Search
Close this search box.
บทพิสูจน์ ผู้ว่าฯ ‘ชัชชาติ’ เมื่อขุนพลสีส้ม รุกทุจริต กทม.

กรุงเทพธุรกิจ ผ่านการบริหารงาน มาครึ่งทาง เข้าสู่ปีที่ 3 สำหรับการ ดำรงตำแหน่ง “พ่อเมืองหลวง” ของ “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์”

กระแสที่ร้อนแรงในช่วงแรกเริ่ม กำลังลดน้อยลงถอยลง และเริ่มมีกระแสลบ ที่ถูกตรวจสอบการทำงาน ในองคาพยพของ กทม.

โดยเฉพาะสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร หรือ ส.ก.จากค่ายสีส้ม ที่มีข้อมูลจากสภาฯกทม.อยู่เต็มมือ จ่อคิวออกมา แฉขบวนการ ความไม่ชอบมาพากลใน “ฝ่ายบริหาร กทม.” ซึ่งแน่นอนว่า “ชัชชาติ” ย่อมไม่พ้น ถูกนำไปเชื่อมโยงในทุกเรื่อง

การทำงานของ “ส.ก.สีส้ม” มีการส่งข้อมูลให้ “สส.สีส้ม” ใช้เวทีการเมืองภาพใหญ่ ชำแหละปมที่คาดการณ์ว่าจะนำไปสู่การทุจริต เพราะรู้ดีว่าเวที “ส.ก.” เสียงอาจจะไม่ดังเท่าเวที “สส.”

ล่าสุดพรรคก้าวไกล ส่ง “3 ขุนพล” ประกอบด้วย “ภัทราภรณ์ เก่งรุ่งเรืองชัย” ส.ก.เขตบางซื่อ “ศุภณัฐ มีนชัยนันท์” สส. กทม. “วิโรจน์ ลักขณาอดิศร” สส.บัญชีรายชื่อ ออกมาแฉขบวนการ-วิธีการ การจัดซื้อเครื่องออกกำลังกายราคาสูงกว่าท้องตลาด ซึ่งอาจจะนำมาสู่การทุจริต

โดยมีการเปิดเผยทฤษฎี “สามล็อก” เพื่อกำหนดว่าเครื่องออกกำลังกายยี่ห้อไหน ถึงจะชนะ โดยยี่ห้อดังกล่าวจะมีเพียง “บริษัทเดียว” ชนะการประมูลอยู่เสมอ

ล็อกแรก “ล็อกสเปก” จะมีการระบุ คำสำคัญเมื่ออ่านแล้วชัดเจนมากว่าต้องเป็นยี่ห้อไหน เช่น เครื่องออกกำลังกายต้องมีหน้าจอแบบ high contrast display โปรแกรมออกกำลังกายต้องมี leaning, turning, crouching เป็นการล็อกให้ยี่ห้อ Pulse Fitness ซึ่งมีอยู่บริษัทเดียวคือ บริษัทจีน WQN fitness

ล็อกสอง “ล็อกสืบราคา” จะมีการทำให้ราคากลางสูง โดยมักมีข้อผูกพันอะไร บางอย่าง เช่น ถ้ามีการเขียนสเปกให้เป็น ของยี่ห้อ Pulse Fitness ก็จะมีการสืบราคาซึ่งอย่างน้อย 1 ใน 3 เจ้านั้น ต้องเป็นบริษัท A ตลอดเวลา หรือถ้าเป็นยี่ห้อ WQN fitness ก็จะสืบราคาจากบริษัท B ทุกครั้ง

ล็อกสาม “ล็อกผลงาน” ต้องใช้ล็อก ผลงานเพื่อสกัดอีกชั้น คือต้องมีผลงาน 5 ล้านบาท อย่างน้อย 3 สัญญาในเวลา 4 ปี โดยจากข้อมูลพบว่า “กทม.” มีการปรับเรื่องผลงานอยู่ทุกครั้ง

“ศุภณัฐ” ชกหมัดตรงระบุว่า “ย้อนไปยุคอดีตผู้ว่าฯกทม. มีการล็อกสเปกหลายโครงการ ซึ่งไม่ได้หมายถึงอดีตผู้ว่าเกี่ยวข้อง ส่วนยุคนี้จากที่มีข้อมูล มีการล็อกสเปกอย่างต่ำ 12-13 จากทั้งหมด 14 โครงการ”

