รศ.ดร.ต่อตระกูล ยมนาค และ ผศ.ดร.ต่อภัสสร์ ยมนาคเมื่อช่วงต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ผู้อ่านหลายท่านน่าจะได้ยินข่าวลู่วิ่งราคา 7 แสนของ กทม. และอาจจะได้เห็นภาพผม (ต่อภัสสร์) ไปร่วมแถลงข่าวกับผู้ว่าฯ ชัชชาติ ในเรื่องนี้ ด้วย บางท่านทักมาถามส่วนตัวว่า เรื่องนี้มีความเป็นมาอย่างไร และผมไปเกี่ยวข้องอะไรกับ กทม. บางท่านถึงกับต่อว่า ว่าผมไปปกป้องผู้ว่าฯ
ในบทความวันนี้ผมจึงขอมาเล่าเรื่องลู่วิ่งราคา 7 แสนนี้ และ ทำไมผมถึงไปนั่งกับผู้ว่าฯ ชัชชาติ ในวันนั้นครับ
เรื่องนี้เป็นข่าวดังขึ้นมา ครั้งแรกเมื่อต้นเดือนมิถุนายน เมื่อ facebook page ชมรม STRONG ต้านทุจริตประเทศไทย โพสต์ว่าพบความผิดปกติในการจัดซื้อเครื่องออกกำลังกาย ส่อแพงเกินจริง ภายในศูนย์กีฬาวารีภิรมย์ และศูนย์กีฬาวชิรเบญจทัศ รวมกัน 2 ที่เกือบ 10 ล้านบาท พร้อมแจกแจงรายละเอียดเครื่องออกกำลังกายแต่ละชิ้นที่ กทม. จัดซื้อ เมื่อเทียบกับราคาตลาดแล้ว แตกต่างกันสูงมากจนน่าตกใจ เช่น อุปกรณ์ลู่วิ่งไฟฟ้า ที่ราคาตลาดประมาณ 1 แสนบาท แต่ กทม. จัดซื้อมา 759,000 บาท หรือ เก้าอี้ฝึกดัมเบลแบบปรับระดับได้ ราคาตลาดเกรดดี ไม่เกิน 3 หมื่นบาท แต่ กทม. จัดซื้อ 96,000 บาท
ต่อมา facebook page ต้องแฉ ก็ได้ใช้ ACT Ai ในการค้นหาข้อมูลต่อเนื่อง ระบบพบว่าโครงการจัดซื้ออุปกรณ์ออกกำลังกายในลักษณะที่แปลกประหลาดนี้ ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นในปีนี้ แต่มีมาก่อนหน้าแล้วด้วย โดยในปีงบประมาณ 66-67 กทม. จัดซื้อไปทั้งหมด 7 โครงการ วงเงินรวมกว่า 77 ล้านบาท! และพบข้อสังเกตที่น่าสนใจว่าทั้ง 7 โครงการ เปิดให้มีการแข่งขันราคาด้วยวิธี e-bidding แต่ทั้ง 7 โครงการจะมีผู้เข้าเสนอราคาเพียง 2 รายเท่านั้น และมี 4 โครงการ ที่มีบริษัทเอกชนเพียง 1 ราย ที่เสนอเท่ากับราคากลางเป๊ะๆ ทำให้ ACT Ai ขึ้นแสดงสัญลักษณ์เครื่องหมายตกใจสีเหลือง ส่งสัญญาณว่าพบความผิดปกติตั้งแต่แรก และนี่จึงเป็นความ เชื่อมโยงมาถึงผมในฐานะผู้ร่วมพัฒนา ACT Ai
เรื่องนี้ได้รับความสนใจจากสังคมเป็นอย่างยิ่ง เพราะความต่างระหว่างราคาตลาดกับราคาที่ กทม. จัดซื้อที่สูงลิ่วนี้ ได้รับการสนับสนุนด้วยหลักฐานชัดเจน มีเอกสารการจัดซื้อเป็นลายลักษณ์อักษร มีลายเซ็น ผู้อนุมัติออกมาด้วย อย่างที่หน่วยงานไม่สามารถปฏิเสธความรับผิดชอบได้เลย ทำให้ผู้บริหาร กทม. ตั้งแต่ผู้ว่าฯ รองผู้ว่าฯ ปลัดฯ รองปลัดฯ และ ผอ.ส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ต้องมาแถลงข่าวร่วมกันอย่างเร่งด่วน
