บางกอกน้อยชูต้นแบบคัดแยกขยะตลาดบางขุนศรี จับตาฝุ่นจิ๋วไซต์ก่อสร้างโรงพยาบาลปิยะเวท 2 จัดสรรงบฯ ปรับปรุงซอยวังหลัง 1 จัดระเบียบผู้ค้าตามหลักเกณฑ์ปี 67 ส่องทางเท้าถนนอิสรภาพ ปั้นสวนถนนพระเทพ สำรวจบ้านในแนวก่อสร้างบ่อบำบัดน้ำเสียธนบุรี

(4 มี.ค. 68) เวลา 13.00 น. นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในพื้นที่เขตบางกอกน้อย ประกอบด้วย

เยี่ยมชมต้นแบบการคัดแยกขยะตลาดบางขุนศรี ถนนจรัญสนิทวงศ์ พื้นที่ 8 ไร่ มีประชาชนมาใช้บริการ 500-600 คน/วัน เข้าร่วมโครงการคัดแยกขยะ ตั้งแต่ปี 2561 วิธีการคัดแยกขยะ โดยจำแนกตามประเภทของขยะ ดังนี้ 1.ขยะอินทรีย์ คัดแยกเศษอาหาร มีเกษตรกรมารับเพื่อนำไปเลี้ยงสัตว์ 2.ขยะรีไซเคิล ผู้ค้าคัดแยกขยะรีไซเคิล และให้แม่บ้านนำไปขายสร้างรายได้ 3.ขยะทั่วไป คัดแยกขยะทั่วไป เขตฯ จัดเก็บตามรอบเวลาที่กำหนดทุกวัน 4.ขยะอันตราย คัดแยกขยะอันตราย แจ้งเขตฯ จัดเก็บเดือนละ 1 ครั้ง สำหรับปริมาณขยะก่อนคัดแยกและหลังคัดแยก ดังนี้ ขยะทั่วไปก่อนคัดแยก 1,200-1,300 กิโลกรัม/วัน หลังคัดแยก 1,000-1,200 กิโลกรัม/วัน ขยะรีไซเคิลหลังคัดแยก 10-15 กิโลกรัม/วัน ขยะอินทรีย์หลังคัดแยก 50 กิโลกรัม/วัน ขยะอันตรายหลังคัดแยก 3-5 กิโลกรัม/เดือน ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ให้คำแนะนำในการคัดแยกขยะประเภทต่าง ๆ โดยเฉพาะขยะทั่วไปที่มีจำนวนมาก เพื่อให้การจัดเก็บขยะมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งปริมาณขยะที่คัดแยกจะมีผลต่ออัตราค่าธรรมเนียมในการจัดการสิ่งปฏิกูลหรือมูลฝอยฉบับใหม่

ติดตามมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 โครงการก่อสร้างโรงพยาบาลปิยะเวท 2 ระยะที่ 1 ถนนวังหลัง ซึ่งเป็นการก่อสร้างโรงพยาบาลความสูง 10 และ 12 ชั้น และชั้นใต้ดิน 1 ชั้น จำนวน 2 อาคาร ผู้ประกอบการจะต้องปฏิบัติตามวิธีและเงื่อนไขแนบท้ายใบอนุญาตในการก่อสร้างตามกฎกระทรวงฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2526) และแก้ไขเพิ่มเติมตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 67 (พ.ศ. 2563) และมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ตามรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้กำชับผู้ประกอบการเปิดเครื่องฉีดพ่นละอองน้ำในช่วงการปฏิบัติงานตลอดเวลา เปลี่ยนน้ำในบ่อล้างทำความสะอาดล้อรถบรรทุกและรถโม่ปูนด้านหน้าทางเข้า-ออกโครงการทุกวัน ติดตั้งเครื่องวัดค่าฝุ่น PM2.5 และจอแสดงผลด้านหน้าโครงการ ตรวจวัดค่าควันดำรถบรรทุกให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานตามรอบที่กำหนดอย่างสม่ำเสมอ นอกจากนี้ เขตฯ ได้จัดทำแผนปฏิบัติการตรวจสอบและควบคุมสถานประกอบการที่ก่อให้เกิดปัญหาฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ได้แก่ ประเภทสถานที่ก่อสร้าง 5 แห่ง ประเภทจุดถมดินท่าทราย 2 แห่ง พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เกี่ยวกับฝุ่น PM2.5 กำชับสถานประกอบการในพื้นที่ให้ปฏิบัติตามมาตรฐานที่กฎหมายกำหนดอย่างเคร่งครัด เพื่อลดมลพิษทางอากาศและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

