Flag
Search
Close this search box.
กทม.ชี้แจงข่าวร้องเรียน ประจำวันศุกร์ที่ 5 เมษายน 2567

กทม.แนะกลุ่มเสี่ยง-ผู้ปฏิบัติงานกลางแจ้งดูแลรักษาสุขภาพป้องกันโรคลมแดด
 
นายประพาส เหลืองศิรินภา ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม (สสล.) กทม.กล่าวถึงมาตรการรับมือกับสภาพอากาศที่ร้อนจัดในพื้นที่กรุงเทพฯ ว่า สสล.ร่วมกับสำนักการแพทย์ สำนักอนามัย สำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว สำนักพัฒนาสังคม สำนักเทศกิจ สำนักการศึกษา สำนักการโยธา และสำนักงานเขตทั้ง 50 เขต จัดทำแผนการรับมือกับสภาพอากาศที่ร้อนจัดในพื้นที่กรุงเทพฯ ปี 2567 และดำเนินมาตรการเชิงรุกเน้นย้ำและให้คำแนะนำแก่ประชาชนทุกกลุ่มเกี่ยวกับการดูแลรักษาสุขภาพในช่วงฤดูร้อนที่สภาพอากาศร้อนจัด โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคประจำตัว รวมถึงผู้ที่มีอาชีพทำงานกลางแจ้ง ตลอดจนบุคลากรของ กทม.ที่ต้องปฏิบัติงานกลางแจ้งอย่างใกล้ชิด เช่น พนักงานกวาดถนน พนักงานเก็บขนมูลฝอย พนักงานในสวนสาธารณะที่ดูแลบำรุงรักษาต้นไม้และพื้นที่สีเขียวของ กทม.ในช่วงที่กรมอุตุนิยมวิทยาคาดหมายอุณหภูมิเพิ่มสูงขึ้นในช่วงฤดูร้อนทุกวัน 

          สำหรับสวนสาธารณะของ กทม.ทั้ง 51 แห่ง ได้ประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนให้ข้อมูลความรู้เรื่องภาวะฮีทสโตรกและค่าดัชนีความร้อน (Heat Index) พร้อมจัดหน้าที่ตรวจตราและสร้างความเข้าใจกับประชาชน ผู้ที่มาพักผ่อนหย่อนใจ ออกกำลังกาย ทำกิจกรรมนันทนาการกลางแจ้ง ควรหลีกเลี่ยงการออกกำลังกายกลางแจ้งในเวลากลางวันอย่างต่อเนื่อง พร้อมแจ้งข้อแนะนำการดูแลรักษาสุขภาพและข้อควรปฏิบัติต่าง ๆ เช่น ควรดื่มน้ำบ่อย ๆ และวิธีสังเกตอาการเพลียแดด ป้องกันผลกระทบและอันตรายที่อาจเกิดขึ้นกับสุขภาพจากภาวะอากาศร้อนในขณะปฏิบัติงาน เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยจากโรคที่เกิดจากภาวะอากาศร้อน เช่น อาการเพลียแดด ภาวะฮีทสโตรก (Heat Stroke) รวมถึงวิธีสังเกตอาการและวิธีการปฐมพยาบาลเบื้องต้นอย่างถูกวิธี เพื่อลดผลกระทบต่อสุขภาพและอันตรายที่อาจเกิดขึ้นต่อชีวิต เป็นต้น

นอกจากนี้ ศูนย์ข้อมูลคุณภาพอากาศ กทม.โดยทีมโฆษกศูนย์และทีมประชาสัมพันธ์ของ สสล.ได้ประสานสำนักการแพทย์ เชิญแพทย์จากโรงพยาบาลในสังกัด กทม.มาให้ความรู้เรื่องภาวะฮีทสโตรกและค่าดัชนีความร้อน (Heat Index) ในช่วงฤดูร้อนอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ประชาชนสามารถติดตามการพยากรณ์อากาศจากเว็บไซต์ของกรมอุตุนิยมวิทยา http://www.tmd.go.th และติดตามการแจ้งเตือนค่าดัชนีความร้อน (HEAT INDEX) จากเพจเฟซบุ๊ก : กรุงเทพมหานคร และสำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร หากพบเหตุฉุกเฉินสามารถแจ้งสายด่วน 1669
 
