ผู้ว่าฯ กทม. ยันไม่มีการหยุดช่วยเหลือ แต่ปรับแผนเพิ่มการรื้อถอนด้วยเครื่องจักรหนักควบคู่ไปมากขึ้น ทีมนานาชาติยืนยันเคสนี้ยากสุดเท่าที่เจอมาแต่จะเดินหน้าเต็มที่ต่อไป 

 

 

(2 เม.ย.68) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร แถลงความคืบหน้าปฏิบัติการค้นหาผู้สูญหาย จากเหตุการณ์อาคารสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) แห่งใหม่ที่กำลังก่อสร้างถล่ม เขตจตุจักร ซึ่งความคืบหน้าล่าสุด ยอดผู้ประสบภัย 96 ราย สูญหาย 72 ราย เสียชีวิต 15 ราย (ที่เกิดเหตุ 14 ราย/รพ.พญาไท 1 ราย) (เพศชาย 8 ราย, เพศหญิง 6 ราย, ไม่ทราบเพศ 1 ราย) รอดชีวิต 9 ราย ทำให้มียอดผู้สูญหายจากสถานการณ์แผ่นดินไหวในส่วนของกรุงเทพมหานคร 74 ราย บาดเจ็บ 35 ราย เสียชีวิต 22 ราย รอดชีวิต 9 ราย (ข้อมูล ณ วันที่ 2 เมษายน 2568 เวลา 15.00 น.)

 

ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าวว่า วันนี้ปฏิบัติการเข้าสู่วันที่ 5 แล้ว เมื่อคืนนี้ได้เริ่มใช้วิธีการยกชิ้นส่วนออกจนถึงช่วงเวลา 20.00 น. ยกออกไปประมาณ 10 ชิ้น น้ำหนักประมาณ 100 ตัน สามารถเปิดช่องว่างให้กู้ภัยเข้าไปดูด้านใน และทำการค้นหาทั้งคืนจนถึงเช้า โดยเมื่อคืนได้พบร่างผู้เสียชีวิตเพิ่มเติม 1 ราย และสามารถนำออกมาได้แล้ว แต่จากการค้นหามองเห็นอีกประมาณ 14 ร่างที่ยังติดค้างอยู่ตรงกลาง ซึ่งทั้งได้กลิ่นและมีกองเลือด แต่อุปสรรคคือสิ่งกีดขวางด้านในและเหล็กต่าง ๆ ทำให้ยังไม่สามารถนำร่างออกมาได้ ขณะนี้จึงเริ่มมีการปรับแผน นำเครื่องจักรหนักเข้ามาช่วย ซึ่งเป้าหมายคือพยายามจะไปถึงปล่องลิฟต์และทางหนีไฟให้ได้ นอกจากนี้ได้นำวิธีการมาร์คจุดว่า จุดใดพบร่างผู้เสียชีวิต เป็นใคร อยู่บริษัทอะไร เนื่องจากเชื่อได้ว่าบริเวณใกล้เคียงกันจะมีคนงานที่อยู่บริษัทเดียวกันติดค้างอยู่

 

การทำงานในช่วงขณะนี้จะเป็นการทำควบคู่กันไประหว่างการช่วยเหลือและการรื้อถอน ซึ่งจะค่อย ๆ ปรับไปตามหน้างานโดยจะเริ่มมีการรื้อถอนมากขึ้น แต่เมื่อเห็นว่าต้องเอาทีมช่วยเหลือเข้าทีมรื้อถอนก็จะหยุด เมื่อเห็นว่าช่วยเหลือต่อไม่ได้ทีมรื้อถอนต้องเข้าผลัดเปลี่ยนกัน ซึ่งวานนี้ ได้ใช้การช่วยเหลือสลับกับรื้อถอนที่โซน B และ C ด้านหลัง ส่วนวันนี้ เป็นโซน A C และ D และขอยืนยันยังทำเต็มที่ นอกจากนี้ เมื่อช่วงบ่ายได้รับแจ้งว่าเหตุการณ์ที่เมียนมาพบผู้รอดชีวิต ดังนั้น ในระยะเวลาหลังเกิดเท่ากัน ถ้าเมียนมาพบผู้รอดชีวิต ไทยก็ยังมีโอกาส แม้จะน้อยลงแต่ก็จะทำเต็มที่ในทุกมิติที่ทำได้ตามหลักสากล

