Flag
Search
Close this search box.
ผู้ว่าฯ กทม. ย้ำให้ความเป็นธรรม หลังสภากทม.ถามสด หวั่นข้อร้องเรียนในระบบทราฟฟี่ ฟองดูว์ กระทบตัวชี้วัดหน่วยงาน

 

(24 เม.ย.67) นางชญาดา วิภัติภูมิประเทศ รองประธานสภากรุงเทพมหานคร คนที่หนึ่ง เป็นประธานการประชุมสภากรุงเทพมหานครสมัยประชุมสามัญ สมัยที่สอง (ครั้งที่ 4 ) ประจำปีพุทธศักราช 2567 โดยมี สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร คณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร และหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม ณ ห้องประชุมสภากรุงเทพมหานคร อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร 2 ดินแดง

นายสมชาย เต็มไพบูลย์กุล สมาชิกสภากรุงเทพมหานครเขตคลองสาน ตั้งกระทู้ถามสด เรื่อง ปัญหาการใช้งาน Traffy Fondue ของสำนักงานเขตคลองสาน เนื่องจากกรุงเทพมหานครมีนโยบายรับเรื่องร้องเรียนผ่านแพลตฟอร์ม Traffy Fondue โดยประชาชนสามารถแจ้งปัญหาผ่านแอปพลิเคชันLine ทำให้มีความสะดวกในการสื่อสารระหว่างประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้โดยตรง แต่ในช่วงเวลาที่ผ่านมาพบว่าเรื่องร้องเรียนที่แจ้งเข้ามาที่ Traffy Fondue ของสำนักงานเขตคลองสานประสบปัญหาหลายประการ เช่น การร้องเรียนเท็จเพื่อกลั่นแกล้งกัน การแก้ไขปัญหาล่าช้าทำให้ประชาชนร้องเรียนซ้ำหลาย ๆ ครั้ง เรื่องที่ส่งต่อไปยังหน่วยงานอื่นไม่ได้รับการแก้ไขหรือเรื่องที่ไม่สามารถแก้ไขได้ทำให้มีการยุติเรื่องเนื่องจากกระทบกับตัวชี้วัดของสำนักงานเขต เป็นต้น จากปัญหาดังกล่าวจึงขอสอบถามผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ดังนี้
1. มีแนวทางแก้ไขปัญหาการร้องเรียนซ้ำ การร้องเรียนเท็จ การตัดต่อภาพที่สร้างความเสียหายให้แก่บุคคลหรือหน่วยงานภายนอกอย่างไร
2. หน่วยงานของกรุงเทพมหานครแก้ไขปัญหาที่ร้องเรียนผ่านทาง Traffy Fondue ล่าช้า เช่น เรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับไฟ LED แบบที่มีระบบ IOT เรื่องดวงไฟชำรุด เป็นต้น มีวิธีการแก้ไขอย่างไร
3. การยุติเรื่องหรือการมีเรื่องคงค้างใน Traffy Fondue ของสำนักงานเขตคลองสานส่งผลกระทบต่อตัวชี้วัดของหน่วยงานหรือไม่ อย่างไร

“เข้าใจว่ามีพันธกิจสำคัญคือการแก้ไขปัญหาเส้นเลือดฝอยตามนโยบายผู้ว่าฯ ทั้ง 11 ด้าน และผู้ว่าฯ ได้รายงานว่าเรื่องที่ได้รับการร้องเรียนทั้งหมด 563,292 เรื่อง อยู่ระหว่างดำเนินการและส่งต่ออีกกว่า 1 แสนเรื่อง ซึ่งระบบการส่งต่อข้อร้องเรียนเป็นระบบ AI โดยส่งต่อเรื่องไม่มีการกลั่นกรองข้อมูลใด ๆ ทั้งสิ้น เมื่อเกิดปัญหาไม่สามารถตรวจสอบที่มาของการร้องเรียนทำให้เกิดความเสียหาย หากผู้ว่าฯ แก้ปัญหาทราฟฟี่ ฟองดูว์ได้จะเป็นประโยชน์กับทุกเขต ไม่ใช่เฉพาะเขตคลองสานแห่งเดียว” นายสมชาย กล่าว

ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าวชี้แจงประเด็นคำถามที่ 1 ว่า เรื่องของทราฟพี่ ฟองดูว์เป็นกระบวนการที่นำมาใช้เพื่อตอบสนองการแก้ไขปัญหาของประชาชนที่มีมากขึ้น โดยหัวใจสำคัญ คือ ทราฟฟี่ ฟองดูว์ สามารถขยายผลได้อย่างรวดเร็ว ระบบที่ไม่มี Gatekeeper ทำให้ประชาชนจะแจ้งวันไหน เวลาไหนก็ได้ และพบว่ากว่า 60% เป็นการแจ้งนอกเวลาราชการ สุดท้ายจะมีระบบการประเมินเพื่อให้คะแนนผู้ปฏิบัติงาน

“ขณะนี้ มีประชาชนร้องเรียนผ่านระบบแล้วกว่า 563,292 เรื่อง แก้ไขแล้วเสร็จ 444,223 เรื่อง (79%) เป็นเรื่องที่ส่งต่อหน่วยงานที่รับผิดชอบ 96,811 เรื่อง (17%) อยู่ระหว่างหน่วยงานกทม.ดำเนินการ 10,397 เรื่อง (2%) ส่วนใหญ่เป็นเรื่องค้างของสำนักขนาดใหญ่ ได้แก่ สำนักการโยธา สำนักสิ่งแวดล้อม และสำนักการระบายน้ำ อย่างไรก็ตามพบว่าระบบคอมพิวเตอร์ยังมีข้อบกพร่อง AI ทำการคัดเลือกและกระจายเรื่องจริง แต่จะมีคนที่คอยรับเรื่องและกลั่นกรองอีกครั้ง ขณะนี้มีเจ้าหน้าที่ดำเนินการ 14 คน และเขตจะมีเจ้าหน้าที่รับเรื่องต่ออีกครั้ง โดยเรื่องการตัดต่อภาพถือเป็นเรื่องความโปร่งใส จะมีเฉพาะผู้เกี่ยวข้อง หรือปลัดกรุงเทพมหานครตรวจสอบได้ แต่จะมอบหมายให้ตรวจสอบเรื่องนี้ให้เข้มข้นขึ้น สุดท้ายถึงแม้ระบบทราฟฟี่ ฟองดูว์จะมีข้อบกพร่องแต่เชื่อว่ายังมีข้อดีมากกว่า”

ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าวชี้แจงประเด็นคำถามที่ 2 ว่า เรื่องนี้แสดงให้เห็นถึงจุดแข็งของทราฟฟี่ ฟองดูว์เพราะมีประชาชนเข้าไปแจ้งเป็นจำนวนมาก และเป็นปัญหาที่กทม.จะเร่งแก้ให้เสร็จภายใน 30 วัน ปัญหาที่เกิดไม่ใช่จากแพลตฟอร์มแต่เกิดจากผู้ปฏิบัติหรือหน่วยงานที่ยังมีความล่าช้า ซึ่งจะเร่งรัดให้แล้วเสร็จโดยเร็ว

สำหรับคำถามที่ 3 ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าวว่า ทั้งหน่วยงาน ฝ่ายบริหารและผู้ว่าฯ เอง เรามีตัวชี้วัดสำคัญร่วมกันคือ ต้องแก้ไขปัญหาของทุกเขตทุกหน่วยงานให้ได้ 75 % ในเรื่องการร้องเรียนโดยบางคนร้องเรียนจำนวนกว่าร้อยเรื่อง ต้องใช้กระบวนการที่เป็นธรรมและไม่ให้กระทบตัวชี้วัด ที่เป็นผลงานที่แท้จริงของเขต หรือของหน่วยงาน เพราะเราคงไม่เชื่อแค่คอมพิวเตอร์อย่างเดียวแต่จะมีเจ้าหน้าที่ช่วยกลั่นกรองในเรื่องนี้ด้วย
———-

แชร์ข่าว:
กรุงเทพฯ มีอะไร อัพเดทข่าวสารฉับไว กิจกรรมที่น่าสนใจ และมีส่วนร่วมได้ รวมไว้ให้ที่นี่

©2022 สงวนลิขสิทธิ์ กรุงเทพมหานคร

สำนักงานประชาสัมพันธ์ สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร 173 ถนนดินสอ แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กทม. 10200