“ชัชชาติ” รับกทม.มีเรื่องไม่โปร่งใส ติดมานาน ย้ำเอาจริงไม่เอื้อประโยชน์ใคร ให้ปลัดฯสอบวินัย หลังแถลงผลสอบซื้อเครื่องออกกำลังกาย มีมูลราคาสูงจริง พบจนท.ส่อทุจริต 25 ราย จ่อตั้ง คกก.สอบวินัยร้ายแรง ภายใน 180 วัน
วันที่ 30 ก.ค.2567 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงกรณีการสืบสวนข้อเท็จจริง เรื่อง การจัดซื้อเครื่องออกกำลังกายของศูนย์ กีฬา กทม.ว่า ต้องยอมรับว่ากรุงเทพมหานคร เรื่องความไม่โปร่งใสยังมีอยู่ เป็นเรื่องที่อาจ ติดมานาน เราทราบผลการสอบสวนแล้วต้องขอบคุณคณะกรรมการสอบสวน ที่ทำเสร็จใน 30 วัน ผลสอบสวนคือ มีมูล ราคาสูงจริง และมีข้อกำหนดบางอย่างที่อาจเกินความจำเป็นไป มีผู้เกี่ยวข้อง 25 ราย สัปดาห์ที่ผ่านมาได้มีการย้ายออกไปแล้ว 3 ราย ซึ่งเป็นบุคคลที่มีอำนาจโดยตรง เพื่อไม่ให้มายุ่งเกี่ยวกับการสอบสวน จากนี้ให้ปลัดกรุงเทพมหานครซึ่งเป็นเรื่องของฝ่ายข้าราชการประจำ ออกคำสั่งตั้งกรรมการสอบทางวินัยต่อไป
วันเดียวกันกรุงเทพมหานครได้แถลงผลสืบสวนข้อเท็จจริงการจัดซื้อ เครื่องออกกำลังกายของศูนย์กีฬา กทม. หลังครบเวลาสอบสวน 30 วัน โดย นายณัฐพงศ์ ดิษยบุตร รองปลัดกรุงเทพมหานคร ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการติดตามการต่อต้านการทุจริตของกรุงเทพมหานคร (ศตท.กทม.) เป็นผู้แถลง ร่วมกับ นายเอกวรัญญู อัมระปาล โฆษกของกทม. และ น.ส.เต็มศิริ เนตรทัศน์ ผู้ช่วยหัวหน้าสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการกรุงเทพมหานคร (ก.ก.) ที่ศาลาว่าการกทม. เสาชิงช้า
นายณัฐพงศ์กล่าวว่า คณะกรรมการ ดำเนินการสืบสวนและตรวจสอบข้อเท็จจริง จำนวน 7 โครงการ ช่วงปีงบประมาณปัจจุบัน ได้แก่ 1.โครงการจัดซื้อครุภัณฑ์เสริมสร้างสมรรถภาพทางกาย 21 รายการ สำหรับศูนย์กีฬาอ่อนนุช 15.69 ล้านบาท 2.โครงการฯ สำหรับศูนย์กีฬาเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา 12.11 ล้านบาท 3.โครงการฯ สำหรับศูนย์กีฬามิตรไมตรี 11.01 ล้านบาท 4.โครงการประกวดราคาซื้อครุภัณฑ์เสริมสร้างสมรรถภาพทางกาย 11 รายการ ของศูนย์กีฬาวชิรเบญจทัศ วงเงิน งบประมาณ 4.99 ล้านบาท 5.โครงการฯ สำหรับศูนย์กีฬาวารีภิรมย์ 4.99 ล้านบาท 6.โครงการฯ สำหรับศูนย์นันทนาการ สังกัดส่วนนันทนาการ 17.9 ล้านบาท และ 7.