 

ทั้งนี้ ทีมงานนานาชาติต่างบอกตรงกันว่าเคสตึกถล่มที่จตุจักรนี้ซับซ้อนที่สุดที่เคยเจอ เพราะเป็นอาคารสูงที่ถล่มลงมาทีเดียว มีผู้ติดค้างอยู่มากพอสมควร และจะไม่ย่อท้อเพื่อทำตามแผนต่อไป อาจไม่ถูกใจบางคนต้องขอโทษด้วย แต่ทั้งหมดคือการไตร่ตรองร่วมกันของทุกทีมแล้ว โดยมีต่างชาติเป็นผู้แนะนำ และมีทีมไทยเป็นผู้ตัดสินใจ ส่วนกรณีที่สังคมตั้งข้อสงสัยว่า ทำไมถึงไม่ใช้วิธีการยกเศษซากอาคารจากด้านบนลงมา เป็นเพราะการรื้อเศษซากจากด้านล่างจะทำได้ไวกว่า เนื่องจากไม่มีอุปกรณ์เครื่องจักรหนักขนาดใหญ่และกำลังมากพอ ที่จะไปเริ่มรื้อถอนจากด้านบนที่อยู่สูง 

 

นอกจากนี้ ยังได้มีการใช้ทีมจิตวิทยาเข้าไปพูดคุยทำความเข้าใจกับญาติผู้สูญหาย เพราะญาติก็มีอาการตกใจเมื่อเห็นว่านำเครื่องจักรหนักเข้าไป ก็ต้องทำความเข้าใจกับญาติว่ายังไม่ได้หยุดค้นหา แต่เป็นการเร่งเปิดทางให้เร็วขึ้น และยืนยันว่าจะไม่มีเดดไลน์ในการหยุดช่วยเหลือ แต่จะค่อยๆ เพิ่มการรื้อถอนให้มากขึ้นตามหน้างาน และจะค้นหาจนเจอจนครบ สำหรับประเด็นที่เจ้าหน้าที่รถเครนที่มารอเข้าช่วยเหลือแต่ยังไม่ได้ทำงานนั้น จากการสอบถามแต่ละหน่วยงานยังไม่มีใครพูดอะไรเรื่องนี้ แต่เข้าใจว่าเจ้าของรถเครนดังกล่าว ยังไม่เข้าใจแผนการทำงานของเจ้าหน้าที่ เพราะส่วนมากจะใช้รถเครนขนาดใหญ่เพียงไม่กี่คันในการทำงาน 

 

ส่วนกรณีที่มีผู้ออกมาวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของทีมปฏิบัติการว่า ทำงานล่าช้า ถ่วงเวลาให้โอกาสรอดชีวิตน้อยลง ต้องขอแจ้งว่าการที่เจ้าหน้าที่ยังไม่เร่งขุดหรือเจาะปูนออก เป็นเพราะผู้สั่งการแต่ละทีมมีการปรับแผนตามสภาพหน้างาน เพื่อให้เข้ากับการทำงานของทีมกู้ภัยทั้งไทยและต่างชาติ ซึ่งเหตุการณ์นี้เป็นเหตุวิกฤติที่ต้องมีผู้นำในการดำเนินการ อย่างไรก็ตามหากปฏิบัติการนี้แล้วเสร็จ หลังจากนี้อาจจะมีการเชิญเข้ามาพูดคุยหารือกันถึงแนวทางการทำงานในอนาคตต่อไป

 

สำหรับการตรวจบริษัทจีนในแง่ของการก่อสร้าง กรุงเทพมหานครไม่ได้มีหน้าที่โดยตรง ต้องไปดูอีกทีว่าดูตรงไหนได้ อาจเป็นในแง่ของการจดทะเบียนบริษัท เราเองอนุมัติตามแบบและการเปิดใช้อาคาร ถ้าเกิดมีข้อกังวลก็อาจจะไปดูการเปิดใช้อาคารว่าบริษัทสร้างโดยใคร ส่วนเรื่องของการเก็บเอกสาร เมื่อวานมีการเก็บไปบางส่วนแล้ว เราให้ความร่วมมือเต็มที่เพราะถือว่าเป็นนโยบายเร่งด่วนของนายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นเรื่องสำคัญพร้อมให้ความร่วมมือทุกอย่าง 

 

