นายสุรจิตต์ พงษ์สิงห์วิทยา ส.ก.เขตลาดกระบัง ได้ยื่นญัตติด่วนด้วยวาจา สอบถามแนวทางการใช้ Big Bag เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ หากนำไปใช้ในคลองอาจทำให้ถุงขาด ชำรุด ทรายไหลออกมาทำให้คลองตื้นเขิน และหากต้องนำขึ้นต้องใช้รถแม็คโครเพื่อนำถุงขนาดใหญ่ขึ้นมา ซึ่งพบเหตุการณ์นี้ในเขตมีนบุรี ประเวศและในอีกหลายจุด ขอให้สำนักการระบายน้ำและฝ่ายบริหารแก้ปัญหาให้ตรงจุด
นางสาวนฤนันมนต์ ห่วงทรัพย์ ส.ก.เขตคลองสามวา ได้กล่าวสนับสนุนญัตตินี้ ว่า เรื่องการสื่อสารเป็นเรื่องจำเป็น ผู้บริหารอาจจะมีเหตุผลว่าทำไมถึงนำถุง Big Bag ลงคลอง ช่วยเรื่องอะไรบ้าง และสามารถชะลอน้ำได้อย่างไร เพื่อคลายความกังวลให้กับประชาชนที่อาศัยในพื้นที่
“พื้นที่สามวาตะวันออก มีพื้นที่เกษตรกร กว่า 700 ไร่ เหตุการณ์ไม่ได้เกิดความเสียหายต่อพื้นที่การเกษตรเท่านั้น แต่ยังทำให้เกษตรกรเสียใจ เสียความรู้สึกด้วย” ส.ก.คลองสามวา กล่าว
นายณรงค์ รัสมี ส.ก.เขตหนองจอก กล่าวว่า น้ำที่มีในพื้นที่หนองจอกเป็นน้ำของพื้นที่อื่น โชคดีที่เห็นก่อน การแก้ปัญหาแบบนี้ไม่ได้มีการประสานงานกับพื้นที่เลย รวมถึงไม่มีการบริหารจัดการเพื่อลดความตื่นตระหนกของประชาชนที่พบเห็นด้วย ด้าน นางสาวศศิธร ประสิทธิ์พรอุดม ส.ก.เขตพระนคร กล่าวว่า ในพื้นที่พระนครยังมีบางจุดที่มีน้ำท่วมขัง อาทิ ชุมชนท่าวัง ท่าเตียน และปากคลองตลาด ซึ่งพบว่าเป็นน้ำล้นจากฝาท่อ และน้ำท่วมจากแนวป้องกันฟันหลอ จึงขอให้ฝ่ายบริหารเร่งแก้ไขพื้นที่ชั้นในด้วย
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ในความเป็นจริงแล้วข้างในถุง Big Bag มีกระสอบทรายถุงเล็ก ๆ บรรจุอยู่ ปัจจุบันยังไม่ได้วางแต่อย่างใด เป็นเพียงการเตรียมพร้อมเนื่องจากกังวลน้ำในเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ที่มีการปล่อยมาเพิ่มขึ้น จึงมีแนวคิดว่าจะกั้นน้ำในพื้นที่กรุงเทพตะวันออกได้อย่างไร และอาจทำให้เกิดความเข้าใจผิด ไม่ได้เป็นการขวางทางน้ำแต่อย่างใด ทั้งนี้หากมีความไม่เข้าใจกัน ส.ก.และฝ่ายบริหารสามารถหารือกันได้ เนื่องจากส.ก.หลายท่านอยู่ในพื้นที่น่าจะเข้าใจดีกว่า อย่างไรก็ตาม การระบายน้ำต้องดูในภาพรวมเนื่องจากมีคลองย่อยต่าง ๆ มากมาย ฝ่ายบริหารก็พยายามปรับปรุง เพื่อดูแลประชาชนให้ดีขึ้น ทั้งนี้สถานการณ์ทั่วไปในพื้นที่กรุงเทพฯดีขึ้น ขณะนี้ได้พยายามดูจุดฟันหลอ และเร่งรัดมาตรการเยียวยาผู้ประสบภัยให้เร็วขึ้น โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการหารือฝ่ายกฎหมาย และจะรีบเร่งประกาศพื้นที่ประสบภัยมากขึ้นเพื่อให้สอดคล้องกับความเสียหายของประชาชนและตอบสนองต่อปัญหามากขึ้น
นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า กรุงเทพมหานครได้พร่องน้ำเพื่อรับมือน้ำด้านตะวันออกมาโดยตลอด และได้เตรียมหน่วยฉุกเฉิน กระสอบทราย ตรวจคันกั้นน้ำเพื่อดูรอยรั่วอย่างสม่ำเสมอด้วย