ผู้บริหาร กทม. ประชุม Hybrid นัดแรก รับสถานการณ์ฝุ่นเกินค่ามาตรฐาน พร้อมขอความร่วมมือ รัฐ-เอกชน WFH ลดการปล่อย PM2.5

(20 ม.ค. 68) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 1/2568 โดยมี พญ.วันทนีย์ วัฒนะ ปลัดกรุงเทพมหานคร คณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร และผู้บริหารหน่วยงานในสังกัดกรุงเทพมหานคร เข้าร่วมการประชุม ณ ห้องรัตนโกสินทร์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) เขตพระนคร และผ่านระบบการประชุมออนไลน์

ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า จากการพยากรณ์ว่าวันนี้จะมีฝุ่นเยอะและได้มีการประกาศขอความร่วมมือภาคีเครือข่าย WORK FROM HOME (WFH) นั้น ปรากฏว่าวันนี้เป็นไปตามที่ได้มีการพยากรณ์ไว้ โดยค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมง ของฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) ณ เวลา 07.00 น. ตรวจวัดได้ 37.6 – 73 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) คือเกินมาตรฐานอยู่ในระดับสีส้ม ซึ่งเป็นค่าฝุ่นที่เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ ทั้งนี้ หากหน่วยงานใดไม่สะดวก WFH ก็ขอให้หันมาใช้รถสาธารณะในการเดินทางเพื่อลดปริมาณรถยนต์บนท้องถนน ซึ่งในส่วนของกรุงเทพมหานครเอง วันนี้ก็ได้ปรับการประชุมเป็นแบบ Hybrid คือ มีการประชุมทั้งแบบ Onsite และ Online ควบคู่กัน เพื่อลดการเดินทางในช่วงสถานการณ์ฝุ่นสูง

เรื่องต่อมาคือขอให้หน่วยงาน กทม. ที่เกี่ยวข้อง เตรียมการต้อนรับผู้ว่าการกรุงโตเกียวที่มีกำหนดเดินทางเยือนกรุงเทพมหานครในวันที่ 5 – 7 กุมภาพันธ์ 2568 อย่างสมเกียรติ ในส่วนของการดำเนินงานต่าง ๆ ของสำนักงานเขต ขอให้คณะผู้บริหารย้ำกับผู้อำนวยการเขตในกำกับดูแลให้เร่งรัดการดำเนินงานตามเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่ได้ตั้งไว้ โดยเฉพาะในเรื่องการปลูกต้นไม้ที่ขยายเป้าหมายเป็น 2 ล้านต้น และอีกเรื่องสำคัญคือ ช่วงนี้เกิดเหตุไฟไหม้บ่อย ขอให้คณะผู้บริหารช่วยกันดูแล หมั่นลงพื้นที่เพื่อเน้นย้ำเรื่องความปลอดภัย

จากนั้น ที่ประชุมได้รายงานเรื่องเพื่อทราบ ได้แก่ เรื่อง การกำหนดเส้นทางความก้าวหน้าของข้าราชการครูกรุงเทพมหานคร ตำแหน่งผู้อำนวยการสถานศึกษา ให้มีโอกาสเข้าสู่ตำแหน่งทางการบริหารด้านการศึกษาของกรุงเทพมหานคร เรื่อง ผลการพิจารณาการรับทรัพย์สินที่เอกชนยินยอมให้กรุงเทพมหานครจัดให้ใช้เพื่อสาธารณประโยชน์ และเรื่อง แผนการตรวจเฝ้าระวังปริมาณคลอรีนในน้ำอุปโภคและบริโภคในโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร

สำหรับเรื่องการกำหนดเส้นทางความก้าวหน้าของข้าราชการครูกรุงเทพมหานคร ตำแหน่งผู้อำนวยการสถานศึกษา ให้มีโอกาสเข้าสู่ตำแหน่งทางการบริหารด้านการศึกษาของกรุงเทพมหานคร ผู้บริหารกรุงเทพมหานครได้คำนึงถึงความก้าวในหน้าที่ของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา จึงต้องการเปิดโอกาสให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษามีโอกาสเติบโตในสายงานและดำรงตำแหน่งที่สูงขึ้น ซึ่งจากการประชุม อ.ก.ก. วิสามัญเกี่ยวกับการสรรหาฯ ครั้งที่ 7/2567 ได้มีมติเห็นชอบในหลักการว่าควรเปิดโอกาสให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษากรุงเทพมหานคร สายงานการบริหารสถานศึกษา มีโอกาสเข้าสู่ตำแหน่งทางการบริหารด้านการศึกษาของกรุงเทพมหานคร โดยมอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการกรุงเทพมหานคร (สกก.) ไปดำเนินการเปรียบเทียบตำแหน่งผู้อำนวยการสถานศึกษา วิทยฐานะเชี่ยวชาญ และเชี่ยวชาญพิเศษ โดยควรเทียบให้ไม่เกินประเภทอำนวยการ ระดับสูง และควรทบทวนพิจารณากลไกที่เกี่ยวข้องกับการปรับปรุงแก้ไข ได้แก่ มาตรฐานกำหนดตำแหน่ง การกำหนดตำแหน่งประเภทอำนวยการในสำนักการศึกษา จัดทำเส้นทางความก้าวหน้าของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา สายงานบริหารสถานศึกษา ให้มีโอกาสเข้าสู่ตำแหน่งทางการบริหารด้านการศึกษาของกรุงเทพมหานคร

นอกจากนี้ ควรมีการเตรียมความพร้อมและออกแบบโครงสร้างให้รองรับ รวมถึงพิจารณาว่าตำแหน่งใด ส่วนราชการใด ที่สามารถเข้าสู่ตำแหน่งทางการบริหารได้ และควรกำหนดให้ผู้อำนวยการสถานศึกษาที่จะเข้ามาเป็นผู้บริหารของสำนักการศึกษา ควรมีศักยภาพและประสบการณ์ที่เพียงพอ และมีคุณวุฒิที่สอดคล้องกับมาตรฐานกำหนดตำแหน่ง โดยกำหนดเงื่อนไขต่าง ๆ เช่น ต้องเคยปฏิบัติหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงของกลุ่มโซน ต้องผ่านการอบรมหลักสูตรนักบริหารระดับที่คณะอนุกรรมการสามัญข้าราชการกรุงเทพมหานครสามัญรองรับ เป็นต้น

ทั้งนี้ ในที่ประชุมคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร เห็นด้วยกับโอกาสการก้าวหน้าดังกล่าว แต่ได้กำชับให้มีการพิจารณาอย่างรอบคอบ ในการกำหนดรายละเอียดและคุณสมบัติของผู้ที่จะเข้าประเมินตามหลักเกณฑ์ดังกล่าว นอกจากนี้ให้มีการสื่อสารทำความเข้าใจกับข้าราชการกรุงเทพมหานครสามัญด้วย

สำหรับเรื่องผลการพิจารณาการรับทรัพย์สินที่เอกชนยินยอมให้กรุงเทพมหานครจัดให้ใช้เพื่อสาธารณประโยชน์ คณะกรรมการพิจารณาการรับทรัพย์สินที่เอกชนยินยอมให้กรุงเทพมหานครจัดให้ใช้เพื่อสาธารณประโยชน์ได้มีมติรับทรัพย์สินแล้ว จำนวน 5 ราย และมีมติยังไม่รับทรัพย์สิน จำนวน 3 ราย ที่ประชุมมีมติรับทราบ โดยผู้ว่าฯ กทม. ได้เน้นย้ำว่า ให้คณะกรรมการพิจารณาการรับทรัพย์สินฯ พิจารณาความคุ้มค่าในการใช้ประโยชน์ที่ดินด้วยความรอบคอบ หากต้องใช้งบประมาณดำเนินการให้ใช้อย่างเหมาะสม โดยหัวใจคือพื้นที่นั้น ๆ ต้องเข้าออกง่าย ประชาชนได้ประโยชน์สูงสุด