ติดตามการใช้จ่ายงบประมาณงานปรับปรุงซอยวังหลัง 1 ถนนวังหลัง ซึ่งเขตฯ จะดำเนินงานปรับปรุงซอยวังหลัง 1 ช่วงจากถนนวังหลังถึงซอยศาลาต้นจันทน์ ประกอบด้วย ปรับปรุงพื้นทางเท้า ปรับปรุงบ่อพักน้ำและท่อระบายน้ำ คาดว่าจะใช้ระยะเวลาในการปรับปรุงประมาณ 2 เดือน ตั้งแต่เดือนเมษายนถึงเดือนพฤษภาคม 2568 ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ พิจารณาถึงรูปแบบความเหมาะสมและระยะเวลาในการปรับปรุง เพื่อให้การจัดสรรงบประมาณเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตามบริเวณซอยวังหลัง 1 จะมีประชาชนและนักท่องเที่ยวเดินทางมาจับจ่ายสินค้าเป็นจำนวนมาก การปรับปรุงอาจส่งผลกระทบต่อร้านค้าและผู้ที่ใช้เส้นทางในการสัญจร โดยให้เขตฯ ติดป้ายประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับทราบถึงการปรับปรุงและระยะเวลาดำเนินการ คำนึงถึงความปลอดภัยของประชาชนที่ใช้เส้นทางดังกล่าวในการเดินทางสัญจร

พร้อมกันนี้ ได้สอบถามถึงการจัดระเบียบพื้นที่ทำการค้า ปัจจุบันเขตฯ มีพื้นที่ทำการค้าจุดผ่อนผัน จำนวน 5 จุด รวมผู้ค้าทั้งสิ้น 376 ราย ได้แก่ 1.ท่าน้ำพรานนกฝั่งตรงข้ามโรงพยาบาลศิริราช ถนนวังหลัง (ฝั่งขาออก) ผู้ค้า 123 ราย 2.ปากตรอกวังหลัง ถนนอรุณอมรินทร์ (ฝั่งขาเข้า) ผู้ค้า 25 ราย 3.ซอยแสงศึกษา ฝั่งนันทอุทยาน ถนนอิสรภาพ (ฝั่งขาเข้า) ผู้ค้า 38 ราย 4.ตลาดบางขุนนนท์ ถนนบางขุนนนท์ (ฝั่งขาออก) ผู้ค้า 172 ราย และ 5.ไปรษณีย์บางขุนนนท์ ถนนบางขุนนนท์ (ฝั่งขาออก) ผู้ค้า 18 ราย ซึ่งในปี 2567 เขตฯ ยกเลิกจุดทำการค้า 2 จุด ได้แก่ 1.หน้าตลาดพรานนก ถนนอิสรภาพ ผู้ค้า 181 ราย 2.หน้าตลาดบางกอกน้อย ถนนอิสรภาพ ผู้ค้า 30 ราย ยกเลิกวันที่ 25 พ.ย. 67 ส่วนพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน จำนวน 13 จุด รวมผู้ค้าทั้งสิ้น 126 ราย ได้แก่ 1.ใต้สะพานอรุณอมรินทร์ ผู้ค้า 2 ราย 2.ถนนอิสรภาพหน้าร้าน 7-11 ผู้ค้า 4 ราย 3.หน้าที่ทำการไปรษณีย์บางกอกน้อย ผู้ค้า 2 ราย 4.เวิ้งปิ่นเกล้า ผู้ค้า 7 ราย 5.หน้าวัดเจ้าอามและฝั่งตรงข้ามวัด ผู้ค้า 12 ราย 6.หน้าไปรษณีย์บางขุนนนท์ ผู้ค้า 8 ราย 7.ปากซอยบางขุนนนท์ 2 ผู้ค้า 3 ราย 8.ปากซอยสมเด็จพระปิ่นเกล้า 3-5 ผู้ค้า 17 ราย 9.หน้าห้างแม็คโคร ปากซอยจรัญสนิทวงศ์ 37 ผู้ค้า 19 ราย 10.ถนนบางขุนนนท์ ทั้ง 2 ฝั่ง ผู้ค้า 20 ราย 11.ปากซอยแสงศึกษา (อิสรภาพ 44) หน้าโรงพยาบาลธนบุรี ผู้ค้า 13 ราย 12.หน้าโรงเรียนชิโนรส ผู้ค้า 7 ราย และ 13.ตรงข้ามห้างพาต้า ผู้ค้า 12 ราย ซึ่งในปี 2567 เขตฯ ยกเลิกพื้นที่ทำการค้า 6 จุด ได้แก่ 1.ปากซอยโรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา 2.ถนนอรุณอมรินทร์ 3.ปากซอยอรุณอมรินทร์ 20 4.หน้าห้างโลตัสบางขุนนนท์ 5.ถนนพรานนก-พุทธมณฑลสาย 4 และ 6.หน้าธนาคารกรุงเทพ สามแยกไฟฉาย ในปี 2568 เขตฯ จะยกเลิกพื้นที่ทำการค้าอีก 5 จุด ได้แก่ 1.ถนนอิสรภาพหน้าร้าน 7-11 ผู้ค้า 4 ราย 2.เวิ้งปิ่นเกล้า ผู้ค้า 7 ราย 3.ใต้สะพานอรุณอมรินทร์ ผู้ค้า 2 ราย 4. หน้าที่ทำการไปรษณีย์บางกอกน้อย ผู้ค้า 2 ราย 5.ตรงข้ามห้างพาต้า ผู้ค้า 12 ราย ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ จัดระเบียบพื้นที่ทำการค้าให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขทำการค้าปี 67 ติดตามผลการประเมินพื้นที่ทำการค้าจากคณะกรรมการ 3 คณะ ได้แก่ คณะกรรมการสำนักงานเขต คณะกรรมการสำนักเทศกิจ คณะกรรมการผู้ตรวจราชการ

