ในการประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมสามัญ สมัยแรก (ครั้งที่ 4) ประจำปีพุทธศักราช 2566 วันนี้ (25 ม.ค.66) ณ ห้องประชุมสภากรุงเทพมหานคร อาคารไอราวัตพัฒนา กทม.2 ดินแดง : นายสุทธิชัย วีรกุลสุนทร ส.ก.เขตจอมทอง ได้เสนอญัตติขอให้กรุงเทพมหานครพิจารณาความเหมาะสมการจ้างที่ปรึกษาในโครงการขนาดใหญ่
เนื่องจากกรุงเทพมหานครได้จ้างที่ปรึกษาในการบริหารและควบคุมงานโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่หลายโครงการโดยใช้งบประมาณจำนวนมาก บางโครงการที่มีการจ้างที่ปรึกษาแต่การก่อสร้างไม่เสร็จตามเวลาที่กำหนดหรือเกิดความเสียหาย และไม่มีข้อมูลการรายงานผลการดำเนินงานของที่ปรึกษาว่ามีความบกพร่องหรือรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นแต่อย่างใด เช่น การควบคุมงานตามหลักวิชาการถูกต้อง มีการปล่อยปละละเลยไม่ได้อยู่หน้างานอย่างสม่ำเสมอ ปล่อยให้ผู้รับจ้างมีความประมาท เลินเล่อหรือไม่ เป็นต้น
นอกจากนี้ การจ้างที่ปรึกษาในการบริหารและควบคุมงานโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่บางโครงการไม่มีการนำองค์ความรู้ทางวิชาการไปถ่ายทอดต่อเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานที่ดำเนินการเพื่อให้เกิดประโยชน์ในการดำเนินโครงการต่อไป หรือเพื่อใช้ในการปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงาน รวมทั้งไม่มีการติดตามประเมินผล และรายงานผลการดำเนินโครงการจ้างที่ปรึกษา ซึ่งอาจทำให้การใช้จ่ายงบประมาณการจ้างที่ปรึกษาเป็นไปอย่างไม่มีประสิทธิภาพ และไม่ประหยัด จึงขอให้กรุงเทพมหานครพิจารณาความเหมาะสมการจ้างที่ปรึกษาในโครงการขนาดใหญ่
“สำนักการระบายน้ำ กทม. เป็นหน่วยงานที่มีประสบการณ์และมีบุคลากรจำนวนมาก แต่มีการใช้โครงการจ้างที่ปรึกษาหลายโครงการ และใช้เวลาดำเนินการนาน อาทิ โครงการจ้างที่ปรึกษาบริหารและควบคุมงานโครงการก่อสร้างระบบรวบรวมน้ำเสียและระบบบำบัดน้ำเสียธนบุรี โครงการจ้างที่ปรึกษาพัฒนาระบบบริหารจัดการสินทรัพย์โครงการพื้นฐานของกรุงเทพมหานคร ซึ่งกรุงเทพมหานครต้องเสียงบประมาณในการจ้างจำนวนมาก นอกจากนี้ยังมีการจ้างที่ปรึกษาในโครงการของสำนักผังเมือง สำนักการโยธา ในอดีตกทม.ใช้บุคลากร ข้าราชการของกรุงเทพมหานครดำเนินการเอง การจัดจ้างที่ปรึกษาจะทำให้กทม.ใช้เงินอย่างไม่มีประสิทธิภาพ” นายสุทธิชัย กล่าว
นายสุรจิตต์ พงษ์สิงห์วิทยา ส.ก.เขตลาดกระบัง กล่าวว่า ปัญหาอาจเกิดจากบุคลากร หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐไม่มีความชำนาญในด้านนั้น ๆ หรือความเข้าใจที่ว่าการมีที่ปรึกษาจะทำให้โครงการผ่าน EIA ไปได้ด้วยดี แต่ต้องทบทวนว่าระบบทำหน้าที่ได้ดีหรือไม่ ระบบของกทม.อาจจะสรรหาบุคลากรที่มีศักยภาพไม่ได้ การรับบุคลากรเข้าทำงาน ทำให้ไม่มีผู้อยากทำงานให้กทม. รวมถึงการโยกย้ายงานเหมาะสมหรือไม่ กรุงเทพมหานครควรนำรูปแบบการวิจัยและพัฒนา R&D มาใช้ และนำผลประโยชน์ของประชาชนมาเป็นที่ตั้ง
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า การจ้างที่ปรึกษาโครงการเป็นเรื่องที่สำคัญ ซึ่งจะมีผลต่อความสำเร็จและความล้มเหลวของโครงการขนาดใหญ่ อาทิ โครงการอุโมงค์ระบายน้ำ และโครงการบึงหนองบอน ที่มีความล่าช้า ไม่มีประสิทธิภาพ ซึ่งเรื่องการจ้างที่ปรึกษาจะเป็นข้อสังเกตที่ต้องนำไปพัฒนาและปรับปรุงให้ดีขึ้น
ด้าน นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวชี้แจงในที่ประชุมสภากทม.ว่า การจ้างที่ปรึกษา กทม.จะเลือกใช้เฉพาะในโครงการขนาดใหญ่ที่มีความซับซ้อน และมีเทคโนโลยีชั้นสูง ซึ่งกรุงเทพมหานครไม่มีบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญ เช่น โครงการอุโมงค์ระบายน้ำ หรือโครงการโรงบำบัดน้ำเสีย ซึ่งจำเป็นต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านหลากหลายสาขา เช่น ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมธรณี ผู้เชี่ยวชาญด้านอุโมงค์ หรือผู้เชี่ยวชาญด้านงานระบบไฟฟ้าหรือเครื่องกลเพื่อการติดตั้งอุปกรณ์ไฟฟ้าขนาดใหญ่ อย่างไรก็ตามเรื่องของการใช้งบประมาณในการจ้างที่ปรึกษา กรุงเทพมหานครพยายาที่จะใช้งบประมาณตามความจำเป็น และกำหนดบุคลากรผู้เชี่ยวชาญที่จำเป็นต้องใช้จริง ๆ เช่น อัตราค่าจ้างที่ปรึกษาตามกฎกระทรวง ภายใต้พระราชบัญญัติจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 กำหนดอัตราค่าจ้างผู้ควบคุมงานขนาดใหญ่ให้ในอัตราร้อยละ 2.5 ของมูลค่าโครงการ ในขณะที่โครงการที่ผ่านมาของกรุงเทพมหานครเราใช้งบประมาณเพียง ร้อยละ 1.75 ถึง 2 ของมูลค่าของโครงการเท่านั้น และเลือกใช้เฉพาะตำแหน่งที่เรายังขาดอยู่
——