“ภัทราภรณ์” พบว่า การประมูลตั้งแต่ปี 2564 จะมีแค่ 2-3 เจ้าเท่านั้น ยกตัวอย่าง “บริษัท V” จดทะเบียนจัดตั้งบริษัท 4 ต.ค. 2564 ยื่นประมูลเครื่องออกกำลังกายครั้งแรกในวันที่ 14 ต.ค. แต่ชนะประมูลโครงการมูลค่าประมาณ 3,495,000 บาท โดยมีการล็อกสเปกของครุภัณฑ์

อย่างไรก็ตาม ปมสงสัยจัดซื้อเครื่องออกกำลังกาย “ฝ่ายบริหาร กทม.” แก้เกมกลับทันควัน โดย “ณัฐพงศ์ ดิษยบุตร” รองปลัดกทม. ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการติดตามการต่อต้านการทุจริตของกรุงเทพมหานคร แถลงผลสอบศูนย์นันทนาการของกรุงเทพมหานคร จำนวน 7 โครงการ

โดยเริ่มสอบตั้งแต่วันที่ 17 มิ.ย.2567 โดยให้เวลา 30 วัน นับตั้งแต่คณะกรรมการสืบสวนรับทราบคำสั่งในวันที่ 20 มิ.ย. และครบรอบ 1 เดือนเมื่อวันที่ 19 ก.ค.2567 โดยได้รายงานต่อผู้ว่าฯ กทม. ทุก 7 วัน

ผลการสอบสวนเบื้องต้นพบเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้อง การดำเนินการจัดซื้อ รวม 25 ราย หลังจากนี้จะมีการสอบสวนในเชิงลึกต่อ สำหรับการดำเนินการหลังจากนี้จะแบ่งเป็น 3 ส่วน 1. ดำเนินการทางอาญา โดยส่งต่อ “ป.ป.ช.” ดำเนินการตามกฎหมาย 2. ดำเนินการทางวินัย โดยตั้งกรรมการสอบสวนภายใน 120 วัน 3. ดำเนินการทางแพ่ง พิจารณาหาผู้รับผิดมาคืนเงินให้แก่กทม.

ขณะเดียวกัน “วิโรจน์” เปิดข้อกังวลการตั้ง “คณะกรรมการวิสามัญฯ-คณะอนุฯ” ตัดงบประมาณโครงการที่ไม่จำเป็น หรือมีความล่าช้าในการดำเนินโครงการ เมื่อตัดลดแล้วมารวมกันเรียกว่า “งบแปร” โดยมีอยู่ประมาณ 4,000-5,000 ล้านบาทต่อปี

โดยจะเป็นอำนาจของ “ผู้ว่าฯกทม.” และ “ส่วนงานราชการกทม.” ที่จะนำรายงานจากคณะกรรมการสามัญต่างๆ หรือคำอภิปรายของ “ส.ก.” รวมถึงข้อคิดเห็นของผู้อำนวยการเขต มาพิจารณาว่าเงินจำนวนดังกล่าวควรใส่โครงการไหนที่ตอบโจทย์ประชาชนในพื้นที่

“ส.ก. จะไม่เข้าไปเกี่ยวข้องกับงบแปร เพราะถือเป็นอำนาจของฝ่ายบริหาร แต่ ส.ก.จะเข้าไปกำกับดูแลติดตาม ว่าโครงการที่ใช้งบแปรนั้น ดำเนินการอย่างรวดเร็วหรือล่าช้า มีความโปร่งใส ในการจัดซื้อจัดจ้างและดำเนินการหรือไม่ แต่ถ้ามองงบแปรในมุมไม่ดี ก็จะเป็นปัญหา”

สำหรับปัญหาถูกประชาชนร้องเรียนเรื่องทุจริตในกทม. ที่ผ่านมา ผู้ว่าฯ”ชัชชาติ” ได้พยายามทำงานเชิงรุก โดยตั้งศูนย์ปฏิบัติการ ต่อต้านการทุจริต กทม. เป็นช่องทางรับเรื่อง

ล่าสุดเดือน มิ.ย. ชัชชาติ ได้อัปเดตว่า มีประชาชนร้องเรียนการทุจริตมาจำนวน 35 เรื่อง โดยร้องเรียนผ่านระบบ Traffy Fondue จำนวน 28 เรื่อง อีก 7 เรื่องร้องเรียนผ่านทางผู้ว่าฯ กทม. และ รองปลัด กทม.

