Search
Close this search box.
‘ครึ่งทาง’สถานะ…พ่อเมือง ปักธงคนกรุงต้องเหนื่อยน้อยลง

ทีมข่าวชุมชนเมือง รายงาน

2 ปีผ่านไปหลายคนก็ยังคงมีคำถามว่า นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. พร้อมทีมบริหาร ทำอะไรให้กรุงเทพมหานครเปลี่ยนแปลงไปบ้าง ผลงานตามนโยบายนับร้อยสามารถทำได้จริง หรือเป็นแค่ราคาคุย

กลางสัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้ว่าฯกทม. นำทีมไขผลงาน “2 ปี ทำงาน ‘เปลี่ยน ปรับ’ ยกระดับเมืองน่าอยู่” พร้อมฉายภาพวิสัยทัศน์การทำงานอีก 2 ปีข้างหน้า โดยระบุที่ผ่านมายังคงเน้นการทำงานในมิติต่าง ๆ เนื่องจากทีมบริหารมองว่า เมืองที่มีประสิทธิภาพต่ำ ทำให้คนเหนื่อย

ดังนั้น การบริหารเมืองให้ดี ประชาชนจะเป็นผู้ได้ประโยชน์ ก่อนหน้านี้จึงมีการเปลี่ยนแปลงและปรับปรุง หลากหลายด้าน เพื่อให้การทำงานและการแก้ไขปัญหา คล่องตัว ทำให้คนเหนื่อยน้อยลง และมีความสุขกับการใช้ชีวิตมากขึ้น ซึ่งมีทั้งการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง ควบคู่กับสร้างประสิทธิภาพเมือง

ช่วงหนึ่ง ผู้ว่าฯชัชชาติ ยอมรับว่า ตลอด 2 ปีที่ผ่าน มา ยังมีสิ่งที่ทำไม่ดี ต้องตั้งหน้าตั้งตาปรับปรุงให้ดีขึ้น จะพยายามทำงานให้เต็มที่ เพราะอยากให้ทุกคนเหนื่อยน้อยลงกับการอยู่ในเมืองนี้ อยากเพิ่มประสิทธิภาพเมืองนี้ให้ดีขึ้น ให้ทุกคนมีความสุข และใช้ชีวิตให้ดีทั้งครอบครัว

ส่วนภาคต่อ 2 ปีหลัง คนกรุงจะได้เมืองอย่างไรนั้น ชี้หนึ่งนโยบายที่วางไว้คือ การแก้ปัญหาจัดเก็บขยะให้มีประสิทธิภาพ เพราะที่ผ่านมาถือถูกร้องเรียนเป็นอันดับต้น ๆ เจ้าหน้าที่ไปเก็บไม่ทัน สร้างปัญหากลิ่นเหม็น ขยะตกค้างล้นสูงกองท่วมหัว

นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าฯกทม. กล่าวว่า ปัจจุบันกทม.มีรถเก็บขยะ 2,019 คัน ในจำนวนนี้เป็นรถที่ กทม.ซื้อมาใช้เอง 456 คัน และมีอยู่อีก 1,563 คันที่เช่า ทั้งหมดเป็นรถที่ใช้พลังงานดีเซล หรือสันดาป ในอนาคตภายใต้การปรับเปลี่ยนให้มีสิ่งแวดล้อมที่ดี ตั้งแต่เดือน ต.ค.เป็นต้นไป กทม.จะมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เกี่ยวกับเรื่องการใช้รถเก็บขยะ โดยเปลี่ยนจากรถสันดาป หรือรถที่ใช้พลังงานดีเซล มาเป็น “รถพลังงานไฟฟ้า” แทน

จากการคำนวณรถขยะขนาด 5 ตัน เมื่อเปรียบเทียบกัน สามารถลดค่าเช่าลงเหลือ 2,240 บาท/คัน/วัน จาก 2,800 บาท/คัน/วัน ลดลงร้อยละ 20 ขณะเดียวกันรถไฟฟ้ายังลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเหลือ 192 ตัน/ปี จาก 2,256 ตัน/ปี ลดการปล่อย PM 2.5 เหลือเป็นศูนย์ จาก 30 กก./ปี

