กทม. ชวนสัมผัสทางเท้า “ดอกโบตั๋น” อัตลักษณ์ย่านเยาวราช เติมเต็มประสบการณ์ท่องเที่ยวย่าน “เดินได้ เดินดี”
วันที่ 2 ก.ค. 2567 นายเอกวรัญญู อัมระปาล โฆษกของกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย นายพินิจ กาญจนชูศักดิ์ สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตสัมพันธวงศ์ ลงพื้นที่นำชมการเปลี่ยนแปลงครั้งใหม่ของย่านเยาวราชผ่านกระเบื้องลายดอกโบตั๋นในโครงการปรับปรุงทางเท้าใหม่ริมถนนเยาวราช ภายใต้ นโยบายการพัฒนาพื้นที่ของ กทม. พร้อมเปิดเผยว่า การปรับปรุงนี้ไม่เพียงชูอัตลักษณ์ให้ กับย่านเท่านั้น แต่ยังเป็นการเติมเต็ม ประสบการณ์ใหม่ที่ทำให้ทุกคนเดินได้และเดินดีไปพร้อมกัน ตามแนวทางของ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯกทม. ในการพัฒนาเส้นเลือดฝอยที่สูบฉีด ไปสู่เส้นเลือดใหญ่ของเมือง โดยในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา กทม. ได้ปรับปรุงทางเท้าให้ได้มาตรฐานมากขึ้น 785 กิโลเมตร ไม่นับรวมการแก้ไขเป็นจุดๆ ตามข้อร้องเรียนในระบบ Traffy Fondue เพราะเมืองที่เดินได้ จะทำให้คนมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น เมืองมีประสิทธิภาพมากขึ้น และคนจะใช้ชีวิตเหนื่อยน้อยลง
สำหรับถนนเยาวราช เป็นย่านไชน่าทาวน์ที่สะท้อนสายสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นระหว่างชาวไทยและชาวจีนที่มีมาอย่างยาวนาน กรุงเทพมหานคร ร่วมกับ SCG นำดอกโบตั๋นซึ่งเป็นดอกไม้สำคัญของชาวจีน มา สร้างอัตลักษณ์ในการปรับปรุงทางเท้าในครั้งนี้ เพราะ “ดอกโบตั๋น” นับเป็นดอกไม้ที่มีความสำคัญเนื่องจากคนจีนเชื่อกันว่าเป็นสัญลักษณ์ของความมั่งคั่งร่ำรวย ความซื่อสัตย์ มีโชคลาภ ลายดอกโบตั๋นบนถนนเยาวราชจึงไม่เพียงเพิ่มความสวยงามและเสน่ห์ให้กับท้องถนนเท่านั้น แต่ยังสร้างแลนด์มาร์คการ ท่องเที่ยวใหม่ ด้วยทางเดินเท้า มีอัตลักษณ์และเป็นที่น่าจดจำ โดยการปรับปรุงทางเดินเท้าให้มีขนาดกว้างขึ้น ก่อสร้างด้วยมาตรฐานใหม่ (คอนกรีตเสริมเหล็ก) และการออกแบบให้เป็น Universal Design ที่มีความเหมาะสม สำหรับผู้ใช้งาน ทุกเพศ ทุกวัย รวมถึงคนพิการ เพื่อให้ผู้คนสามารถเดินทางได้อย่างสะดวกสบายมากขึ้น ในส่วนของกระเบื้องปูทางเท้าลวดลายดอกโบตั๋น มีการใช้นวัตกรรมใหม่ คือ เทคโนโลยีการพ่นผิว (Shot Blast) ในการสร้างลวดลาย ซึ่งคงทนกว่าการพ่นสีทั่วไป และทำให้มีผิวที่หยาบขึ้น ไม่ลื่น ทำความสะอาดง่าย เพิ่มความปลอดภัยต่อผู้ใช้ทาง
ทั้งนี้ งานปรับปรุงผิวจราจรและทางเท้าถนนเยาวราช ช่วงวงเวียนโอเดียนถึงคลองโอ่งอ่าง พื้นที่เขตสัมพันธวงศ์ เริ่มดำเนินการก่อสร้างตั้งแต่มกราคม 2567 ที่ผ่านมา คาดว่าจะแล้วเสร็จ ในช่วงกลางเดือนกันยายน 2567 ที่โดยดำเนินการคู่ขนานไปกับการวางท่อประปาและการวางท่อ ร้อยสายสื่อสาร จึงใช้เวลาค่อนข้างมาก โดย กทม. ใช้วิธีการปรับปรุงเป็นช่วง เพื่อลดผลกระทบต่อผู้ใช้งานในพื้นที่ โดยเฉพาะกิจกรรมค้าขายที่มีผู้ใช้งานหนาแน่นตลอดทั้งกลางวันและกลางคืน แบ่งดำเนินการเป็นช่วง ดังนี้ 1.ถนนเยาวราช ช่วงจากวงเวียนโอเดียน ถึงคลองโอ่งอ่าง (กำลังดำเนินการ) 2.ถนนจักรวรรดิ ถนนเจริญกรุงถึงสะพานพระปกเกล้า (แล้วเสร็จ 90%) 3.ถนนทรงวาด ช่วงถนนราชวงศ์ถึงถนนเจริญกรุง (รอประมูล) 4.ถนนตรีมิตร (แล้วเสร็จ 100%) 5.ถนนมังกร (แล้วเสร็จ 100%) 6.ถนนผดุงด้าว (แล้วเสร็จ 100%) 7.ถนนเจริญกรุง จากสะพานคลองผดุงถึงแยกหมอมี (รอเซ็นสัญญา)
อย่างไรก็ตาม ต้องขอบคุณ ลิซ่า ที่ปลุกเยาวราชให้ลุกเป็นไฟไปทั่วโลก กทม. เตรียมความพร้อมในทุกมิติ เพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยวที่จะหลั่งไหล เข้ามา และเชื่อว่าทางเท้าปรับปรุง ใหม่นี้ก็เป็นหนึ่งในสิ่งที่จะสร้างความ ประทับใจให้กับนักท่องเที่ยวทั้งไทย และต่างประเทศรวมถึงผู้คนที่ใช้ชีวิต และทำมาค้าขายอยู่ในเยาวราช
“ทางเท้าเยาวราชวิถีใหม่ลายดอกโบตั๋นนี้ ไม่เป็นเพียงแค่การปรับปรุงทางเท้าเท่านั้น แต่ยังเป็นอีกหนึ่งตัวแทนที่สะท้อนตัวตนสื่อถึงอัตลักษณ์ของชาวเยาวราช ซึ่งเป็นแรงบันดาลใจในการพัฒนาเมืองเพื่อปรับปรุงคุณภาพชีวิตที่คำนึงถึงความต้องการของทุกคนในสังคม ทั้งนี้ ในอนาคตจะไม่ใช่แค่เปลี่ยนกระเบื้องเป็นลายดอกโบตั๋นเท่านั้น แต่กรุงเทพมหานครได้วางแผนเปลี่ยนฝาท่อระบายน้ำภายในย่านเป็นแบบใหม่ ด้วยลวดลายอัตลักษณ์ที่ผ่านการออกแบบโดยภาคประชาสังคมและศิลปิน เลื่องชื่อ เพื่อตอกย้ำความเป็นเมืองน่าอยู่สำหรับทุกคนที่ผ่านการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนอย่างชัดเจน” โฆษกกทม. กล่าว
ที่มา: นสพ.แนวหน้า ฉบับวันที่ 3 ก.ค. 2567