กทม. เพิ่มศักยภาพบุคลากรด้านแพทย์และสาธารณสุข ส่งเสริมสุขภาพประชาชน สร้างกรุงเทพฯ เมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน

(4 มี.ค. 68) รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร บรรยายพิเศษเรื่อง บทบาทกรุงเทพมหานครกับระบบบริการสุขภาพ ในการฝึกอบรมหลักสูตรบริหารการแพทย์และสาธารณสุข รุ่นที่ 14 (บพส.14) ณ ห้องประชุมพิทยรักษ์ ชั้น 4 สำนักการแพทย์ เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย

รองผู้ว่าฯ ทวิดาฯ กล่าวสรุปโดยรวมว่า ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครมีเป้าหมายที่จะทำให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน ภายใต้การขับเคลื่อนนโยบาย 9 ด้าน 9 ดี ซึ่งในยุทธศาสตร์การบริหารงานในยุทธศาสตร์ที่ 5 คือ เรื่องสุขภาพดี มีแนวทางดำเนินการด้วยการสนับสนุนและพัฒนากิจกรรมส่งเสริมสุขภาพชุมชน ยกระดับระบบสุขภาพปฐมภูมิและเครือข่ายสาธารณสุข เพิ่มประสิทธิภาพการเข้าถึงการรักษาพยาบาลที่เชื่อมโยงไร้รอยต่อ และการพัฒนานวัตกรรมการรักษาพยาบาล

ทั้งนี้ มีนโยบายหลัก เรื่อง สุขภาพดี ได้แก่ ส่งเสริมสุขภาพในเมืองและลดอัตราการเจ็บป่วย ด้วยการพัฒนาศูนย์บริการสาธารณสุขให้สามารถให้บริการด้านสุขภาพแบบครบวงจรสำหรับประชาชนในกรุงเทพฯ รวมถึงเพิ่มจำนวนเตียงสังเกตอาการในศูนย์บริการสาธารณสุข พัฒนาศูนย์ส่งเสริมสุขภาพและศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพ (โดยเน้นที่กายภาพบำบัด) ยกระดับศูนย์บริการสาธารณสุขให้เป็นศูนย์การแพทย์ชุมชนเมือง ขยายบริการคลินิก PRIDE สำหรับชุมชน LGBTQ+ อีกทั้งมีการเพิ่มประสิทธิภาพของบริการด้านสุขภาพ ได้แก่ การตรวจสุขภาพฟรี 1 ล้านคน เพิ่มความสะดวกในการเข้าถึงบริการสุขภาพ และให้บริการดูแลสุขภาพที่บ้านผ่านระบบแพทย์ทางไกล (Telemedicine)

รองผู้ว่าฯ ทวิดา กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ได้เพิ่มการเข้าถึงบริการสุขภาพระดับเส้นเลือดฝอยโดยเพิ่มบริการ ศบส.พลัส ดูแล รักษา และสังเกตอาการผู้ป่วยที่ศูนย์บริการสาธารณสุข มีการพัฒนาศักยภาพศูนย์บริการสาธารณสุขสาขา เป็นศูนย์แพทย์ชุมชนเมือง ยกระดับคลินิกกายภาพบำบัด เป็นศูนย์ส่งเสริมและฟื้นฟูสุขภาพ ขยายบริการคลินิกนอกเวลา (ครอบคลุม 50 เขต) พัฒนาคลินิกพิเศษในกลุ่มศูนย์บริการสาธารณสุขให้เป็นเครือข่ายคลินิกรับการส่งต่อผ่านเทคโนโลยี Teleconsult อาทิ คลินิกอายุรศาสตร์โรคหัวใจ คลินิกสูตินรีเวช คลินิกอายุศาสตร์ต่อมไร้ท่อฯ คลินิกกุมารเวชกรรม และคลินิกจักษุ เป็นต้น

กรุงเทพมหานคร (กทม.) โดยสำนักการแพทย์ จัดฝึกอบรมหลักสูตรบริหารการแพทย์และสาธารณสุข รุ่นที่ 14 (บพส.14) เพื่อพัฒนาสมรรถนะบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด้านการบริหาร ให้มีภาวะผู้นำ วิสัยทัศน์ มุมมองเชิงยุทธศาสตร์ สามารถนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ นวัตกรรม ที่ทันสมัยมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาระบบการให้บริการ และการบริหารงานที่มีประสิทธิภาพ สอดคล้อง เชื่อมโยงกับแผนปฏิบัติราชการ นโยบายของส่วนราชการ และแผนของกรุงเทพมหานคร และเสริมสร้างเครือข่ายระหว่างบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขทั้งจากภายในและภายนอกสังกัดกรุงเทพมหานคร เพื่อประสานความร่วมมืออันดีในการพัฒนาระบบบริการสุขภาพแก่ประชาชน

สำหรับระยะเวลาการฝึกอบรมระหว่างวันที่ 4 มีนาคม ถึง 30 พฤษภาคม 2568 รวม 58 วัน ประกอบด้วย ภาควิชาการ ภาคการสร้างเสริมภาวะผู้นำและการบริหารทางการแพทย์และสาธารณสุข ภาคเสริมสร้างประสบการณ์ นักบริหารภาคการศึกษาดูงาน และภาคการจัดทำรายงานการศึกษา สำหรับการประเมินผลการฝึกอบรม แบ่งเป็น ภาควิชาการ ประเมินจากการสอบ วัดประเมินผลการจัดทำรายงานกลุ่ม รายงานรุ่น รายงานการศึกษาดูงาน และการจัดทำบันทึกการเรียนรู้ ในส่วนภาคพฤติกรรม ประเมินจากเวลาในการเข้าฝึกอบรมตลอดหลักสูตรซึ่งต้องไม่น้อยกว่า ร้อยละ 80 ของระยะเวลาตลอดหลักสูตร และประเมินจากพฤติกรรมการเข้าร่วมกิจกรรม โดยมีผู้เข้ารับการฝึกอบรมรวม 30 คน เป็นข้าราชการกรุงเทพมหานครสายงานด้านการแพทย์และสาธารณสุข ระดับชำนาญการ เชี่ยวชาญ สังกัดสำนักการแพทย์ และสังกัดสำนักอนามัย จำนวน 27 คน และบุคคลภายนอก สายงานด้านการแพทย์และสาธารณสุข จำนวน 3 คน วิทยากรในการฝึกอบรมได้รับเกียรติจากผู้บริหารกรุงเทพมทานคร ผู้บริหารสำนักการแพทย์ ตลอดจนผู้ทรงคุณวุฒิจากหน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชน
———————————

แชร์ข่าว:
กรุงเทพฯ มีอะไร อัพเดทข่าวสารฉับไว กิจกรรมที่น่าสนใจ และมีส่วนร่วมได้ รวมไว้ให้ที่นี่

©2022 สงวนลิขสิทธิ์ กรุงเทพมหานคร

สำนักงานประชาสัมพันธ์ สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร 173 ถนนดินสอ แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กทม. 10200