อีกทั้งลดต้นทุนของการใช้พลังงานเหลือ 455 บาท/เที่ยว จากเดิม 1,300 บาท/เที่ยว ซึ่งลดลงไม่น้อยกว่า 3 เท่า จึงมั่นใจว่าการเปลี่ยนแปลงการใช้รถเก็บขยะเป็นไฟฟ้าจะทำให้สภาวะแวดล้อมใน กทม.ดีขึ้น

นอกจากนี้ ยังมีการเปลี่ยนรถบริการของ กทม.ในส่วนรถบรรทุกน้ำ รถสุขาเคลื่อนที่ รถบรรทุก 6 ล้อ ด้วย โดยมีแผนรับมอบรถยนต์พลังงานไฟฟ้า ในปี 67 จำนวน 615 คัน แยกเป็นรถเก็บขยะ 368 คัน รถบรรทุกน้ำ 145 คัน ส่วนปี 68 จำนวน 392 คัน แยกเป็นรถเก็บขยะ 372 คัน รถสุขาเคลื่อนที่ 10 คันและรถบรรทุก 6 ล้อ 10 คัน และปี 69 อีก 657 คัน เป็นรถเก็บขยะทั้งหมด

นายจักกพันธุ์ ย้ำว่า รถทั้งหมดเป็นรถที่ กทม.เช่า ดังนั้นการบำรุงรักษา หรือหากสภาพรถมีปัญหา ผู้รับจ้างจะต้องดำเนินการแก้ไข พร้อมจัดหารถมาใช้ทดแทนคันที่มีปัญหา เพื่อให้มีรถ ใช้เพียงพอในระบบ

อีกนโยบายสำคัญคือ สุขภาพดี ปีนี้ กทม.ตั้งเป้าตรวจสุขภาพประชาชน 1 ล้านคน แต่ในอีก 2 ปีข้างหน้า กทม.มีแผนที่จะเปิดโรงพยาบาลแห่งใหม่ 4 แห่ง ขยายการให้บริการได้อีกกว่าพันเตียง

น.ส.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าฯกทม. กล่าวว่า การยกระดับการบริการด้านสาธารณสุข จะผลักดันโรงพยาบาลเดิม 3 แห่งโดยจะเพิ่มที่โรงพยาบาลกลางอีก 150 เตียง โรงพยาบาลบางนาเพิ่ม 324 เตียง และโรงพยาบาลคลองสามวา เพิ่ม 268 เตียง และเพิ่มโรงพยาบาลในสังกัด กทม. อีก 4 แห่ง ได้แก่

โรงพยาบาลพระมงคลเทพมุนี ขนาด 150 เตียง (เปิดให้บริการ OPD แล้ว) ในพื้นที่เขตภาษีเจริญ ส่วนอีก 3 แห่ง ที่รออยู่คือโรงพยาบาลดอนเมือง ขนาด 200 เตียง โรงพยาบาลสายไหม ขนาด 120 เตียง และโรงพยาบาลทุ่งครุ ขนาด 60 เตียง

จากทั้งหมดนี้ จะทำให้ขยายเตียงดูแลสุขภาพคนกรุง ได้เพิ่มอีก 1,272 เตียง หรือขยายเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 30 ขณะเดียวกันยังพัฒนาศูนย์บริการสาธารณสุข (ศบส.) ให้เข้า ถึงง่าย กระจายทั่วพื้นที่ โดยก่อสร้างอาคารใหม่ 21 แห่ง และปรับปรุงใหม่อีก 31 แห่ง ขณะเดียวกันขยายการกู้ชีพกู้ภัยไปให้ถึงบ้านประชาชน โดยจะมีการยกระดับ Command Center และสามารถสั่งการแบบเรียลไทม์ผ่านระบบทรัพยากรและห้อง War Room ได้.

 



ที่มา:  นสพ.เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 31 พ.ค. 2567

แชร์ข่าว:
กรุงเทพฯ มีอะไร อัพเดทข่าวสารฉับไว กิจกรรมที่น่าสนใจ และมีส่วนร่วมได้ รวมไว้ให้ที่นี่

©2022 สงวนลิขสิทธิ์ กรุงเทพมหานคร

สำนักงานประชาสัมพันธ์ สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร 173 ถนนดินสอ แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กทม. 10200