4 เม.ย. 68) นายพรพรหม วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และผู้บริหารด้านความยั่งยืนของกรุงเทพมหานคร เป็นประธานในพิธีเปิดกิจกรรมปลูกต้นไม้ “ที่สาธารณประโยชน์ลำบึงกลาง ซอยสุวินทวงศ์ 106” เขตหนองจอก เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวของกลุ่มเขตกรุงเทพตะวันออก ณ บริเวณที่สาธารณประโยชน์ลำบึงกลาง ซอยสุวินทวงศ์ 106 เขตหนองจอก
ที่ปรึกษาฯ พรพรหม กล่าวว่า ท่านชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พูดเสมอว่าการปลูกต้นไม้เป็นการลงทุนเล็กน้อยแต่ได้ประโยชน์มหาศาล อาทิ การให้ร่มเงา การดูดซับคาร์บอนได้ออกไซด์ หรือการเป็นกำแพงกรองฝุ่นให้กับเมือง สำหรับการปลูกต้นไม้เพิ่มอีกล้านต้นในกลุ่มเขตกรุงเทพตะวันออกซึ่งรวมถึงเขตหนองจอก เป็นการเดินหน้าต่อเนื่องจากโครงการปลูกต้นไม้ล้านต้นที่ปลูกไปแล้ว 1 ล้าน 5 แสนต้น เนื่องจากกลุ่มเขตกรุงเทพตะวันออกถือเป็นด่านหน้าในการเผชิญฝุ่น PM2.5 ที่พัดมาพร้อมลมจากฝั่งตะวันออกในช่วงหน้าฝุ่น ที่เริ่มจากเดือนธันวาคมมาถึงกุมภาพันธ์ ซึ่งลมจากฝุ่นที่เกิดจากการเผาชีวมวลเข้ามาในกรุงเทพฯ และต้องผ่านเขตหนองจอกก่อน ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของชาวหนองจอกและพื้นที่อื่น ๆ ในกรุงเทพฯ
“การที่มีต้นไม้เป็นกำแพงกรองฝุ่นถือเป็นด่านแรกที่จะช่วยปกป้องคนกรุงเทพฯ ทั้งหมด เพราะฝุ่น PM2.5 ถือเป็นปัญหาใหญ่ของเมือง โครงการปลูกต้นไม้ต่อเนื่องนี้ถือเป็นความช่วยเหลือจากกลุ่มเขตกรุงเทพตะวันออก รวมถึงการคิดวางแผนดูแลต้นไม้หลังการปลูกที่จะช่วยให้ต้นไม้ที่ปลูกได้เติบโตอยู่คู่กับกรุงเทพฯ ต่อไป” ที่ปรึกษาฯ พรพรหม กล่าว
สืบเนื่องจากผู้บริหารเขตกลุ่มเขตกรุงเทพตะวันออก ประกอบด้วย สำนักงานเขตประเวศ สำนักงานเขตบางกะปิ สำนักงานเขตสะพานสูง สำนักงานเขตบึงกุ่ม สำนักงานเขตคันนายาว สำนักงานเขตลาดกระบัง สำนักงานเขตคลองสามวา สำนักงานเขตมีนบุรี และสำนักงานเขตหนองจอก ได้ประชุมหารือและมีข้อตกลงร่วมกันในการที่จะดำเนินงานตามนโยบายของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ เรื่องการปลูกต้นไม้เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียว โดยในส่วนของกลุ่มกรุงเทพตะวันออกตั้งเป้าหมายที่จะดำเนินการให้ได้จำนวน 1 ล้านต้น เพื่อเดินหน้าไปสู่การปลูกต้นไม้ 2 ล้านต้นต่อไป โดยแต่ละเขตรับผิดชอบดำเนินการปลูกต้นไม้ให้ได้ตามเป้า คือ เขตหนองจอก 400,000 ต้น เขตคลองสามวา 300,000 ต้น เขตลาดกระบัง 300,000 ต้น เขตมีนบุรี 30,000 ต้น เขตคันนายาว บางกะปิ บึงกุ่ม ประเวศ และสะพานสูง เขตละ 10,000 ต้น รวมทั้งสิ้น 1,080,000 ต้น โดยเหตุผลที่สำนักงานเขตหนองจอกได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบในการปลูกต้นไม้มากที่สุดนั้น เนื่องจากเขตหนองจอกมีพื้นที่กว้างถึง 236.261 ตร.กม. ซึ่งจากการคิดคำนวณเห็นว่าสามารถดำเนินการตามเป้าหมายได้
สำหรับแนวทางการดำเนินงาน ได้หารือร่วมกับคณะขับเคลื่อนการมีส่วนร่วมเพื่อการพัฒนาเขตหนองจอก ประชาชนภาคีเครือข่าย ได้ข้อสรุปร่วมกันว่าพื้นที่การปลูกใดอยู่ใกล้แหล่งชุมชนให้ขอความร่วมมือชุมชนนั้นช่วยดูแล พื้นที่ปลูกที่อยู่ริมถนน ริมคลองให้ฝ่ายรักษาความสะอาดและสวนสาธารณะดูแล ส่วนพื้นที่ปลูกแห่งใดที่อยู่ไกลจากแหล่งชุมชนและอาจจะไม่สามารถเข้าไปดูแลได้อย่างต่อเนื่อง ให้ใช้นวัตกรรมไฮโดรเจลโดยการสนับสนุนของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานครในการปลูก ส่วนอีกวิธีการหนึ่ง คือ การแจกจ่ายกล้าพันธุ์ต้นไม้ให้กับประชาชนและภาคเอกชนในพื้นที่ร่วมปลูก
ในการนี้ ผู้บริหารเขตหนองจอก ผู้แทนคณะขับเคลื่อนการมีส่วนร่วมเพื่อการพัฒนาเขตหนองจอก คณะทำงานพัฒนาเขตเชิงพื้นที่ 5 ด้าน ภาคเครือข่ายและผู้เกี่ยวข้อง ร่วมงาน
#สิ่งแวดล้อมดี