม่เกิน 20,000 บาท แต่ปัจจุบันทางศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียน มีอำนาจในการขอวงเงินได้มากกว่า 20,000 บาท โดยมีการแก้หลักเกณฑ์ตั้งแต่ช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์จนถึงต้นมีนาคม ที่ศูนย์ฯ สามารถของบประมาณได้ หลังจากนั้นยังมีการประชุมแนวดิ่งขอให้ทางศูนย์เด็กเล็กทำความเข้าใจเรื่องการของบประมาณ ซึ่งทางกทม. ได้ทำตัวอย่างโครงการให้กับทางศูนย์เด็กเล็กเป็นผู้ขอเองเพราะฉะนั้นครุภัณฑ์ทั้งหมดจะไม่ตกเป็นของเขต แต่เป็นของศูนย์เด็กเล็กเอง ปัจจุบันมีความคืบหน้าทั้งหมด 150 ศูนย์ ที่ประสงค์จะของบประมาณ และตอนนี้ดำเนินการแล้วจำนวน 97 ศูนย์ ได้ไปแล้วหนึ่งศูนย์ก็คือศูนย์เด็กพัฒนาสมหวัง เขตบึงกุ่ม อยู่ในขั้นตอนจัดหา
.
นายเอกกวิน กล่าวทิ้งท้ายว่า อยากให้ฝ่ายบริหารเฝ้าติดตามโดยเฉพาะรองผู้ว่าฯ ที่กำกับดูแลเรื่องนี้ เพราะมีบางเขต ก็ยังไม่ได้ขยับ หลังจากที่มีการประชุมแนวดิ่งไป และงบประมาณ สปสช. ก็ต้องรอในระยะเวลาหลายเดือน จึงอยากให้ฝ่ายบริหารติดตามและขอบคุณฝ่ายบริหารที่ได้ปรับค่าเงินเดือนอาสาผู้ดูแลเด็กเพิ่มขึ้น

แชร์ข่าว:
กรุงเทพฯ มีอะไร อัพเดทข่าวสารฉับไว กิจกรรมที่น่าสนใจ และมีส่วนร่วมได้ รวมไว้ให้ที่นี่

©2022 สงวนลิขสิทธิ์ กรุงเทพมหานคร

สำนักงานประชาสัมพันธ์ สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร 173 ถนนดินสอ แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กทม. 10200