ส่วนกรณีที่สภากรุงเทพมหานครไม่อนุมัติงบประมาณผู้ควบคุมงานนั้น ปกติตึก กทม. ถ้าไม่ใหญ่มากสำนักการโยธาก็จะเป็นคนคุมเอง แต่เรามีโครงการใหญ่ เช่น การสร้างโรงพยาบาล งบประมาณ 3,000 กว่าล้าน คุมเองไม่ไหว เพราะรายละเอียดเยอะ เจ้าหน้าที่เราไม่พอที่จะไปคุม ก็เลยของบควบคุมงานไปทางสภาฯ แต่สภาฯ ไม่เห็นด้วย ก็คงต้องขอหนหน้า ต้องเรียนว่าผู้ควบคุมงานจำเป็นอาจจะต้องมีการพูดคุยในสภาฯ กันใหม่ ต้องบอกว่าเหตุการณ์นี้ก็ต้องมีความเป็นธรรมด้วย เพราะตึกที่พังก็มีผู้ควบคุมงาน ซึ่งอาจจะไม่ได้แก้ปัญหาได้ทั้งหมด แต่เชื่อว่าตึกที่มีผู้ควบคุมงานแล้วคุณภาพดีก็มีเยอะ อย่างพอเทปูนเสร็จแล้วก็ไม่เห็นเหล็ก หรือคุณภาพต่าง ๆ การทำค้ำยัน การตรวจสเปคเหล็กหรือคอนกรีต ถ้ามีผู้ควบคุมงานก็ทำให้เราเบาใจขึ้น รวมถึงการสร้างที่ตรงเวลาเพราะผู้ควบคุมงานก็จะช่วยเร่งรัด 

 

จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เห็นในโซเชียล สิ่งที่สำคัญที่สุดหรืออาคารที่สำคัญที่สุดคือโรงพยาบาล พอเกิดแผ่นดินไหวชั่วโมงแรกได้สั่งให้ทุกโรงพยาบาลสำรวจก่อนเลย เพราะโรงพยาบาลมีคนที่อพยพตัวเองไม่ได้ โรงพยาบาลเมื่อเกิดแผ่นดินไหวตามหลักแล้วต้องไม่มีความเสียหายเลย แล้วก็เป็นตัวสำคัญในการดูแลผู้ป่วยเมื่อเกิดเหตุการณ์ เช่น คนบาดเจ็บหลังแผ่นดินไหว ก็เลยมีแนวคิดอยากจะติดตั้งตัววัดสัญญาณแผ่นดินไหวว่าแผ่นดินไหวหนนี้เกิดแรงเท่าไหร่ในโรงพยาบาล ตึกโรงพยาบาลยังอยู่ได้ไหม จะได้เอาข้อมูลมาปรับปรุงกฎหมายต่าง ๆ เข้าใจว่าตอนนั้นสภาฯ อาจจะมองว่ากรุงเทพฯ ไม่มีแผ่นดินไหว หรืออาจจะมีไม่เยอะ ซึ่งก็มองว่าปกติเพราะคนส่วนใหญ่ก็คิดเหมือนกันว่าไม่คิดว่าจะเจอกับแผ่นดินไหว ก็อาจจะเสนอเข้าไปในสภาฯ และสภาฯ อาจจะเห็นความสำคัญมากขึ้น ซึ่งถ้าเราติดไว้ก็จะทำให้ประเมินได้และมีข้อมูลต่าง ๆ จริง ๆ แล้วตึกสูงทั่วกรุงเทพฯ ถ้าติดได้จะดี อย่างที่อาคารธานีนพรัตน์ก็มีการติดไว้เห็นข้อมูลเลยว่าแผ่นดินไหวเท่าไหร่ สิ่งที่ออกแบบไว้แข็งแรงกว่าที่เกิดขึ้นเกือบสองเท่า

 

#แผ่นดินไหว #กทม

               ————————— (สกณธ์/พัทธ

นันท์…สปส. รายงาน)

แชร์ข่าว:
กรุงเทพฯ มีอะไร อัพเดทข่าวสารฉับไว กิจกรรมที่น่าสนใจ และมีส่วนร่วมได้ รวมไว้ให้ที่นี่

©2022 สงวนลิขสิทธิ์ กรุงเทพมหานคร

สำนักงานประชาสัมพันธ์ สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร 173 ถนนดินสอ แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กทม. 10200