Search
Close this search box.
คอลัมน์ สัตว์เลี้ยงแสนรัก: กทม.แจงแนวทางจัดซื้ออาหารดูแลสุนัขที่ศูนย์พักพิงฯจ.อุทัยธานี

ยังคงมีดราม่าอย่างต่อเนื่องเกี่ยวกับการดูแลสุนัขจรของสถานกักกันสัตว์ที่มีหลายเพจเกี่ยวกับการดูแลสุนัขจร แมวจร ออกมาแฉว่า น้องหมาแมวที่ถูกจับไปไว้ในสถานที่ดูแลของ กทม. ไม่ได้มีคุณภาพชีวิตที่ดี แต่อย่างไรก็ตามทางด้านหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรงก็ไม่ได้นิ่งนอนใจรีบลงพื้นที่ตรวจเช็กทันที นายสุนทร สุนทรชาติ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย (สนอ.) กทม.กล่าวถึงความคืบหน้าการแก้ปัญหาเรื่องอาหารสุนัขจรจัดในสถานกักกันสัตว์ที่ อ.ทัพทัน จ.อุทัยธานี และปัญหาบุคลากรสัตวแพทย์ไม่เพียงพอว่า สนอ.ได้จัดซื้ออาหารสุนัขด้วยวิธีการประมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) ซึ่งมีการกำหนดปริมาณการจัดซื้อ ปริมาณของสารอาหารและขนาดเม็ดอาหารให้เหมาะสมและเพียงพอกับความต้องการของสุนัข การจัดส่งอาหารแบ่งเป็นรอบ โดยในแต่ละรอบการส่งอาหารสุนัขต้องมีอายุการผลิตไม่เกิน 1 เดือน ซึ่งการจัดเก็บและนำอาหารมาใช้ในรูปแบบเข้าก่อน ออกก่อน (First-In First-Out) เพื่อความสดใหม่ของอาหาร ปัจจุบันสุนัขในศูนย์พักพิงสุนัข กทม. จ.อุทัยธานี เป็นสุนัขโตเต็มวัยและใช้อาหารเม็ดเป็นอาหารหลัก เนื่องจากอาหารเม็ดมีชนิดของสารอาหารครบมากกว่าอาหารเปียก

นอกจากนี้ ผิวสัมผัสของอาหารเม็ดยังช่วยเสริมการบดเคี้ยวซึ่งส่งผลดีต่อสุขภาพฟันของสุนัข อย่างไรก็ตาม มีการเสริมอาหารเปียก เพื่อเพิ่มความน่ารับประทานให้กับสุนัขบางกลุ่ม ทั้งนี้ ได้สุ่มตัวอย่างอาหารสุนัขจากศูนย์พักพิงสุนัขฯ เพื่อส่งตรวจคุณภาพอาหารสัตว์ทางเคมีและคุณภาพอาหารสัตว์ทางพิษวิทยาและชีวเคมี พบว่า ผ่านตามเกณฑ์ที่กำหนด สำหรับแนวทางการดูแลสุนัขในศูนย์พักพิงสุนัข กทม. จ.อุทัยธานี ประกอบด้วย การเลี้ยงดูแลประจำวัน การป้องกันโรคด้วยการฉีดวัคซีน ถ่ายพยาธิ และป้องกันเห็บหมัด การรักษาสุนัขเจ็บป่วย การสร้างความคุ้นเคยและ การฝึกสุนัขให้เชื่อฟังคำสั่งเบื้องต้น เพื่อรอรับการอุปการะ ซึ่งภายในศูนย์พักพิงสุนัขฯ มีสัตวแพทย์และเจ้าหน้าที่ดูแลสุนัขประมาณ 70 คน โดยสัตวแพทย์จะวางแผนการจัดการด้านสุขภาพของสุนัข ด้านการเลี้ยงดูแล ด้านการป้องกันโรค ให้แก่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานดูแลสุนัข นอกจากนั้น สัตวแพทย์ยังดูแลด้านการคัดกรองและการรักษาโรค ซึ่งปัจจุบันยังไม่พบโรคระบาดในศูนย์พักพิงสุนัขฯ แต่อย่างใด ส่วนการเสียชีวิตของสุนัขในศูนย์พักพิงสุนัขฯ ส่วนใหญ่จะเป็นการเสียชีวิตตามอายุขัยและตามสภาวะสุขภาพของสุนัขจรจัดที่อาจไม่แข็งแรง หรือมีโรคแฝงภายในร่างกายมาก่อน สำหรับการขนย้ายสุนัขมาที่ศูนย์พักพิงสุนัขฯ จะนำสุนัขใส่กรงสำหรับขนย้ายในจำนวนที่เหมาะสมต่อพื้นที่ภายในกรง