ส่วนเรื่องแผนการตรวจเฝ้าระวังปริมาณคลอรีนในน้ำอุปโภคและบริโภคในโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร สำนักอนามัยได้รายงานว่า เมื่อปี 2567 มีโรงเรียนเกิดโรคอาหารเป็นพิษ จำนวน 11 แห่ง มีผู้ป่วย จำนวน 818 คน แบ่งเป็น โรงเรียนสังกัด กทม. 2 แห่ง มีผู้ป่วย 310 คน โรงเรียนสังกัดคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) 6 แห่ง มีผู้ป่วย 312 คน โรงเรียนสังกัดคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) 2 แห่ง มีผู้ป่วย 153 คน และสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) 1 แห่ง มีผู้ป่วย 43 คน ซึ่งมีสาเหตุมาจากอาหารและน้ำปนเปื้อนเชื้อก่อโรคในระบบทางเดินอาหาร ประกอบกับในช่วงเดือนธันวาคม 2567 มีการแพร่ะบาดของอหิวาตกโรค ณ เมืองชเวโก๊กโก่ สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา โดยเชื้ออหิวาตกโรคสามารถติดต่อโดยการรับประทานอาหารและน้ำที่มีเชื้ออหิวาตกโรคที่มีชีวิตปนอยู่ ผู้บริหารกรุงเทพมหานครมีความห่วงใยต่อสุขภาพของประชาชนรวมถึงเด็กนักเรียน จึงมอบให้สำนักอนามัยสนับสนุนการดำเนินงานของสำนักงานเขตในการตรวจเฝ้าระวังปริมาณคลอรีนในน้ำในโรงเรียน ซึ่งสำนักอนามัย โดยกองสุขาภิบาลอาหาร ได้จัดซื้อชุดทดสอบคลอรีนอิสระคงเหลือในน้ำ จำนวน 223 ชุด (1 ชุด ตรวจได้ 50 ตัวอย่าง) และน้ำยาตรวจหาเชื้อโคลิฟอร์มแบคทีเรียขั้นต้นในน้ำและน้ำแข็ง จำนวน 4,900 ขวด พร้อมอุปกรณ์สำหรับใช้ในการตรวจวิเคราะห์ เพื่อสนับสนุนสำนักงานเขต ทั้งนี้ ได้ดำเนินการสุ่มตรวจปริมาณคลอรีนและตรวจหาเชื้อโคลิฟอร์มแบคทีเรียในน้ำอุปโภคและบริโภคในโรงเรียน จำนวนทั้งสิ้น 1,257 แห่ง (สังกัด กทม. 437 แห่ง และนอกสังกัด กทม. 820 แห่ง) มติที่ประชุมรับทราบ มอบสำนักอนามัยนำข้อคิดเห็นของคณะผู้บริหารไปพิจารณาดำเนินการในเรื่องของการปรับแผนการตรวจในโรงเรียนให้เร็วขึ้น เนื่องจากช่วงเปิดเทอมจะเป็นช่วงฤดูร้อนซึ่งอาจมีโรคที่พบบ่อย เช่น โรคท้องร่วง และให้ขยายผลตรวจสุขาภิบาลอาหาร โดยตรวจทั้งในโรงเรียนและร้านอาหารที่จำหน่ายบริเวณรอบโรงเรียน ตลอดจนแคมป์คนงานก่อสร้างในกรุงเทพฯ
—————————

แชร์ข่าว:
กรุงเทพฯ มีอะไร อัพเดทข่าวสารฉับไว กิจกรรมที่น่าสนใจ และมีส่วนร่วมได้ รวมไว้ให้ที่นี่

©2022 สงวนลิขสิทธิ์ กรุงเทพมหานคร

สำนักงานประชาสัมพันธ์ สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร 173 ถนนดินสอ แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กทม. 10200