โครงการฯ สำหรับศูนย์นันทนาการวัดดอกไม้ 11.52 ล้านบาท พบว่า ข้อเท็จจริงมีมูล ราคาแพงเกินจริง สูงกว่าราคาท้องตลาดและราคาสูงกว่าการจัดซื้อในปีก่อนๆ หากเปรียบเทียบราคาต้นทุนกับค่าดำเนินการแล้ว ยังสูงกว่าราคาต้นทุนและค่าดำเนินการเป็นอย่างมาก นอกจากนี้ มีรายละเอียดสินค้าเกินความจำเป็น คุณลักษณะจำเพาะหรือสเปกของ เครื่องมีการปรับสเปกให้สูงขึ้นจากเดิมกว่าที่เคยจัดซื้อ เช่น เพิ่มกำลังแรงม้า เพิ่ม โปรแกรมออกกำลังกาย เพื่อรองรับน้ำหนัก และปรับจอแสดงผลระบบสัมผัส เป็นต้น โดยวิธีการจะมีการสืบราคาจากผู้ประกอบการ 3 ราย ให้ราคาต่ำสุดเป็นราคากลาง โดยไม่คำนึงถึงความจำเป็นและการใช้งานจริง ส่งผลให้การกำหนดราคาสูงเกินความจำเป็น
ขณะเดียวกันยังพบว่ามีการกำหนด รายละเอียดบริษัทผู้ร่วมประมูลเกินความจำเป็น มีข้อกำหนดที่ไม่เปิดกว้างให้เสนอราคาอย่างเท่าเทียม เช่น การกำหนดให้ แนบหนังสือรับรองผลงานและสำเนาสัญญา ซื้อขายที่ทำกับภาครัฐไม่น้อยกว่า 40 สัญญา ในวันเสนอราคา โดยมีระยะเวลานับย้อนหลัง ไม่เกิน 2 ปี
นายณัฐพงศ์ กล่าวด้วยว่า จากการ สืบสวนพบว่ามีเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการ จัดทำโครงการจัดซื้อเครื่องออกกำลังกาย และเกี่ยวข้องกับการพิจารณางบประมาณ รวมทั้งการดำเนินการจัดซื้อเครื่อง ออกกำลังกายทั้งหมด 25 ราย และมี 1 ราย ลาออกจากราชการไปแล้ว ซึ่งเมื่อวันที่ 23 ก.ค. ที่ผ่านมา คณะกรรมการรายงานผล มายังปลัดกทม. ปลัดกทม. จึงมีคำสั่งย้ายผู้บริหารที่มีส่วนเกี่ยวข้องในกระบวนการจัดซื้อ ทั้ง 7 โครงการไปปฏิบัติหน้าที่ประจำ สำนักงานปลัดกรุงเทพมหานคร เพื่อไม่ให้ ไปยุ่งเกี่ยวกับหลักฐานการดำเนินการทาง วินัย พร้อมทั้งเสนอแต่งตั้งคณะกรรมการสอบทางวินัยอย่างร้ายแรง ตามกฎ ก.ก. ว่าด้วยการดำเนินการทางวินัย พ.ศ.2565 โดยเมื่อแต่งตั้งคณะกรรมการแล้วเสร็จ จะต้องดำเนินการสอบสวนให้แล้วเสร็จภายใน 120 วัน สามารถขยายเพิ่มได้ 60 วัน และจะพิจารณาลงโทษต่อไป
ด้าน น.ส.เต็มศิริ เนตรทัศน์ ผู้ช่วย หัวหน้าสำนักงานก.ก. กล่าวว่า กทม.ได้ส่งเรื่องไปยังสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อดำเนินการต่อตามความผิดทางอาญา ตามพ.ร.บ. ว่าด้วยความผิด เกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 ส่วนของ กทม.จะตั้งกรรมการ สอบสวนวินัยร้ายแรง กำหนดให้คณะกรรมการ สอบสวนนับจากวันที่ประธานได้เรียกประชุมครั้งแรก โดยมีกำหนด 120 วัน และสามารถขยายได้ไม่เกิน 60 วัน รวมถึงการตั้งคณะกรรมการพิจารณาความรับผิดทางละเมิดเจ้าหน้าที่ของรัฐ เพื่อให้มีการชดเชยทางแพ่ง โดยใช้ระยะเวลาไม่เกิน 180 วัน
ที่มา: นสพ.แนวหน้า ฉบับวันที่ 31 ก.ค. 2567