เมื่อวันที่ 30 ก.ค.67 ที่ศาลาว่า การกทม.นายณัฐพงศ์ ดิษยบุตร รองปลัด กทม.ในฐานะ ผอ.ศูนย์ปฏิบัติการติดตามการต่อต้านการทุจริต กทม.(ศตท.กทม.)แถลงผลสืบสวนข้อเท็จจริงการจัดซื้อเครื่องออกกำลังกายของศูนย์กีฬา กทม.หลังครบเวลาสอบสวน 30 วัน ว่า เมื่อวันที่ 4 มิ.ย.ที่ผ่านมา กทม.ได้รับการร้องเรียนผ่านสื่อว่าการจัดซื้อเครื่องออกกำลังกายของศูนย์กีฬา กทม.แพงเกินจริง ศตท.กทมรับเรื่องร้องเรียนตรวจสอบข้อเท็จจริง ทั้งนี้ คณะกรรมการดำเนินการสืบสวนและตรวจสอบข้อเท็จจริงจำนวน 7 โครงการช่วงปีงบประมาณปัจจุบัน ได้แก่ 1.โครงการจัดซื้อครุภัณฑ์เสริมสร้างสมรรถภาพทางกาย 21 รายการ สำหรับศูนย์กีฬาอ่อนนุช 15.69 ล้านบาท 2.โครงการฯสำหรับศูนย์กีฬาเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา 12.11 ล้านบาท 3.โครงการฯ สำหรับศูนย์กีฬามิตรไมตรี 11.01 ล้านบาท 4.โครงการประกวดราคาซื้อครุภัณฑ์เสริมสร้างสมรรถภาพทางกาย 11รายการ ของศูนย์กีฬาวชิรเบญจทัศวงเงิน งบประมาณ 4.99 ล้านบาท 5.โครงการฯสำหรับศูนย์กีฬาวารีภิรมย์ 4.99 ล้านบาท 6.โครงการฯสำหรับศูนย์นันทนาการสังกัดส่วนนันทนาการ 17.9 ล้านบาทและ 7.โครงการฯ สำหรับศูนย์นันทนาการวัดดอกไม้ 11.52 ล้านบาท จากการสอบสวนพบว่าข้อเท็จจริงมีมูลราคาแพงเกินจริงสูงกว่าราคาท้องตลาด และราคาสูงกว่าการจัดซื้อในปีก่อนๆ หากเปรียบเทียบราคาต้นทุนกับค่าดำเนินการแล้วยังสูงกว่าราคาต้นทุนและค่าดำเนินการเป็นอย่างมาก
นอกจากนี้ มีรายละเอียดสินค้าเกินความจำเป็นปรับสเปกให้สูงขึ้นจากเดิมกว่าที่เคยจัดซื้อเช่น เพิ่มกำลังแรงม้าเพิ่มโปรแกรมออกกำลังกาย เพื่อรองรับน้ำหนักและปรับจอแสดงผลระบบสัมผัสเป็นต้น ขณะเดียวกันมีการกำหนดรายละเอียดบริษัทผู้ร่วมประมูลเกินความจำเป็นมีข้อกำหนดที่ไม่เปิดกว้างให้เสนอราคาอย่างเท่าเทียมเกินกว่าแนวทางที่กระทรวงการคลังกำหนด
นายณัฐพงศ์กล่าวว่า จากการสืบสวนพบว่ามีเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำโครงการจัดซื้อเครื่องออกกำลังกายและเกี่ยวข้องกับการพิจารณางบประมาณ รวมทั้งการดำเนินการจัดซื้อเครื่องออกกำลังกายทั้งหมด 25 ราย และมี 1 รายลาออกจากราชการไปแล้ว ซึ่งเมื่อวันที่ 23 ก.ค.ที่ผ่านมา คณะกรรมการรายงานผลไปยังปลัด กทม.และ ปลัดกทม.มีคำสั่งย้ายผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในกระบวนการจัดซื้อทั้ง 7 โครงการไปปฏิบัติหน้าที่ประจำสำนักงานปลัด กทม.พร้อมทั้ง เสนอแต่งตั้งคณะกรรมการสอบทางวินัยอย่างร้ายแรงให้แล้วเสร็จภายใน 120 วัน และจะพิจารณาลงโทษต่อไปรวมถึงการตั้งคณะกรรมการพิจารณาความรับผิดทางละเมิดเจ้าหน้าที่ของรัฐ เพื่อให้มีการชดเชยทางแพ่ง โดยใช้ระยะเวลาไม่เกิน 180 วัน.
ที่มา: นสพ.ไทยรัฐ ฉบับวันที่ 31 ก.ค. 2567