นางเลิศลักษณ์ ลีลาเรืองแสง ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ (สนพ.) กทม.กล่าวว่า สนพ.ได้เตรียมความพร้อมเฝ้าระวังสถานการณ์ความร้อนและสุขภาพ ติดตามการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ สื่อสารเตือนภัยประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงควรได้รับการดูแลเป็นพิเศษ รวมถึงกำหนดแนวทางการดำเนินงานด้านการแพทย์และสาธารณสุข เพื่อลดและป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพจากความร้อนและเตรียมพร้อมศูนย์ปฏิบัติการการแพทย์ฉุกเฉิน เนื่องจากสภาพอากาศที่ร้อนจัดในขณะนี้อาจทำให้เกิดปัญหาต่อสุขภาพได้ โดยเฉพาะโรคลมแดด หรือภาวะฮีตสโตรก (Heat Stroke) ซึ่งประชาชนสามารถป้องกันตนเองโดยหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมในสภาพอากาศที่ร้อนจัด หรือกลางแจ้งเป็นเวลานาน ๆ หากสามารถเลี่ยงได้ควรเลือกเวลาที่ทำกิจกรรมในช่วงเช้ามืด หรือระหว่างพระอาทิตย์ตกดิน รวมทั้งควรดื่มน้ำให้มากเพียงพอ หากจำเป็นต้องออกไปกลางแจ้ง ควรมีอุปกรณ์ป้องกันแสงแดด เช่น เสื้อผ้าที่ระบายอากาศได้ดี หมวก ร่ม ส่วนวิธีสังเกตอาการโรคลมแดด ขอให้ระวังหากเกิดอาการตัวร้อนจัด มีไข้สูงกว่า 40-41 องศาเซลเซียส ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน กระหายน้ำมาก มีอาการโซเซ เป็นตะคริว รู้สึกเหนื่อย หายใจเร็ว ใจสั่น ชีพจรเต้นเร็ว ความดันโลหิตลดลง หรือเป็นลมหมดสติ วิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้นให้นำผู้มีอาการเข้าที่ร่ม นอนราบ ยกเท้าสูงทั้งสองข้าง ถอดเสื้อผ้าออก และใช้ผ้าชุบน้ำเย็น หรือน้ำแข็งประคบตามซอกตัว คอ รักแร้ ข้อพับ ขาหนีบ ศีรษะ ร่วมกับการใช้พัดลมเป่า พ่นละอองน้ำ ระบายความร้อน เพื่อลดอุณหภูมิร่างกายให้ลดต่ำลงโดยเร็วที่สุด แล้วรีบนำส่งสถานพยาบาล หากพบผู้ป่วยที่มีอาการฮีทสโตรก แบ่งเป็น 2 กรณี คือ ผู้ป่วยที่หมดสติและไม่หายใจให้โทร.1669 หน่วยบริการการแพทย์ฉุกเฉิน เพื่อรักษาผู้ป่วยอย่างรวดเร็วและทำ CPR ผู้ป่วย ณ บริเวณนั้น กรณีผู้ป่วยยังสามารถหายใจได้ให้นำผู้ป่วยเข้าที่ร่มและคลายเสื้อผ้าของผู้ป่วยออก ร่วมกับการเช็ดตัวด้วยผ้าเย็น หรือใช้การฉีดสเปรย์ เพื่อระบายความร้อนร่วมกับการเปิดพัดลม

 

 

 

กทม.เดินหน้าป้องกันแก้ปัญหายาเสพติดในสถานศึกษา-ชุมชนในเขตดินแดง

นายธนกร ไชยศรี ผู้อำนวยการสำนักการศึกษา (สนศ.) กทม.กล่าวถึงการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนผู้พักอาศัยในแฟลตดินแดงและพื้นที่เขตดินแดงที่อยู่ในความดูแลรับผิดชอบของ กทม.เช่น การศึกษา การแก้ปัญหายาเสพติดว่า สนศ.ได้ประสาน ความร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานเขต สำนักป้องกันและบำบัดการติดยาเสพติด สำนักอนามัย และหน่วยงานภายนอกที่เกี่ยวข้องร่วมกันเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจ รวมถึงสร้างการรับรู้เกี่ยวกับโทษ พิษภัย และผลกระทบของยาเสพติดทุกชนิด น้ำกระท่อม กัญชา กัญชง ให้แก่นักเรียน บุคลากรในโรงเรียน ผู้ปกครอง และชุมชนบริเวณแฟลตดินแดงและในพื้นที่เขตดินแดง โดยสอดแทรกเนื้อหาในหลักสูตรการเรียนการสอน กิจกรรม การประชุม การอบรม สื่อสาร เพื่อป้องกันเด็กและเยาวชนให้ห่างไกลจากยา หรือสิ่งเสพติดทุกชนิด ให้นักเรียนมีภูมิคุ้มกันตนเอง และรณรงค์สร้างกระแสทั้งภายในและภายนอกโรงเรียนด้วยการลงพื้นที่ทำความเข้าใจ ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้กับชุมชน ร้านค้ารอบโรงเรียน โดยขอความร่วมมือร้านค้า ร้านอาหารและเครื่องดื่มบริเวณโดยรอบโรงเรียนให้ปฏิบัติตามประกาศ กทม.งดการจำหน่ายอาหารขนมและเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของยาเสพติดให้โทษประเภทต่าง ๆ รวมถึงกัญชา กัญชง และใบกระท่อม เพื่อป้องกันอันตราย หรือผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นกับนักเรียนจากการรับประทานอาหารที่มียาเสพติดให้โทษประเภทต่าง ๆ รวมถึงกัญชา กัญชง และใบกระท่อมเป็นส่วนผสม ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาโรงเรียนสังกัด กทม.ทั้ง 437 โรงเรียน ได้ดำเนินงานด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดมาอย่างต่อเนื่อง

