(12 ต.ค.65) นายวิรัตน์ มีนชัยนันท์ ประธานสภากรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมสามัญ สมัยที่สี่ (ครั้งที่ 2) ประจำปีพุทธศักราช 2565 โดยมี สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร คณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม ณ ห้องประชุมสภากรุงเทพมหานคร อาคารไอราวัตพัฒนา กทม.2 ดินแดง โดยก่อนเริ่มการประชุมในวันนี้ ประธานสภากรุงเทพมหานครได้ขอให้ผู้เข้าร่วมประชุมได้ยืนไว้อาลัยเพื่อแสดงความเสียใจต่อผู้สูญเสียในเหตุการณ์กราดยิง ณ จังหวัดหนองบัวลำภู
ในที่ประชุมวันนี้ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้เสนอญัตติร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง สำนักงานพัฒนาที่อยู่อาศัย พ.ศ. …. ด้วยข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง สำนักงานพัฒนาที่อยู่อาศัย พ.ศ. 2545 ที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันได้ใช้บังคับเป็นเวลานานมีเนื้อหาไม่สอดคล้องและเหมาะสมกับสภาพปัจจุบันในส่วนที่เกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของสำนักงานพัฒนาที่อยู่อาศัย องค์ประกอบของคณะกรรมการ คุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามวาระการดำรงตำแหน่ง การพ้นจากตำแหน่งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ หน้าที่และอำนาจ องค์ประชุม การลงมติที่ประชุมของคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ที่มาหลักเกณฑ์และวิธีการสรรหาฯ คุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามการพ้นจากตำแหน่ง หน้าที่ของผู้อำนวยการ การพ้นจากตำแหน่งของผู้อำนวยการ การประชุมของคณะกรรมการสรรหาผู้อำนวยการและการบริหารงานบุคคล สมควรปรับปรุงหลักเกณฑ์ จึงได้ดำเนินการจัดทำร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง สำนักงานพัฒนาที่อยู่อาศัย พ.ศ…..กรุงเทพมหานคร พิจารณาแล้วเห็นควรนำร่างข้อบัญญัติฯ เสนอต่อสภากรุงเทพมหานครเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ
โดยในที่ประชุม ส.ก.ได้ร่วมกันอภิปรายเกี่ยวกับร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง สำนักงานพัฒนาที่อยู่อาศัย พ.ศ…. หลายท่านโดยเห็นว่า ร่างข้อบัญญัติฉบับนี้มีข้อดีคือเป็นการเพิ่มโอกาสมีที่อยู่อาศัยที่ดีให้กับประชาชน หากสำนักงานพัฒนาที่อยู่อาศัยสามารถดำเนินการได้จะทำให้ผู้ด้อยโอกาสมีรายได้น้อยมีที่พักอาศัยเป็นการลดความเหลื่อมล้ำในสังคม ลดชุมชนแออัดหรือเปลี่ยนแปลงชุมชนแออัดให้เป็นชุมชนที่ได้มาตรฐาน
ด้าน นายสมชาย เต็มไพบูลย์กุล ส.ก.เขตคลองสาน กล่าวว่า หากทำได้เทียบเท่าการเคหะแห่งชาติจะทำให้ประชาชนจำนวนมากได้มีที่อยู่อาศัย สภากทม.รับญัตตินี้มาก็เพื่อทำงานต่อยอดกับทางฝ่ายบริหาร นางสาวรัตติกาล แก้วเกิดมี ส.ก.เขตสายไหม กล่าวว่า เนื่องจากโรงเรียนกทม.หลายแห่งมีจำนวนนักเรียนลดน้อยลงหากในอนาคตสามารถปรับปรุงอาคารที่ใช้การได้เป็นที่พักอาศัยข้าราชการรวมถึงประชาชนที่มีรายได้น้อยได้จะเป็นเรื่องที่ดี