ในขณะเดียวกันกรุงเทพมหานคร ได้ดำเนินโครงการปรับปรุงทางเท้าถนนอิสรภาพ ตั้งแต่ถนนประชาธิปกจนถึงถนนสุทธาวาส ครอบคลุมพื้นที่เขตธนบุรี เขตบางกอกใหญ่ และเขตบางกอกน้อย ในส่วนของเขตบางกอกน้อยมีพื้นที่ทำการค้าที่อยู่ในโครงการปรับปรุงทางเท้า 3 จุด ได้แก่ หน้าตลาดพรานนก หน้าตลาดบางกอกน้อยฝั่งซ้าย หน้าตลาดบางกอกน้อยฝั่งขวา จึงมีความจำเป็นต้องใช้พื้นที่ในการปรับปรุงทางเท้า โดยเขตฯ ได้ยกเลิกพื้นที่ทำการค้าดังกล่าวทั้ง 3 จุด เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2567 ทั้งนี้ มอบหมายให้เขตฯ ติดตามโครงการปรับปรุงทางเท้าถนนอิสรภาพที่อยู่ในพื้นที่รับผิดชอบ กวดขันผู้รับจ้างให้คำนึงถึงความปลอดภัยแก่ประชาชนที่ใช้ทางเท้าในการสัญจร ติดป้ายแจ้งเตือน ตั้งวางแนวรั้วในจุดที่ดำเนินการปรับปรุงทางเท้าและฝาท่อระบายน้ำบนทางเท้า เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นแก่ประชาชน

