ค่าจ้างเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียว – ‘บีทีเอส’เปิดทางเจรจาเคลียร์เงิน
“ชัชชาติ” แจงสภา กทม. เตรียมงบจ่ายบีทีเอส
กรุงเทพธุรกิจ “บีทีเอส” พร้อมเจรจา กทม. เคลียร์หนี้จ้างเดินรถและซ่อมบำรุง ระบุดอกเบี้ยเพิ่มทุกวันหวั่นทะลุ 4 หมื่นล้าน “คีรี” ลั่นเป้าหมายต้องการรับเงินสด เพื่อเสริม สภาพคล่อง และบริการผู้โดยสาร เผยดอกเบี้ย วันละ 7 ล้านบาท ขณะที่แนวทางเจรจาสัมปทาน เชื่อ กทม.อยู่ระหว่างการศึกษา ชี้หากเปิด PPP ยังมีเงื่อนไขต้องจ้างเดินรถถึงปี 2585
ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษา เมื่อวันที่ 26 ก.ค.2567 ให้กรุงเทพมหานคร (กทม.) และบริษัทกรุงเทพธนาคม จำกัด (KT) ชำระหนี้ค่าจ้างงานเดินรถไฟฟ้าและซ่อมบำรุง (O&M) ส่วนต่อขยายให้ บริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC ผู้ให้บริการรถไฟฟ้า BTS วงเงินรวม 11,755 ล้านบาท
สำหรับหนี้การเดินรถดังกล่าวครอบคลุมการเดินรถส่วนต่อขยายที่ 1 ช่วงสะพานตากสิน-วงเวียนใหญ่-บางหว้า และช่วงอ่อนนุช-แบริ่ง และส่วนต่อขยายที่ 2 ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ และหมอชิต-คูคต
ขณะที่หนี้ดังกล่าวครอบคลุมการเดินรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายระหว่างเดือน พ.ค.2562-พ.ค.2564 โดย BTS ยื่นฟ้องเมื่อวันที่ 15 ก.ค.2564 และศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาให้ใช้หนี้กับเอกชน เมื่อวันที่ 7 ก.ย.2565 รวมแล้วใช้เวลา ดำเนินคดีถึงที่สิ้นสุด 3 ปี
สำหรับสัญญาจ้างเดินรถส่วนต่อขยาย ที่ 1 ช่วงสะพานตากสิน-วงเวียนใหญ่-บางหว้า และช่วงอ่อนนุช-แบริ่ง อยู่ในลักษณะกรุงเทพมหานคร จ้าง KT จากนั้น KT จ้าง BTS
ส่วนต่อขยายที่ 2 ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ เป็นการที่ กทม.มอบหมาย KT จากนั้น KT จ้าง BTS
ทั้งนี้ การที่ KT เป็นผู้จ้าง BTS ทำให้กรุงเทพมหานคร ต่อสู้คดีในประเด็น สัญญาจ้างเป็นการทำสัญญาระหว่าง เอกชนกับเอกชน จึงทำให้ไม่เข้าลักษณะสัญญาทางปกครอง รวมถึง KT ไม่มีอำนาจเข้าทำสัญญาว่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุง และสัญญาจ้างเป็นสัญญาไม่ชอบเพราะจงใจฝ่าฝืนมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) และขัดต่อกฎหมายหลายฉบับ
“คีรี”ชี้บทพิสูจน์สัญญาถูกกฎหมาย
นายคีรี กาญจนพาสน์ ประธาน กรรมการ บริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า BTS ได้พิสูจน์ ข้อเท็จจริงแล้วว่าสัญญาจ้าง O&M ดำเนินการถูกต้องตามกฎหมาย และได้รับความเป็นธรรมจากศาลปกครองสูงสุด ซึ่งต้องใช้เวลากว่า 3 ปี ในการพิสูจน์ข้อเท็จจริงว่าเอกชนทำงานอยู่บนพื้นฐานของความถูกต้อง
“BTS ทำงานบนพื้นฐานความถูกต้อง และได้ปรึกษาทีมกฎหมายอย่างครบถ้วน ถ้าสัญญาไม่พร้อมหรือไม่ถูกต้อง เราไม่ลงนามอย่างแน่นอน เพราะเป็นบริษัทมหาชน ดังนั้นผมต้องรับผิดชอบต่อผู้ถือหุ้นทุกคน รวมถึงกลุ่มผู้โดยสาร และที่ผ่านมาเรายืนยันเสมอมาว่าจะไม่หยุดเดินรถอย่างแน่นอน” นายคีรี กล่าว
ทั้งนี้ เบื้องต้น BTS รับทราบจากข่าวว่า กทม.พร้อมชำระหนี้ตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด 11,755 ล้านบาท แต่อยากให้ กทม.และ KT คำนึงถึงยอดหนี้ในส่วนที่เหลือด้วยเนื่องจากดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นทุกวันเฉลี่ย 7 ล้านบาทต่อวัน