นางกนกนุช กลิ่นสังข์ ส.ก.เขตดอนเมือง กล่าวว่า ผู้บริหารน่าจะเห็นความยากลำบากของผู้ที่อยู่อาศัยจึงได้เห็นควรให้มีการปรับปรุงข้อบัญญัตติฉบับนี้ อย่างไรก็ตามพื้นที่กทม.มีอยู่อาจอยู่ห่างไกล จะเป็นไปได้หรือไม่ที่กทม.จะนำคอนโดที่ก่อสร้างยังไม่เสร็จหรือคอนโดเก่า ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของธนาคารหรือ ปปส. ซึ่งเชื่อว่านอกจากเป็นการช่วยเหลือประชาชนแล้ว ร่างข้อบัญญัติฉบับนี้ยังสามารถช่วยเหลือข้าราชการได้ด้วย
นอกจากนี้ นายณรงค์ รัสมี ส.ก.เขตหนองจอก นายสุรจิตต์ พงษ์สิงห์วิทยา ส.ก.เขตลาดกระบัง นายสิทธิชัย วีรกุลสุนทร ส.ก.เขตจอมทอง และส.ก.อีกหลายท่านยังได้สนับสนุนและเห็นชอบกับญัตตินี้ โดยกล่าวว่า ผู้ว่าฯชัชชาติได้หารือกับสภากทม.เกี่ยวกับการพัฒนาสำนักงานพัฒนาที่อยู่อาศัยมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นการยกฐานะชุมชนไม่ให้เป็นชุมชนแออัด การระดมสมองเพื่อแก้ปญหานี้ก็เพื่อให้คนกรุงเทพฯ ได้มีที่อยู่อาศัยที่ดีที่สุด
ทั้งนี้ สภากรุงเทพมหานครมีมติเห็นชอบรับหลักการร่างข้อบัญญัติฉบับนี้ และให้ตั้งคณะกรรมการวิสามัญเพื่อพิจารณาร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง สำนักงานพัฒนาที่อยู่อาศัย พ.ศ. …. จำนวน 17 ท่าน กำหนดแปรญัตติ 15 วัน และพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน
วอนกทม.ดูแลความปลอดภัยในโรงเรียนและศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก พร้อมจัดหน่วยบริการตรวจสุขภาพจิตผู้ปฏิบัติงานต่อเนื่อง
นายกิตติพงศ์ รวยฟูพันธ์ ส.ก.เขตทุ่งครุ ยื่นญัตติด่วนด้วยวาจาเพื่อสอบถามความปลอดภัยในโรงเรียน โดยกล่าวว่า นอกจากเรื่องความปลอดภัยในโรงเรียนแล้ว การตรวจสุขภาพจิตของผู้ปฏิบัติงานมีความจำเป็นมาก การตรวจความเครียดของครูและบุคลากรในโรงเรียนเป็นประจำอย่างสม่ำเสมอ รวมถึงผู้ที่ต้องปฏิบัติงานโดยตรงกับนักเรียน เช่น คนขับรถ เรามีมาตรการอย่างไร หากไม่มีจะมีความเข้มข้นอย่างไร ทั้งนี้ความสูญเสียจะแพงกว่าต้นทุนการป้องกันเสมอ
จากนั้นส.ก.ได้ร่วมกันอภิปรายในญัตตินี้ ประกอบด้วย นายพุทธิพัชร์ ธันยาธรรมนนท์ ส.ก.เขตยานนาวา กล่าวว่า ศูนย์เด็กเล็กในกทม.ขาดการดูแลทั้งการป้องกันไฟดูด การป้องกันปัญหาการแพร่ระบาดของยุง และการปรับปรุงขั้นพื้นฐานให้ได้มาตรฐาน รวมทั้งการประสานงานโรงพยาบาล สถานีดับเพลิง ควรมีช่องทางการประสานที่ชัดเจน เพื่อให้ศูนย์เด็กเล็กเป็น Safe Zone มีการป้องกันอย่างแน่นหนา
นายยิ่งยงค์ จิตเพียรธรรม ส.ก.เขตทวีวัฒนา กล่าวว่า ที่ผ่านมาโรงเรียนในพื้นที่เขตทวีวัฒนามีการซักซ้อม เพื่อสอนให้เด็กรู้จักคนร้าย การแจ้งเหตุเมื่อพบบุคคลต้องสงสัยและประสานเจ้าหน้าที่มาระงับเหตุเพื่อไม่เกิดโศกนาฏกรรมเกิดขึ้นอีก ซึ่งโรงเรียนกทม.ทุกแห่งควรมีการซักซ้อมลักษณะนี้เช่นเดียวกัน
นายณภัค เพ็งสุข ส.ก.เขตลาดพร้าว กล่าวว่า ปัญหาสุขภาพจิตเป็นเรื่องสำคัญและเร่งด่วนที่กทม.ต้องเร่งเข้ามาดูแล ควรจัดให้มีหน่วยบริการเคลื่อนที่มีนักจิตวิทยาดูแลกลุ่มผู้ปฏิบัติงานที่มีความเข้มงวด และกลุ่มนักเรียนนักศึกษา เป็นพิเศษ
นายสุรจิตต์ พงษ์สิงห์วิทยา ส.ก.เขตลาดกระบัง กล่าวว่า 4 มาตรการป้องกันศูนย์เด็กเล็ก 278 แห่งทั่วกทม. ประกอบด้วย 1.สำรวจและติดตั้งกล้อง CCTV ให้ครอบคลุม 2.สำรวจและปรับปรุงศูนย์เด็กเล็กที่ไม่มีประตูรั้วและทางออกฉุกเฉิน 3.สร้างระบบขอความช่วยเหลือฉุกเฉิน 4.จ้างเหมารปภ. คนในชุมชน หรือ อปพร.
