กทม.ตรวจสอบพบเจ้าหน้าที่ 25 ราย ส่อทุจริตจัดซื้อเครื่องออกกำลังกายแพงเกินจริง พร้อมตั้งกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรง ส่ง ป.ป.ช.เอาผิดอาญา พ่วงชดใช้ทางแพ่ง กำหนดเวลาภายใน 180 วัน
เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวก่อนการประชุมสภา กทม.ที่ศาลาว่าการฯ (ดินแดง)กรณีการสืบสวน ข้อเท็จจริง เรื่องการจัดซื้อเครื่อง ออกกำลังกายของศูนย์กีฬากทม.ว่าต้องยอมรับว่า กทม.ยังมีเรื่องความไม่โปร่งใส เป็นเรื่องที่ได้ติดตามมานาน เราทราบผลการสอบสวนแล้วต้องขอบคุณคณะกรรมการสอบสวนฯ ที่ดำเนินการเสร็จภายใน 30 วัน ผลสอบสวนคือมีมูลราคาสูงจริง และมีข้อกำหนดบางอย่างที่อาจเกินความจำเป็น มีผู้เกี่ยวข้อง 25 ราย สัปดาห์ที่ผ่านมาได้มีการย้ายออกไปแล้ว 3 ราย ซึ่งเป็นบุคคลที่มีอำนาจโดยตรง เพื่อไม่ให้มายุ่งเกี่ยวกับการสอบสวน จากนี้ให้ปลัด กทม.ดำเนินการซึ่งเป็นเรื่องของฝ่ายข้าราชการประจำ ได้ออกคำสั่งตั้งกรรมการสอบทางวินัยต่อไป
“ในเรื่องนี้ต้องเดินไปสองทาง ของเราดูเรื่องทางวินัย ก็ต้องไปดูว่าผิดอย่างไร ทำตามระเบียบหรือไม่ ส่วนเรื่องทุจริตเป็นคดีอาญา เป็นเรื่องของ ป.ป.ช. รวมทั้ง ป.ป.ท. และ สตง.ที่จะดำเนินการ คู่ขนานกันไป เราเอาจริงเอาจัง ต้องขอบคุณ ท่านสส.และทุกคนที่ให้ความสนใจเรื่องนี้ ฝากเรื่อง พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างที่เราใช้กัน ทุกวันนี้ ทุกหน่วยงานใช้เหมือนกันหมด ถ้ามีช่องโหว่ตรงไหน ก็ไม่ได้มีเฉพาะกทม. ก็ฝากให้ ทั้งสส.สภาใหญ่ สภา กทม. ช่วยกันให้เรื่องนี้เป็นประเด็นใหญ่ เพราะเป็นเรื่องสำคัญ สุดท้ายอาจต้องไปปรับแก้เรื่องระเบียบต่างๆ ทางเราขอลุยเต็มที่และไม่ไปเอื้อประโยชน์ให้ใครทั้งสิ้น” ผู้ว่าฯ กทม.กล่าว
ที่ศาลาว่าการฯ (เสาชิงช้า) นายณัฐพงศ์ ดิษยบุตร รองปลัด กทม.ในฐานะ ผอ.ศูนย์ปฏิบัติการติดตามการ ต่อต้านการทุจริตกรุงเทพมหานคร (ศปท.กทม.)กล่าวว่า เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน ที่ผ่านมา กทม.ได้รับการร้องเรียนผ่าน สื่อว่าการจัดซื้อเครื่องออกกำลังกาย ของศูนย์กีฬา กทม. แพงเกินจริง จากนั้น ศตท.กทม.รับเรื่องไว้ตรวจสอบ ข้อเท็จจริง โดยให้สำนักงานตรวจสอบ ภายใน สำนักงานปลัด กทม.ร่วมตรวจสอบด้วย จากนั้นวันที่ 11 มิถุนายน คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง ได้รายงานผล พร้อมข้อเสนอ 2 ทาง โดยทางแรก คือการสอบสวนพบว่ามีมูลต่อการทุจริตอาจผิดกฎหมาย เรื่องของการเสนอราคาต่อหน่วยงานภาครัฐซึ่งเรื่องนี้ ศตท.กทม.ได้รวบรวมข้อมูลเบื้องต้นส่งให้สำนักงานคณะกรรมการ ป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ดำเนินการทางกฎหมายเนื่องจากเป็นเรื่องของความผิดเกี่ยวกับ ความผิดการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐทาง ป.ป.ช.มีอำนาจในการดำเนินการ
อีกส่วน ศตท.กทม.นำรายงานผลการสอบสวนเบื้องต้นส่งให้ปลัด กทม. เพื่อดำเนินการทางวินัยกับผู้ที่เกี่ยวข้อง จนนำไปสู่การตั้งกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริง โดยผู้ว่าฯกทม.ได้แต่งตั้งคณะกรรมการ สืบสวนข้อเท็จจริง เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2567 โดยให้ระยะเวลาสอบสวน 30 วัน และให้รายงานผลทุก 7 วัน
