Flag
Search
Close this search box.
กทม.ชี้ผลสอบมีมูลจนท.โกง จัดซื้อ’เครื่องออกกำลังกาย’

“กทม.” แถลงผลสอบปม “ซื้อเครื่องออกกำลังกาย” มีมูลราคาสูงจริง พบ “จนท.” ส่อทุจริต 25 ราย สั่งตั้ง “คกก.” สอบวินัยร้ายแรง ภายใน 180 วัน ขณะที่ “ชัชชาติ” รับ “กทม.” มีเรื่องไม่โปร่งใสติดมานาน ย้ำเอาจริงไม่เอื้อประโยชน์ใคร ให้ปลัดฯสอบวินัย

ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (ดินแดง) เมื่อวันที่ 30 ก.ค.67 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวก่อนการประชุมสภากรุงเทพมหานครถึงกรณีการสืบสวนข้อเท็จจริงเรื่องการจัดซื้อเครื่องออกกำลังกายของศูนย์กีฬา กทม. ว่า ต้องยอมรับว่ากรุงเทพมหานครเรื่องความไม่โปร่งใสยังมีอยู่ เป็นเรื่องที่อาจติดมานาน เราทราบผลการสอบสวนแล้วต้องขอบคุณคณะกรรมการสอบสวนที่ทำเสร็จใน 30 วัน ผลสอบสวน คือ มีมูลราคาสูงจริง และมีข้อกำหนดบางอย่างที่อาจเกินความจำเป็นไป มีผู้เกี่ยวข้อง 25 ราย สัปดาห์ที่ผ่านมาได้มีการย้ายออกไปแล้ว 3 ราย ซึ่งเป็นบุคคลที่มีอำนาจโดยตรง เพื่อไม่ให้มายุ่งเกี่ยวกับการสอบสวน จากนี้ให้ปลัดกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นเรื่องของฝ่ายข้าราชการประจำ ออกคำสั่งตั้งกรรมการสอบทางวินัยต่อไป

“ในเรื่องนี้ต้องเดินไป 2 ทาง ของเราดูเรื่องทางวินัย ก็ต้องไปดูว่าผิดอย่างไร ทำตามระเบียบหรือไม่ ส่วนเรื่องทุจริตเป็นคดีอาญา เป็นเรื่องของ ป.ป.ช., ป.ป.ท. และ สตง. ที่จะดำเนินการคู่ขนานกันไป เราเอาจริงเอาจัง ต้องขอบคุณท่าน สส. และทุกคนที่ให้ความสนใจเรื่องนี้ ฝากเรื่อง พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างที่เราใช้กันทุกวันนี้ ทุกหน่วยงานใช้เหมือนกันหมด ถ้ามีช่องโหว่ตรงไหน ก็ไม่ได้มีเฉพาะ กทม. ก็ฝากให้ทั้ง สส. สภาใหญ่ สภา กทม. ช่วยกันให้เรื่องนี้เป็นประเด็นใหญ่ เพราะเป็นเรื่องสำคัญ สุดท้ายอาจต้องไปปรับแก้เรื่องระเบียบต่างๆ ทางเราขอลุยเต็มที่และไม่ไปเอื้อประโยชน์ให้ใครทั้งสิ้น” นายชัชชาติ กล่าว

วันเดียวกัน กรุงเทพมหานครได้มีการแถลงผลสืบสวนข้อเท็จจริงการจัดซื้อเครื่องออกกำลังกายของศูนย์กีฬา กทม. หลัง ครบเวลาสอบสวน 30 วัน โดย นายณัฐพงศ์ ดิษยบุตร รองปลัดกรุงเทพมหานคร ในฐานะผู้อำนวยการศูนยปฏิบัติการติดตามการต่อต้านการทุจริตของกรุงเทพมหานคร (ศตท.กทม.) เป็นผู้แถลงร่วมกับ นายเอกวรัญญู อัมระปาล โฆษกของกรุงเทพมหานคร และ น.ส.เต็มศิริ เนตรทัศน์ ผู้ช่วยหัวหน้าสำนัก งานคณะกรรมการข้าราชการกรุงเทพ มหานคร (ก.ก.) ที่ศาลาว่าการ กทม. (เสาชิงช้า)