นายณรงค์ รัสมี ส.ก.เขตหนองจอก กล่าวว่า สิ่งสำคัญที่สุดคือศูนย์เกิดขึ้นมาจากชุมชนและสถานที่ตั้งก็อยู่ในชุมชน การปรับปรุงเปลี่ยนแปลงทำได้ยากหากฝ่ายบริหารไม่เข้ามาดูแล การแก้ปัญหาต้องร่วมมือกันทั้งฝ่ายสภาและฝ่ายบริหารเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน
นายพีรพล กนกวลัย ส.ก.เขตพญาไท กล่าวว่า เนื่องจากโรงเรียนหลายแห่งมีนักเรียนน้อยลงทำให้มีอาคารและห้องเรียนว่างหลายแห่ง จึงควรโอนย้ายศูนย์เด็กเล็กให้มาอยู่ในโรงเรียนเพื่อให้สามารถจัดสรรงบประมาณดูแลได้ครอบคลุม และดูแลบุคลากรได้อย่างทั่วถึง รวมทั้งสามารถจัดรูปแบบการเรียนการสอนได้ต่อเนื่อง สามารถปูพื้นฐานทางการศึกษาได้ตั้งแต่เด็กก่อนวัยเรียน
นายสุทธิชัย วีรกุลสุนทร ส.ก.เขตจอมทอง กล่าวว่า จากข้อมูลเกี่ยวกับอาวุธปืนขนาดเล็ก หรือ SAS ของสวิตเซอร์แลนด์ระบุว่าประเทศที่พลเรือนครอบครองปืนสูงสุด ประเทศไทยครอบครองอาวุธปืนขนาดเล็กในปี 2017 เป็นอันดับ 13 ของโลก ประมาณ 10 ล้านกระบอก นับเป็นประเทศที่มีการครอบครองปืนสูงที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประกอบกับกระทรวงสาธารณสุขมีการเผาทำลายยาเสพติดกว่า 40,000 กิโลกรัม จาก 185 คดี และข้อมูลจากระบบศูนย์กลางการให้บริการผู้ป่วยจิตเวชของประเทศไทย กรมสุขภาพจิต ประจำปี 2564 พบคนในกทม. มีคนติดแอลกอฮอล์ 702 คน ติดยาบ้า 1,085 คน ติดสารเสพติดอื่น 2,611 คน และเป็นโรคซึมเศร้า 5,966 คน ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วงมาก และผู้บริหารกทม.ควรให้ความสำคัญ
ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวชี้แจงว่า เรื่องความปลอดภัยในโรงเรียน เป็นเรื่องสำคัญและสอดคล้องกับนโยบายเส้นเลือดฝอย ซึ่งหัวใจของงานคือการพัฒนาคนที่เราให้ความสำคัญ กทม.เราต้องรับผิดชอบชีวิตเด็กที่พ่อแม่ส่งมาให้ดูแลในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กกว่า 290 แห่ง มีเด็กรวมกว่าหมื่นคน ทั้งนี้เด็กส่วนหนึ่งก็ไม่ได้อยู่ในการกำกับดูแล เนื่องจากอยู่ในศูนย์อื่นตามชุมชนที่ไม่ได้มาตรฐาน ซึ่งกทม.ต้องพยายามเข้าไปดูแลและดึงเข้าสู่ระบบให้มากขึ้น เด็กช่วงอายุ 0-6 ปี มีความสำคัญมากที่สุด หากเราจะพัฒนาแต่การศึกษาในโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยโดยไม่ดูแลเด็กเล็ก สุดท้ายการศึกษาก็จะไม่มีคุณภาพ จึงต้องกลับมาทบทวนความปลอดภัยทั้งหมด รวมถึงปัญหาไฟดูด สุขภาวะ อาหาร สิ่งแวดล้อม ต้องคิดในองค์รวม ซึ่งจะมอบหมายให้หน่วยงานกลับไปทบทวนและประเมินความเสี่ยงทั้งหมดใหม่ จัดทำระเบียบ คู่มือปฏิบัติงาน และทำวิดีโอคลิปง่าย ๆ สอนแนวทางปฏิบัติแก่ผู้เกี่ยวข้อง ทั้งนี้การทำปุ่มฉุกเฉินให้ครูได้กดเพื่อแจ้งเหตุอาจทำได้ยาก ในอนาคตจึงอาจจะพัฒนาเป็นแอปพลิเคชัน เพื่อให้สอดคล้องกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป โดยจะเร่งปรับปรุงและนำมารายงานสภากทม.ในระยะต่อไป