รวมทั้ง BTS ไม่อยากให้ดอกเบี้ย เดินทุกวัน จึงต้องการให้กรุงเทพมหานครและ KT ชำระเงินส่วนนี้ทันที เพื่อให้เอกชนนำไปเสริมสภาพคล่องและพัฒนาบริการแก่ผู้โดยสาร
ทั้งนี้ BTS ยินดีและพร้อมที่จะเจรจากับกรุงเทพมหานคร และ KT ในการหาทางออกร่วมกัน เพื่อให้บริการสาธารณะเป็นไปได้อย่างต่อเนื่อง และเพื่อให้ปัญหาเหล่านี้หมดไป โดยหากทั้งสองหน่วยงานมีแนวทางอื่นๆ ที่อยากให้พิจารณา บีทีเอส ก็ยินดีและพร้อมที่จะเจรจา หากข้อเสนอเหล่านั้นมีความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย และเพื่อเกิดประโยชน์ต่อผู้โดยสาร
นายคีรี กล่าวว่า รู้สึกดีใจและเป็นชัยชนะให้กับตัวเองที่ต่อสู้อย่างบริสุทธิ์มาโดยไม่ยอมแพ้ และเชื่อว่าลูกหนี้เข้าใจเพราะสัญญาและการจัดซื้อจัดจ้างไม่มีอะไรผิด
“สิ่งที่ทำมาหรือสิ่งที่ผมเคยพูด BTS พวกเราทำอะไรตรงไปตรงมา และทำในสิ่งที่ถูกต้องตลอดเวลา หวังว่ากรุงเทพมหานครและ KT จะเข้าใจถึงเจตนารมณ์ของเอกชน ที่ไม่เคยหยุดให้บริการเดินรถ และควรให้ฝ่ายกฎหมายเร่งพิจารณาแนวทางการชำระหนี้แก่ BTS โดยเร็ว” นายคีรี กล่าว
หนี้ค่าจ้างเดินรถเฉียด 4 หมื่นล้าน
สำหรับหนี้ค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุงสิ้นสุด ณ วันที่ 25 ก.ค.2567 มีจำนวนรวม 39,402 ล้านบาท แบ่งออกเป็น 4 ส่วน ประกอบด้วย
1.ยอดหนี้ตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด เมื่อวันที่ 26 ก.ค.2567 ที่ให้กรุงเทพมหานครและ KT ร่วมกันชำระให้ BTS เป็นเงินจำนวน 11,755 ล้านบาท โดยส่วนนี้เชื่อว่ากรุงเทพมหานคร และ KT จะดำเนินการชำระหนี้ภายใน 180 วันหลังมีคำสั่งศาลปกครองสูงสุด
2.ยอดหนี้ที่ BTS ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลาง เมื่อวันที่ 22 พ.ย. 2565 ให้กรุงเทพมหานครและ KT ชำระหนี้ค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุงให้กับบีทีเอสของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวในเส้นทางส่วนต่อขยายที่ 1 และส่วนต่อขยายที่ 2 ซึ่งเป็นหนี้ค่าจ้างตั้งแต่เดือน มิ.ย.2564 ถึง ต.ค.2565 เป็นเงินจำนวนกว่า 11,811 ล้านบาท ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาของ ศาลปกครองกลาง
3.ยอดหนี้ค่าจ้างงานเดินรถและซ่อมบำรุงของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวในเส้นทางส่วนต่อขยายที่ 1 และส่วนต่อขยายที่ 2 ตั้งแต่เดือน พ.ย.2565 ถึง มิ.ย.2567 ที่ยังค้างชำระ เป็นเงินจำนวนกว่า 13,513 ล้านบาท โดยหนี้ส่วนนี้ BTS ยังไม่ได้ดำเนินการยื่นฟ้องเพิ่มเติม เพียงแต่ทำหนังสือวางบิลเพื่ออัปเดตจำนวนหนี้คงค้างให้กับกรุงเทพมหานครในทุกเดือน
4.ค่าจ้างงานเดินรถและซ่อมบำรุง ของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวใน เส้นทางส่วนต่อขยายที่ 1 และส่วนต่อขยายที่ 2 ในอนาคต ตั้งแต่ปัจจุบันจนถึงสิ้นสุดสัมปทาน ปี 2585 ที่จะหมดอายุสัญญาสัมปทาน
สำหรับจำนวนหนี้ทั้งหมดเป็นหนี้ที่เกิดขึ้นในลักษณะเดียวกันกับกรณีศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษา ดังนั้นบีทีเอสจึงยังไม่มีแนวทางยื่นฟ้องเพิ่มเติม โดยเชื่อว่ากรุงเทพมหานครและ KT จะชำระหนี้ตามกำหนด เพราะวันนี้ได้พิสูจน์แล้วว่าสัญญางานจ้างเดินรถและซ่อมบำรุงนั้นเป็นไปอย่างถูกต้องตามกฎหมาย
ดังนั้น หากกรุงเทพมหานครและ KT จ่ายล่าช้าออกไปจะส่งผลให้ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นทุกวันและน่าจะทำให้หนี้ส่วนนี้เพิ่มขึ้นถึง 40,000 ล้านบาท
พร้อมเปิดเจรจา กทม.เคลียร์หนี้