 

 

สนย.แจงคณะกรรมการฯ พิจารณาอุทธรณ์เพิกถอนหนังสือทักท้วงการก่อสร้างคอนโดฯ ใกล้ชุมชนวัดใหม่ยายนุ้ย
 
นายธวัชชัย นภาศักดิ์ศรี ผู้อำนวยการสำนักการโยธา (สนย.) กทม.กล่าวกรณีชาวชุมชนวัดใหม่ยายนุ้ย ขอให้ตรวจสอบโครงการก่อสร้างคอนโดมิเนียมแห่งหนึ่งในเขตธนบุรีไม่ระงับการก่อสร้างระหว่างอุทธรณ์ว่า สนย.ได้ตรวจสอบแล้วพบว่า บริษัทฯ ได้ยื่นแจ้งความประสงค์จะก่อสร้างอาคารตึก 32 ชั้น ชั้นใต้ดิน 1 ชั้น จำนวน 1 เพื่อใช้เป็นอาคารชุด (อยู่อาศัย 792 ห้อง พาณิชย์ 2 ห้อง) และจอดรถยนต์  (ตามแบบ ยผ.4) เมื่อวันที่ 5 ก.ค.65 ที่ถนนราชพฤกษ์ แขวงตลาดพลู เขตธนบุรี ซึ่ง สนย.ได้มีหนังสือแจ้งข้อทักท้วงการก่อสร้าง (ตามแบบ ยผ.5) เมื่อวันที่ 1 พ.ย.65 เนื่องจากมีส่วนที่ขัดต่อกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร ต่อมาบริษัทฯ ได้ยื่นอุทธรณ์หนังสือแจ้งข้อทักท้วงต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคารฯ จากนั้นบริษัทฯ ได้ยื่นแจ้งความประสงค์จะดัดแปลงอาคารตึก 32 ชั้น ชั้นใต้ดิน 1 ชั้น จำนวน 1 เพื่อใช้เป็นอาคารชุด (อยู่อาศัย 679 ห้อง พาณิชย์ 2 ห้อง) และจอดรถยนต์ ตามแบบ ยผ.4 ลงวันที่ 22 ธ.ค.66 

      อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ฯ ได้มีคำวินิจฉัยพิจารณาคำสั่งแจ้งข้อทักท้วงตามแบบ ยผ.5 ลงวันที่ 1 พ.ย.65 ไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยวินิจฉัยให้เพิกถอนหนังสือแจ้งข้อทักท้วง (แบบ ยผ.5) ดังกล่าว จึงมีผลให้บริษัทฯ สามารถที่จะดำเนินการก่อสร้างและดัดแปลงตามที่ได้ยื่นแจ้ง ตามมาตรา 52 แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522

 

 

เขตหนองจอกเฝ้าระวังป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า จัดทำทะเบียนข้อมูลสุนัข-แมวจรจัดในพื้นที่ครบทุกชุมช
 
นายไพโรจน์ จันทรอด ผู้อำนวยการเขตหนองจอก กทม.กล่าวถึงมาตรการเชิงรุกเฝ้าระวังและป้องกันการแพร่ระบาดโรคพิษสุนัขบ้าในพื้นที่เขตหนองจอกว่า สำนักงานเขตฯ ได้ตรวจพบโรคพิษสุนัขบ้าในสุนัขรายแรกของปี 2567 ในพื้นที่แขวงคลองสิบ เขตหนองจอก จึงได้ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ความเข้าใจเรื่องโรคพิษสุนัขบ้า และวิธีป้องกัน พร้อมรณรงค์ฉีดวัคซีนป้องกันโรคในสัตว์เลี้ยงผ่านช่องทางต่าง ๆ เช่น ติดประกาศ ณ สถานที่ต่าง ๆ ไลน์ และเพจเฟซบุ๊กสำนักงานเขตฯ จัดเจ้าหน้าที่ร่วมสอบสวนโรค สำรวจสัตว์เลี้ยงในชุมชนรัศมี 5 กิโลเมตร ฉีดวัคซีนป้องกันโรคในสัตว์เลี้ยงในชุมชนรัศมี 5 กิโลเมตร รวมถึงฉีดซีนวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าในชุมชนอย่างต่อเนื่องตามที่ได้รับการประสานจากหน่วยรับผิดชอบหลัก โดยเฉพาะในพื้นที่ที่เคยพบการระบาดของโรคพิษสุนัขบ้าในปี 2566 ในพื้นที่แขวงคู้ฝั่งเหนือและแขวงคลองสิบ