จากนั้นได้สอบถามถึงการจัดทำสวน 15 นาที สวนถนนพระเทพ บริเวณถนนพรานนก-พุทธมณฑลสาย 4 ซึ่งเขตฯ ได้ปรับปรุงพื้นที่ว่าง ปลูกไม้พุ่มไม้ประดับ ปูหญ้า จัดทำทางเดิน ตั้งวางม้านั่งภายในสวน ปัจจุบันเขตฯ มีสวน 15 นาที (สวนเดิม) จำนวน 4 แห่ง ได้แก่ 1.สวนหย่อมอัศวิน พื้นที่ 2 งาน 62 ตารางวา 2.สวนหย่อมจักรวาล พื้นที่ 33 ตารางวา 3.สวนหย่อมปากซอยรุ่งประชา พื้นที่ 1 งาน 27 ตารางวา 4.สวนหย่อมสายใต้เก่า พื้นที่ 1 งาน 25 ตารางวา สวนสาธารณะในพื้นที่ซึ่งอยู่ในความดูแลของสำนักสิ่งแวดล้อม จำนวน 2 แห่ง ได้แก่ 1.สวนเฉลิมพระเกียรติฯ 80 พรรษา พื้นที่ 21 ไร่ 3 งาน 42 ตารางวา 2.สวนสิรินธราพฤกษา พื้นที่ 3 ไร่ 16 ตารางวา สวน 15 นาที (สวนใหม่) จำนวน 7 แห่ง ได้แก่ 1.สวนอรุณอมรินทร์ พื้นที่ 23.5 ตารางวา 2.สวนยูเทิร์นเพลินใจ บริเวณทางกลับรถใต้สะพานข้างคลองบางขุนศรี ถนนพรานนก-พุทธมณฑลสาย 4 พื้นที่ 22 ตารางวา 3.สวนวัดรวกสุทธาราม พื้นที่ 147 ตารางวา 4.สวนวัดชิโนรสารามวรวิหาร พื้นที่ 60 ตารางวา 5.สวนวัดสุวรรณ ลานทองคล้องใจ พื้นที่ 13 ตารางวา 6.สวนถนนพระเทพ พื้นที่ 157 ตารางเมตร อยู่ระหว่างดำเนินการ 7.สวนสถานีตำรวจนครบาลบางกอกน้อย พื้นที่ 200 ตารางเมตร อยู่ระหว่างดำเนินการ ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ สำรวจพื้นที่ว่างโดยพิจารณาถึงความเหมาะสม เพื่อจัดทำสวน 15 นาทีให้ครบทั้ง 10 แห่ง ตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ออกแบบพื้นที่ภายในสวนให้ตรงกับความต้องการของประชาชนที่จะเข้ามาใช้บริการหรือทำกิจกรรมภายในสวน เพื่อให้การจัดทำสวน 15 นาที เป็นไปตามวัตถุประสงค์อย่างแท้จริง

พร้อมทั้งสอบถามถึงปัญหาบ้านเรือนที่อยู่พื้นที่โครงการก่อสร้างระบบรวบรวมน้ำเสียและระบบบ่อบำบัดน้ำเสียธนบุรี ถนนสุทธาวาส ซึ่งเขตฯ ได้สำรวจพบว่ามีบ้านเรือนประชาชนส่วนหนึ่งอยู่ในแนวพื้นที่โครงการก่อสร้างบ่อบำบัดน้ำเสียธนบุรี อีกส่วนหนึ่งอยู่ในแนวพื้นที่โครงการสายสีแดงอ่อน ช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร มอบหมายให้เขตฯ สำรวจแนวเขตพื้นที่การก่อสร้างทั้ง 2 โครงการ ตรวจสอบจำนวนบ้านเรือนที่อยู่ในพื้นที่ก่อสร้างไม่ให้เกิดการทับซ้อนกัน รวมถึงประสานสำนักการระบายน้ำ และบริษัทผู้รับจ้างโครงการก่อสร้างบ่อบำบัดน้ำเสียธนบุรี ในการจ่ายเงินชดเชยบ้านเรือนที่อยู่ในพื้นที่โครงการและได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างดังกล่าว

ในการนี้มี คณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่เขตบางกอกน้อย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่และให้ข้อมูล

สิ่งแวดล้อมดี #สุขภาพดี #เศรษฐกิจดี

—– (จิรัฐคม…สปส. รายงาน)

แชร์ข่าว:
กรุงเทพฯ มีอะไร อัพเดทข่าวสารฉับไว กิจกรรมที่น่าสนใจ และมีส่วนร่วมได้ รวมไว้ให้ที่นี่

©2022 สงวนลิขสิทธิ์ กรุงเทพมหานคร

สำนักงานประชาสัมพันธ์ สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร 173 ถนนดินสอ แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กทม. 10200