นายคีรี กล่าวว่า ความเป็นไปได้ในการเจรจาขยายสัมปทานเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียว เพื่อแลกกับภาระหนี้ที่เกิดขึ้นนั้น ปัจจุบันยังไม่มีการเจรจาในเรื่องนี้ โดยเชื่อว่ากรุงเทพมหานครน่าจะอยู่ในขั้นตอนของการศึกษารูปแบบ เพื่อบริหารโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว สายหลัก คือ สายสุขุมวิท หมอชิต-อ่อนนุช และสายสีลม สนามกีฬาแห่งชาติ-สะพานตากสิน ที่กำลังจะหมดสัญญากับบีทีเอสในปี 2572
ทั้งนี้หาก กทม.จะเปิดให้เอกชนร่วมลงทุนในรูปแบบ PPP ก็ดำเนินการได้ แต่หากได้เอกชนรายใหม่เข้ามาร่วมทุน ก็ต้องดำเนินการตามสัญญาสัมปทานที่มีอยู่ โดยจะต้องจ้าง BTS เดินรถตลอดแนวเส้นทางกว่า 60 กิโลเมตร จนครบกำหนดอายุสัญญาสัมปทานในปี 2585
ชี้ขยายสัมปทานเป็นเรื่องอนาคต
นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ BTSC กล่าวว่า การเจรจาขยายสัมปทานเดินรถไฟฟ้า สายสีเขียวเป็นเรื่องของอนาคต เนื่องจากขณะนี้กรุงเทพมหานครยังไม่ได้ประสานเจรจา คงต้องให้เวลาดูรายละเอียดและ คำตัดสินของศาลปกครองสูงสุดก่อน
ทั้งนี้ BTS ยืนยันว่ามีความพร้อมเจรจากับ กทม. และ KT ในทุกรูปแบบเพื่อหาทางออกแก้ไขปัญหาภาระหนี้ ซึ่ง BTS ต้องการนำเงินส่วนนี้ไปจ่ายหนี้หุ้นกู้ที่ครบกำหนดชำระ พร้อมทั้งปรับปรุงบริการรถไฟฟ้า ทั้งในเรื่องเทคโนโลยีบริการ และปรับปรุงสถานีรถไฟฟ้า
รวมทั้งหากกรุงเทพมหานครมีแนวทางเปิด PPP จัดหาเอกชนเข้ามาให้บริการรถไฟฟ้าสายสีเขียวสายหลัก ก็ต้องดำเนินการตามสัญญาสัมปทานที่มีอยู่กับ BTS
โดยผู้ได้รับสัญญาร่วมลงทุนจะต้องจ้างบีทีเอสเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวทั้ง สายหลัก และส่วนต่อขยายที่ 1 ช่วงสะพานตากสิน-วงเวียนใหญ่-บางหว้า และช่วงอ่อนนุช-แบริ่ง และส่วนต่อขยายที่ 2 ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ และช่วงหมอชิตสะพานใหม่-คูคต จนกว่าจะครบกำหนดในปี 2585
ทั้งนี้ ตามสัญญาสัมปทานในปัจจุบันระบุไว้ว่า หาก BTS หมดอายุสัญญาสัมปทานเดินรถส่วนหลักในปี 2572 หลังจากนั้นจะเป็นสัญญาอัตโนมัติ ในลักษณะสัญญาจ้างเหมา ให้บีทีเอสเดินรถโครงการส่วนนี้ต่อไปจนถึงปี 2585 และไปหมดอายุสัญญาสัมปทานตลอดแนวเส้น ทางกว่า 60 กิโลเมตร พร้อมกันทั้งส่วนหลัก และส่วนต่อขยายที่ 1 และส่วนต่อขยายที่ 2
ดังนั้นหากมีเอกชนรายใหม่เข้ามารับสัมปทานสายสีเขียวส่วนหลัก ก็จะต้องจ้าง BTS ต่อเนื่อง หรืออีกแนวทาง คือ กรุงเทพมหานครต้องยกเลิกสัญญาและจ่ายชดเชย
“ชัชชาติ”เตรียมงบจ่ายหนี้ BTS
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เข้าร่วมการประชุม สภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมสามัญ สมัยที่สาม (ครั้งที่ 5) ประจำปี 2567 โดยมีสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) คณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมการประชุม เมื่อวันที่ 30 ก.ค.2567
นายชัชชาติ กล่าวในที่ประชุมว่า วันนี้เป็นการเสนองบประมาณรายจ่ายประจำของปี 2568 วงเงิน 90,000 ล้านบาท ซึ่งหลักการของ กทม.จะไม่มีการกู้เงิน แต่จะใช้เงินให้เท่ากับการประมาณการรายรับของกรุงเทพมหานคร ซึ่งกรุงเทพมหานครอาจจะใช้เงินเกินงบประมาณเนื่องจากมีภาระค่าใช้จ่ายในเรื่องของรถไฟฟ้า BTS ซึ่งเป็นภาระค่าใช้จ่ายที่ต่อเนื่องมา
บรรยายใต้ภาพ
ชัชชาติ สิทธิพันธุ์
ที่มา: นสพ.กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 31 ก.ค. 2567