โดย นายณัฐพงศ์ กล่าวว่า เมื่อวันที่ 4 มิ.ย.ที่ผ่านมา กทม.ได้รับการร้องเรียนผ่านสื่อว่าการจัดซื้อเครื่องออกกำลังกายของศูนย์กีฬา กทม. แพงเกินจริง จากนั้น ศตท.กทม. รับเรื่องร้องเรียนตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยให้สำนักงานตรวจสอบภายใน สำนักงานปลัดกรุงเทพมหานคร ร่วมตรวจสอบด้วย จากนั้นวันที่ 11 มิ.ย. คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง ได้รายงานผลพร้อมข้อเสนอ 2 ทาง ทางแรก คือ การสอบสวนพบว่ามีมูลต่อการทุจริตอาจผิดกฎหมายเรื่องของการเสนอราคาต่อหน่วยงานภาครัฐซึ่งเรื่องนี้ ศตท.กทม.ได้รวบรวมข้อมูลเบื้องต้นส่งให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ดำเนินการทางกฎหมายต่อไป เนื่องจากเป็นเรื่องของความผิดเกี่ยวกับความผิดการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐทาง ป.ป.ช.มีอำนาจในการดำเนินการ

อีกส่วน ศตท.กทม. นำรายงานผลการสอบสวนเบื้องต้นส่งให้ปลัดกรุงเทพมหานคร เพื่อดำเนินการทางวินัยกับผู้ที่เกี่ยวข้อง จนนำไปสู่การตั้งกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงโดยผู้ว่าฯกทม. ได้แต่งตั้งคณะกรรมการ

สืบสวนข้อเท็จจริง เมื่อ 17 มิ.ย.67 โดยให้ระยะเวลาสอบสวน 30 วัน และให้รายงานผลทุก 7 วัน

ทั้งนี้ คณะกรรมการดำเนินการสืบสวนและตรวจสอบข้อเท็จจริงจำนวน 7 โครงการ ช่วงปีงบประมาณปัจจุบัน ได้แก่ 1.โครงการจัดซื้อครุภัณฑ์เสริมสร้างสมรรถภาพทางกาย 21 รายการ สำหรับศูนย์กีฬาอ่อนนุช 15.69 ล้านบาท 2.โครง การฯ สำหรับศูนย์กีฬาเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา 12.11 ล้านบาท 3.โครงการฯ สำหรับศูนย์กีฬามิตรไมตรี 11.01 ล้านบาท 4.โครงการประกวดราคาซื้อครุภัณฑ์เสริมสร้างสมรรถภาพทางกาย 11 รายการ ของศูนย์กีฬาวชิรเบญจทัศ วงเงินงบประมาณ 4.99 ล้านบาท 5.โครงการฯ สำหรับศูนย์กีฬาวารีภิรมย์ 4.99 ล้านบาท 6.โครงการฯ สำหรับศูนย์นันทนาการ สังกัดส่วนนันทนาการ 17.9 ล้านบาท และ 7.โครงการฯ สำหรับศูนย์นันทนาการวัดดอกไม้ 11.52 ล้านบาท และนำเสนอผลสอบข้อเท็จจริงเมื่อวันที่ 19 ก.ค.ที่ผ่านมา จากการสอบสวนพยานบุคคลและเอกสารพบว่าข้อเท็จจริงมีมูลราคาแพงเกินจริงสูงกว่าราคาท้องตลาดและราคาสูงกว่าการจัดซื้อในปีก่อนๆ หากเปรียบเทียบราคาต้นทุนกับค่าดำเนินการแล้วยังสูงกว่าราคาต้นทุนและค่าดำเนินการเป็นอย่างมาก

นอกจากนี้ มีรายละเอียดสินค้าเกินความจำเป็น คุณลักษณะจำเพาะหรือสเปกของเครื่องออกกำลังกายมีการปรับสเปกให้สูงขึ้นจากเดิมกว่าที่เคยจัดซื้อ เช่นเพิ่มกำลังแรงม้า เพิ่มโปรแกรมออกกำลังกาย เพื่อรองรับน้ำหนัก และปรับจอแสดงผลระบบสัมผัส เป็นต้น โดยวิธีการจะมีการสืบราคาจากผู้ประกอบการ 3 ราย ให้ราคาต่ำสุดเป็นราคากลาง โดยไม่คำนึงถึงความจำเป็นและการใช้งานจริง ส่งผลให้การกำหนดราคาสูงเกินความจำเป็น

ขณะเดียวกัน ยังพบว่ามีการกำหนดรายละเอียดบริษัทผู้ร่วมประมูลเกินความจำเป็น มีข้อกำหนดที่ไม่เปิดกว้างให้เสนอราคาอย่างเท่าเทียม เช่น การกำหนดให้แนบหนังสือรับรองผลงานและสำเนาสัญญาซื้อขายที่ทำกับภาครัฐไม่น้อยกว่า 40 สัญญาในวันเสนอราคา โดยมีระยะเวลานับย้อนหลังไม่เกิน 2 ปี การกำหนดเงื่อนไขดังกล่าวเพิ่มเติมเกินกว่าแนวทางที่คณะกรรมการการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารภาครัฐ เกินกว่าแนวทางที่กระทรวงการคลังกำหนด อาจมีผลทำให้ราคาการจัดซื้อเครื่องออกกำลังกายมีราคาแพงเกินควร