ทั้งนี้ คณะกรรมการดำเนินการ สืบสวนและตรวจสอบข้อเท็จจริง 7 โครงการ ช่วงปีงบประมาณปัจจุบัน ได้แก่ 1.โครงการจัดซื้อครุภัณฑ์เสริมสร้างสมรรถภาพทางกาย 21 รายการสำหรับศูนย์กีฬาอ่อนนุช 15.69 ล้านบาท 2.โครงการฯ สำหรับศูนย์กีฬาเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา 12.11 ล้านบาท 3.โครงการฯ สำหรับศูนย์กีฬามิตรไมตรี 11.01 ล้านบาท 4.โครงการประกวดราคาซื้อครุภัณฑ์เสริมสร้างสมรรถภาพทางกาย 11 รายการ ของศูนย์กีฬาวชิรเบญจทัศ วงเงิน งบประมาณ 4.99 ล้านบาท 5.โครงการฯ สำหรับศูนย์กีฬาวารีภิรมย์ 4.99 ล้านบาท 6.โครงการฯ สำหรับศูนย์นันทนาการ สังกัดส่วนนันทนาการ 17.9 ล้านบาท และ 7.โครงการฯ สำหรับศูนย์นันทนาการ วัดดอกไม้ 11.52 ล้านบาท และนำเสนอผลสอบข้อเท็จจริงเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคมที่ผ่านมา จากการสอบสวนพยานบุคคลและเอกสาร พบว่าข้อเท็จจริง มีมูลราคาแพงเกินจริง สูงกว่าราคาท้องตลาดและราคาสูงกว่าการจัดซื้อ ในปีก่อนๆ หากเปรียบเทียบราคาต้นทุนกับค่าดำเนินการแล้ว ยังสูงกว่าราคาต้นทุนและค่าดำเนินการเป็นอย่างมาก
นอกจากนี้ มีรายละเอียดสินค้าเกินความจำเป็น คุณลักษณะจำเพาะหรือสเปกของเครื่องออกกำลังกายมีการปรับสเปกให้สูงขึ้นจากเดิมเช่นเพิ่มกำลังแรงม้า เพิ่มโปรแกรมออกกำลังกายเพื่อรองรับน้ำหนัก และปรับจอแสดงผลระบบสัมผัส เป็นต้น มีการสืบราคาจากผู้ประกอบการ 3 ราย ให้ราคาต่ำสุดเป็นราคากลาง โดยไม่คำนึงถึงความจำเป็นและการใช้งานจริง ส่งผลให้การกำหนดราคาสูงเกินความจำเป็น
ขณะเดียวกันยังพบว่ามีการกำหนดรายละเอียดบริษัทผู้ร่วมประมูลเกินความจำเป็น มีข้อกำหนดที่ไม่เปิดกว้างให้เสนอราคาอย่างเท่าเทียม เช่น การกำหนดให้แนบหนังสือรับรองผลงาน และสำเนาสัญญาซื้อขายที่ทำกับภาครัฐ ไม่น้อยกว่า 40 สัญญาในวันเสนอราคา โดยมีระยะเวลาย้อนหลังไม่เกิน 2 ปี การกำหนดเงื่อนไขดังกล่าวเพิ่มเติม เกินกว่าแนวทางที่คณะกรรมการการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารภาครัฐ เกินกว่าแนวทางที่กระทรวงการคลังกำหนด อาจมีผลทำให้ราคาการจัดซื้อเครื่องออกกำลังกายมีราคาแพงเกินควร
ด้าน น.ส.เต็มศิริ เนตรทัศน์ ผู้ช่วยหัวหน้าสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการ กทม.(ก.ก.) กล่าวว่า กทม. ได้ส่งเรื่องดังกล่าวไปยังสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปราม การทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อดำเนินการตามความผิดทางอาญา ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 ส่วน กทม.จะตั้งกรรมการสอบสวนวินัย ร้ายแรง กำหนดให้คณะกรรมการสอบสวน นับจากวันที่ประธานได้เรียกประชุมครั้งแรก โดยมีกำหนด 120 วัน และสามารถ ขยายได้ไม่เกิน 60 วัน รวมถึงตั้ง คณะกรรมการพิจารณาความรับผิดทางละเมิดฯ เพื่อให้มีการชดเชยทางแพ่ง โดยใช้ระยะเวลาไม่เกิน 180 วัน
ที่มา: นสพ.แนวหน้า ฉบับวันที่ 31 ก.ค. 2567