Search
Close this search box.
‘ชัชชาติ’ติดเพิ่มสติ๊กเกอร์รางบีทีเอส

แจงปมงบฯ3ล้าน-ค่าออกแบบอัตลักษณ์กรุงเทพฯ

ศาลาว่าการกทม. – เมื่อวันที่ 30 พ.ค. นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวถึงกรณีการวิพากษ์วิจารณ์เรื่องสติ๊กเกอร์ข้อความใหม่ที่ปิดบนแนวคานของรางรถไฟฟ้าแยกปทุมวัน ว่า เมืองต้องมีการพัฒนาไป และเราเคารพผู้ออกแบบ จึงไม่เปรียบเทียบว่าของเก่าหรือของใหม่สวยกว่า

“เหตุการณ์นี้เป็นเหตุการณ์ที่ดี เพราะที่ผ่านมาไม่เคยมีใครสนใจในจุดนี้ ไม่มีใครเคยคิดถึงอัตลักษณ์ของกรุงเทพฯ การที่มีคน มาเห็น มาวิพากษ์วิจารณ์กันว่าชอบหรือไม่ชอบจึงเป็นเรื่องที่ดี และคิดว่าเป็นเรื่องที่สร้างสรรค์ ถือเป็นบรรยากาศที่ดีต้อนรับเทศกาลไพรด์มันท์ ซึ่งเป็นความแตกต่างที่มีได้ในสังคม เชื่อว่าถ้าทุกคนชอบหมด 100% เป็นเรื่องแปลก การที่ไม่เห็นด้วยบ้างก็ดีแล้ว ซึ่งคานรถไฟฟ้าที่ต้องปรับปรุงยังมีอีกหลายจุดที่จะทำเพิ่ม อาจมีการประกวดเพื่อให้เกิดความคิดที่หลากหลายมากขึ้น” นายชัชชาติกล่าว

ส่วนในประเด็นงบประมาณ 3 ล้านบาทนั้น เป็นการออกแบบ Corporate Identity (CI) หรือ อัตลักษณ์องค์กร ที่ผ่านมา กทม. ไม่ได้มี ซี-ไอ ที่ชัดเจน จึงมีสีที่หลากหลาย รูปแบบที่หลากหลาย บางครั้งโยงกับตัวบุคคลมากไป แต่ไม่อยากให้ยึดโยงกับตัวบุคคล อยากให้เป็นสัญลักษณ์ของกทม. ที่คนใช้ร่วมกันและพัฒนา ต่อได้ หากถามว่า ทำไมเมือง กทม. จำเป็นต้องมี ซี-ไอ นี้ เพราะทั่วโลกมีหมด องค์กรจึงจำเป็นที่ควรจะมี ซี-ไอ เพื่อทำให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นเมือง เป็นบริษัท เพราะทำให้การจัดการต่างๆ มีความเป็นตัวตน เช่น เมื่อเห็นฟอนต์ เสาชิงช้าที่พัฒนาขึ้นมาใหม่นี้จะรู้ว่าข้อความนี้คือข้อความ ของกทม. แต่ก่อนการใช้สีของกทม. มีหลายโทนมาก ในการทำเอกสาร อุปกรณ์ หรือนามบัตรต่างๆ สีผิดเพี้ยนหมด จึงเป็น จุดหนึ่งที่ทำให้เกิดการปรับให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน มีฟอนต์ ของตัวเอง มีรูปลักษณ์ มีวิธีการใช้ ซึ่งในการดูแลเรื่องนี้ เนื่องจากตัวเราเองไม่ได้มีความรู้ในเรื่องนี้มากพอ และเราไม่อยากเข้าไปนั่ง เพราะเป็นหัวหน้าหน่วยงาน หากเราให้ความเห็น กลายเป็น ทุกคนต้องฟังเรา จึงมีคณะกรรมการ/คณะทำงานเป็นผู้พิจารณา ซึ่งมีทั้งเอกชนและคนที่มีความรู้ในการออกแบบ โดยมีการประมูลอย่างถูกต้อง ทุกอย่างมีกระบวนการที่ทำตามระเบียบโปร่งใส

สำหรับเรื่องคำขวัญ นายชัชชาติกล่าวว่า อาจมีคำหลายๆ คำที่เปลี่ยนแปลงไปตามบริบทของเมืองที่ไม่เหมือนกับเมื่อ 20 ปีที่แล้ว ก็อาจจะถึงเวลาที่ต้องคิดแล้วว่าคำไหนที่จะเหมาะสมกว่าสำหรับในอีก 4 จุด ซึ่งอาจจะมีการจัดประกวดแบบในอนาคต กรณีที่เกิดขึ้นนี้เหมือนเป็นการต้อนรับไพรด์มันท์ ซึ่งจะมีการ จัดขบวนพาเหรดจากจุดนี้ด้วย จึงเหมือนเป็นการสื่อสารถึง การมีความเห็นที่แตกต่างกัน ได้รับฟัง ได้ทำให้เห็นมุมมอง ที่แตกต่างกัน

 



ที่มา:  นสพ.ข่าวสด ฉบับวันที่ 31 พ.ค. 2567

แชร์ข่าว:
กรุงเทพฯ มีอะไร อัพเดทข่าวสารฉับไว กิจกรรมที่น่าสนใจ และมีส่วนร่วมได้ รวมไว้ให้ที่นี่

©2022 สงวนลิขสิทธิ์ กรุงเทพมหานคร

สำนักงานประชาสัมพันธ์ สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร 173 ถนนดินสอ แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กทม. 10200