โดยใน 35 เรื่อง เป็นการร้องเรียนฝ่ายโยธาของสำนักงานเขต 6 เรื่อง ร้องเรียนเกี่ยวกับเทศกิจ 7 เรื่อง ฝ่ายรายได้ 1 เรื่อง และเรื่องอื่นอีก ๆ อีก 21 เรื่อง ซึ่งจะต้องขยายผลว่ามีประเด็นเพิ่มเติมอย่างไร

“ชัชชาติ” ให้ความมั่นใจว่า “กทม.ในยุคนี้ เท่าที่มีเรื่องซึ่งประชาชนกล้าพูดกับเรามากขึ้นหรือว่าชี้เบาะแสกับ กทม.มากขึ้น ช่วงยุคนี้ก็จะได้เห็นการร้องเรียนที่นำไปสู่การแก้ปัญหา”

อย่างไรก็ตาม ในมิติการเมือง ก็เป็นที่น่าสังเกตว่า สัดส่วนของ “ส.ก.” 50 เขต แบ่งเป็น พรรคเพื่อไทย 20 เขต พรรคก้าวไกล 14 เขต พรรคประชาธิปัตย์ 9 เขต พรรคไทยสร้างไทย 2 เขต กลุ่มรักษ์กรุงเทพ 2 เขต พรรคพลังประชารัฐ 2 เขต ผู้สมัครอิสระ 1 เขต แต่กลับไม่มี ส.ก. เพื่อไทย ออกมาปกป้องผู้ว่าฯ”ชัชชาติ” แม้แต่คนเดียว ปล่อยให้ “ส.ก.ก้าวไกล” ถล่มทั้งหน้าฉาก-หลังฉาก

อีกทั้งยังมีกระแสข่าวอีกด้านหนึ่งว่า “ส.ก.เพื่อไทย” ไม่แฮปปี้กับการทำงานสไตล์ “ชัชชาติ” และพวกพ้อง ที่ผู้ว่าฯ มักให้อำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด จนอาจ ละเลยการตรวจสอบคนกันเอง และ คนใกล้ตัว

ที่ผ่านต้องยอมรับว่า “กทม.” เหมือนดินแดนสนธยา บรรดา “ส.ก.ยุคเก่า” แม้จะมาจากต่างพรรค แต่มักจะเป็นพวกเดียวกัน เปิดโต๊ะเจรจาภาษาการเมือง ซึ่งสามารถตกลงกันได้ แตกต่างจาก “ขุนพลสีส้ม” ที่เสมือนปลาต่างน้ำ เมื่อมีกลิ่นทุจริต จึงไม่เกรงกลัวใคร

วาระที่เหลือต่อจากนี้ ย่อมเป็นบทพิสูจน์ของผู้ว่าฯ “ชัชชาติ” ที่แม้จะเอาจริงเอาจังกับการปราบทุจริตใน กทม.แต่จะแก้ปัญหาและบริหารจัดการได้มากน้อยแค่ไหน

เพราะบรรดา “นักการเมืองค่ายแดง” รู้เส้นสนกลใน มีความช่ำชองในการใช้งบประมาณให้เกิดประโยชน์สูงสุด จนผู้ว่าฯ และทีมก็อาจเอาไม่อยู่

 



ที่มา:  นสพ.กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 31 ก.ค. 2567

แชร์ข่าว:
กรุงเทพฯ มีอะไร อัพเดทข่าวสารฉับไว กิจกรรมที่น่าสนใจ และมีส่วนร่วมได้ รวมไว้ให้ที่นี่

©2022 สงวนลิขสิทธิ์ กรุงเทพมหานคร

สำนักงานประชาสัมพันธ์ สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร 173 ถนนดินสอ แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กทม. 10200