นายณัฐพงศ์ กล่าวด้วยว่า จากการสืบสวนพบว่ามีเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำโครงการจัดซื้อเครื่องออกกำลังกาย และเกี่ยวข้องกับการพิจารณางบประมาณ รวมทั้งการดำเนินการจัดซื้อเครื่องออกกำลังกายทั้งหมด 25 ราย และมี 1 ราย ลาออกจากราชการไปแล้ว โดยไม่มีข้อมูลยืนยันชัดเจนว่าผู้ที่เกี่ยวข้อง จัดทำโครงการและพิจารณางบประมาณ โดยคำนึงถึงหลักความคุ้มค่าที่จะต้องมีคุณภาพหรือสเปกตอบสนองต่อวัตถุประสงค์การใช้งาน และต้องมีราคาที่เหมาะสม และขั้นตอนในการกลั่นกรองงบประมาณ ไม่ได้ทักท้วงเกี่ยวกับประเด็นเรื่องราคาดังกล่าวแต่อย่างใด

ซึ่งเมื่อวันที่ 23 ก.ค.ที่ผ่านมา คณะกรรมการรายงานผลมายังปลัดกรุงเทพมหานคร ปลัดกรุงเทพมหานครจึงมีคำสั่งย้ายผู้บริหารที่มีส่วนเกี่ยวข้องในกระบวนการจัดซื้อทั้ง 7 โครงการไปปฏิบัติหน้าที่ประจำสำนักงานปลัดกรุงเทพมหานคร เพื่อไม่ให้ไปยุ่งเกี่ยวกับหลักฐานการดำเนินการทางวินัย พร้อมทั้งเสนอแต่งตั้งคณะกรรมการสอบทางวินัยอย่างร้ายแรง ตามกฎสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการกรุงเทพมหานคร (ก.ก.) ว่าด้วยการดำเนินการทางวินัย พ.ศ.2565 โดยเมื่อแต่งตั้งคณะกรรมการแล้วเสร็จ จะต้องดำเนินการสอบสวนให้แล้วเสร็จภายใน 120 วัน สามารถขยายเพิ่มได้ 60 วัน และจะพิจารณาลงโทษต่อไป กระบวนการดังกล่าวเป็นไปตามมาตรการ ในการปฏิบัติราชการและแนวทางปฏิบัติที่ ศตท. กทม. ได้วางแนวทางไว้ เพื่อให้เกิดความโปร่งใส และเกิดการดำเนินการเป็นไปอย่างรอบคอบและเที่ยงธรรม

ด้าน น.ส.เต็มศิริ เนตรทัศน์ ผู้ช่วยหัวหน้าสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า กทม.ได้ส่งเรื่องดังกล่าวไปยังสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อดำเนินการต่อตามความผิดทางอาญา ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 ส่วนของ กทม.จะตั้งกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรง กำหนดให้คณะกรรมการสอบสวนนับจากวันที่ประธานได้เรียกประชุมครั้งแรก โดยมีกำหนด 120 วัน และสามารถขยายได้ไม่เกิน 60 วัน รวมถึงการตั้งคณะกรรมการพิจารณาความรับผิดทางละเมิดเจ้าหน้าที่ของรัฐ เพื่อให้มีการชดเชยทางแพ่ง โดยใช้ระยะเวลาไม่เกิน 180 วัน

บรรยายใต้ภาพ

แถลงปมทุจริต…กรุงเทพมหานครแถลงผลสืบสวนข้อเท็จจริงการจัดซื้อเครื่องออกกำลังกายของศูนย์กีฬา กทม. หลังครบเวลาสอบสวน 30 วัน โดย นายณัฐพงศ์ ดิษยบุตร รองปลัดกรุงเทพมหานคร ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการติดตามการต่อต้านการทุจริตของกรุงเทพมหานคร (ศตท.กทม.) เป็นผู้แถลงร่วมกับ นายเอกวรัญ อัมระปาล โฆษกของกรุงเทพมหานคร และน.ส.เต็มศิริ เนตรทัศน์ ผู้ป่วยหัวหน้าสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการกรุงเทพมหานคร(ก.ก.) ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า)

 



ที่มา:  นสพ.สยามรัฐ ฉบับวันที่ 31 ก.ค. 2567

แชร์ข่าว:
กรุงเทพฯ มีอะไร อัพเดทข่าวสารฉับไว กิจกรรมที่น่าสนใจ และมีส่วนร่วมได้ รวมไว้ให้ที่นี่

©2022 สงวนลิขสิทธิ์ กรุงเทพมหานคร

สำนักงานประชาสัมพันธ์ สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร 173 ถนนดินสอ แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กทม. 10200