ทั้งนี้ จำนวนสุนัขต่อกรงขึ้นอยู่กับขนาดของกรงและขนาดตัวของสุนัข โดยขนย้ายด้วยยานพาหนะที่มีหลังคาปกคลุมและอากาศถ่ายเทได้สะดวก เพื่อป้องกันความร้อนจากการขนย้ายสุนัข รองผู้ว่าฯ ทวิดา ตรวจศูนย์พักพิงสุนัข (อุทัยธานี) ยืนยันสัตว์ปลอดโรค มีสัตวแพทย์ดูแลตามมาตรฐาน อนาคตเตรียมพัฒนาให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมศูนย์พักพิงสุนัขจรจัดกรุงเทพมหานคร (อุทัยธานี) เช่น โดมเลี้ยงสุนัข อาคารเก็บอาหาร อาคารคลินิกสัตวแพทย์ และพื้นที่โดยรอบ พร้อมประชุมหารือเพื่อวางแผนการปรับกายภาพของศูนย์พักพิงฯ เนื่องจากมีความชำรุดตามระยะเวลาและการใช้งาน โดยระยะแรกจะดำเนินการปรับปรุงซ่อมแซมคอกสุนัขและอาคารเก็บอาหารสุนัข รวมทั้งตรวจการจัดการอาหารสุนัขและวางแผนระบบการบริหารจัดการดูแลสุนัขให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ ศูนย์พักพิงสุนัขจรจัดกรุงเทพมหานคร (อุทัยธานี) มีพื้นที่ 200 ไร่ สามารถรองรับสุนัขได้ 6,000 ตัว โดยมีแผนปรับลดจำนวนสุนัขต่อพื้นที่ลง เพื่อเพิ่มพื้นที่ต่อตัวให้กับสุนัขมากขึ้น ภายในแบ่งเป็นโดมขนาดใหญ่มีหลังคาสูงถ่ายเทอากาศได้ดีจำนวน 16 โดม ในแต่ละโดมจะประกอบด้วยคอกสุนัข 5 คอก และในแต่ละโดมมีเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานดูแลสุนัขประมาณ 3-4 คนขึ้นกับจำนวนของสุนัข เมื่อสุนัขจรจัดเข้ามาที่ศูนย์พักพิงสุนัขฯ จะมีการแยกระหว่างสุนัขเดิมและสุนัขใหม่เพื่อให้เกิดความคุ้นเคยกับสภาพพื้นที่ จากนั้นจะมีการสร้างความคุ้นเคยระหว่างสุนัขเดิมและสุนัขใหม่ และจะทำการคัดแยกสุนัขที่มีนิสัยดุร้ายก้าวร้าวออกจากสุนัขตัวอื่น รวมทั้งคัดแยกสุนัขแก่หรือเจ็บป่วยไปเลี้ยงดูแลในพื้นที่แต่ละประเภท อย่างไรก็ตามในแต่ละวันเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานดูแลสุนัขประจำคอกจะทำการสังเกตพฤติกรรมของสุนัขหากพบมีการกัดทำร้ายจะทำการคัดแยกสุนัขออก

โดยแนวทางการดูแลสุนัขภายในศูนย์พักพิงสุนัขจรจัดกรุงเทพมหานคร (อุทัยธานี) ประกอบด้วยการเลี้ยงดูแลประจำวัน การป้องกันโรคด้วยการฉีดวัคซีน ถ่ายพยาธิ และป้องกันเห็บหมัด การรักษาสุนัขเจ็บป่วย การสร้างความคุ้นเคยและการฝึกสุนัขให้เชื่อฟังคำสั่งเบื้องต้นเพื่อรอรับการอุปการะ ศูนย์พักพิงสุนัขฯ มีสัตวแพทย์ 2 คน และเจ้าหน้าที่ดูแลสุนัข 70 กว่าคน โดยสัตวแพทย์จะทำหน้าที่ในการวางการแผนจัดการด้านสุขภาพของสุนัข การเลี้ยงดูแล การป้องกันโรค ให้แก่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานดูแลสุนัข นอกจากนี้ยังดูแลด้านการคัดกรองและการรักษาโรค ซึ่งปัจจุบันไม่พบโรคระบาดในศูนย์พักพิงสุนัขฯ แต่อย่างไรก็ตาม กรณีสุนัขป่วยที่ต้องได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่องจะย้ายสุนัขมาที่คอกพยาบาลซึ่งอยู่ติดกับอาคารคลินิกสัตวแพทย์เพื่อดูแลรักษาอย่างใกล้ชิด การเสียชีวิตของสุนัขในศูนย์พักพิงสุนัขฯ ส่วนใหญ่จะเป็นการเสียชีวิตตามอายุขัยและตามสภาวะสุขภาพที่อาจจะไม่แข็งแรงหรือมีโรคแฝงภายในร่างกายของสุนัขจรจัดมาก่อน หรือการกัดทำร้ายกันตามลักษณะของสุนัขจรจัดเมื่ออยู่รวมฝูง นอกจากนี้คลินิกสัตวแพทย์ภายในศูนย์พักพิงสุนัขฯ ยังให้บริการตรวจรักษาสัตว์เลี้ยงขนาดเล็กให้แก่ประชาชนจังหวัดอุทัยธานีในพื้นที่ใกล้เคียงกับศูนย์พักพิงสุนัขฯ โดยไม่คิดค่ารักษาตามบันทึกข้อตกลงระหว่างกรุงเทพมหานครกับจังหวัดอุทัยธานี.

 



ที่มา:  นสพ.เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 1 มิ.ย. 2567 (กรอบบ่าย)

แชร์ข่าว:
กรุงเทพฯ มีอะไร อัพเดทข่าวสารฉับไว กิจกรรมที่น่าสนใจ และมีส่วนร่วมได้ รวมไว้ให้ที่นี่

©2022 สงวนลิขสิทธิ์ กรุงเทพมหานคร

สำนักงานประชาสัมพันธ์ สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร 173 ถนนดินสอ แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กทม. 10200