วันก่อนวันแถลงข่าว ผมได้รับการติดต่อจาก กทม. ว่าผู้บริหารรับทราบเรื่องความผิดปกตินี้แล้ว และจะดำเนินการในกรณีนี้อย่างตรงไปตรงมา แต่เรื่องสำคัญกว่าที่ กทม. อยากขอคำปรึกษาผมในฐานะนักวิชาการที่ทำงานด้านการต่อต้านคอร์รัปชัน คือ จะทำอย่างไร เพื่อป้องกันเหตุการณ์เช่นนี้ไม่ให้เกิดขึ้นอีกในอนาคต ไม่อย่างนั้นก็คงจะต้องมาเปิดโต๊ะนั่งแถลงข่าวกันเรื่อยๆ เมื่อมีเหตุการณ์ผิดปกติ ไม่ได้ทำงานกันพอดี
ผมจึงไปเล่าเรื่องระบบ ACT Ai (ระบบเก็บข้อมูลและชี้จุดทุจริตขององค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน) ที่ผมมีส่วนร่วมจัดทำขึ้น ไปชี้แจงให้ฟังตามข้อมูลที่ชี้แจงไปข้างบนว่า ที่จริงแล้วระบบ ACT Ai ตรวจพบความผิดปกติในการเสนอราคาตั้งนานแล้วถึง 3 จุดด้วยกัน ได้แก่
หนึ่ง ทั้ง 7 โครงการจะมีผู้เข้าเสนอราคาเพียง 2 รายเท่านั้น ซึ่งเปิดโอกาสความเสี่ยงต่อการฮั้วประมูลกันได้
สอง มี 4 โครงการ ที่มีเอกชน 1 ราย ที่เสนอเท่ากับราคากลางเป๊ะๆ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเอกชนรายนี้ ไม่ได้ต้องการจะแข่งขันเสนอราคาเลย เพราะถ้าอยากชนะประมูลจริง ก็ต้องเสนอราคาที่ต่ำกว่าราคากลาง เพื่อให้ชนะผู้เข้าแข่งขันรายอื่น และ
สาม ในหลายโครงการ ราคาที่ผู้เข้าประมูล แต่ละรายเสนอห่างกันไม่ถึง 1% ยิ่งตอกย้ำความเสี่ยง การฮั้วประมูล เพราะแสดงให้เห็นว่ามีโอกาสที่ผู้เข้าร่วมประมูลจะตกลงราคากันมาก่อน ไม่ต้องมาตัดราคากัน เพื่อแสวงหาประโยชน์จากเงินของรัฐให้ได้มากที่สุด
ผมได้บอกผู้บริหาร กทม. ต่อไปว่า ถ้ากทม. จริงใจในการป้องกันการคอร์รัปชันจริงๆ แล้ว จัดให้มีเจ้าหน้าที่ที่มาตรวจสอบการจัดซื้อจัดจ้าง ต่างๆ ของหน่วยงานผ่าน ACT Ai ตั้งแต่แรก หรือ ชักชวนให้ประชาชนเข้ามาร่วมตรวจสอบโครงการใกล้บ้าน หรือ โครงการที่ตนเองสนใจผ่านระบบ ก็อาจจะพบความผิดปกติตั้งนานแล้ว สามารถดำเนินการตรวจสอบเชิงรุกได้เอง โดยไม่ต้องรอให้สังคมมากดดันแบบนี้
ทั้งหมดนี้จึงเป็นสาเหตุที่ผมไปร่วมแถลงข่าวกรณีซื้ออุปกรณ์ออกกำลังกายราคาแสนแพงของ กทม. ร่วมกับทีมผู้บริหาร กทม. ในฐานะภาคประชาชนที่ร่วมตรวจสอบการใช้งบประมาณรัฐด้วยเครื่องมือ ACT Ai เพื่อเสนอแนะให้ กทม. ตรวจสอบการทำงานภายในหน่วยงานด้วยเครื่องมือนี้ และเชิญชวนให้ประชาชนมาร่วมกันจับตาการทำงานของหน่วยงานรัฐทั้งหมดด้วย ACT Ai นี้ด้วยครับ
ที่มา: นสพ.แนวหน้า ฉบับวันที่ 3 ก.ค. 2567