ขณะเดียวกันสำนักงานเขตฯ ได้ดำเนินมาตรการเชิงรุกเฝ้าระวังและป้องกันการแพร่ระบาดของโรคพิษสุนัขบ้า ประกอบด้วย (1) ออกตรวจตรา ขึ้นทะเบียน ดูแลกำกับกิจการที่เกี่ยวกับการเลี้ยงสัตว์ (ฟาร์มเลี้ยง) และร้านค้าจำหน่ายสัตว์เลี้ยง ผ่านการดูแลกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ (2) ประสานความร่วมมือกับผู้ประกอบการฟาร์มและร้านจำหน่ายสัตว์เลี้ยง คลินิก หรือโรงพยาบาลสัตว์เอกชนขึ้นทะเบียนสัตว์เลี้ยงตั้งแต่ต้นทาง (3) ขึ้นทะเบียนสัตว์เลี้ยงในพื้นที่กรุงเทพฯ พร้อมทั้งดำเนินการตามนโยบายจัดระเบียบสัตว์จร แก้ปัญหาผ่านการจัดการอย่างเป็นระบบ เพื่อให้มีสุนัขและแมวจรลดน้อยลงหลังจากทำหมันอย่างจริงจัง มีศูนย์พักพิงที่รองรับสัตว์จรได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดการดำเนินงานล่าช้าจากการร้องเรียนเหตุในพื้นที่ และประชาชนสามารถรับเลี้ยงสัตว์ใหม่จากสัตว์จรในศูนย์พักพิงของ กทม.ผ่านการดำเนินงาน ๔ ส่วน ได้แก่ (1) จัดชุดออกปฏิบัติการทำหมันและฉีดวัคซีนเชิงรุกควบคู่กับการจัดทำฐานข้อมูลทั้งสุนัขและแมวจรให้เป็นปัจจุบันและลงรายละเอียด ระดับพื้นที่ (2) เปลี่ยนสุนัขจรเป็นสุนัขชุมชน โดยขึ้นทะเบียนและติดสัญลักษณ์หลังจากทำหมัน ฉีดวัคซีนแล้วในสัตว์จรที่ไม่ดุร้าย มีประชาชน หรือชุมชนช่วยกันดูแลในละแวกพื้นที่ (3) ปรับปรุงศูนย์พักพิงของ กทม.ให้มีมาตรฐาน และ 4) ส่งสัตว์จรกลับสู่สถานะสัตว์เลี้ยง (Adopt Not Shop)

        นอกจากนั้น ได้ให้ความรู้แก่ประชาชนในพื้นที่พบโรค เพื่อให้เข้าใจและตระหนักถึงอันตรายที่เกิดจากสัตว์ที่ไม่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า และพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) โรคพิษสุนัขบ้า พ.ศ. 2535 ที่ผู้เลี้ยงสัตว์ต้องพาสัตว์ไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า และการปฐมพยาบาลเมื่อถูกสุนัขแมวกัดข่วนต้องฟอกล้างแผลใส่ยาฆ่าเชื้อแล้วรีบไปพบแพทย์โดยเร็วที่สุด เพื่อรับการฉีดวัคซีนให้ครบโปรแกรม รวมทั้งประชาสัมพันธ์และให้ความรู้เกี่ยวกับข้อกฎหมายสำหรับเจ้าของที่เลี้ยงสุนัขและแมว โดยแนะนำเจ้าของสุนัข/แมว ฉีดวัคซีนฯ ทำหมัน การเลี้ยงสัตว์อย่างรับผิดชอบและดูแลรักษาความสะอาดบริเวณที่เลี้ยงสัตว์ให้เรียบร้อยถูกสุขลักษณะ เพื่อไม่ให้ก่อปัญหากับชุมชน หากพบว่า เจ้าของสุนัข หรือแมวที่สร้างความเดือดร้อนรำคาญ และสร้างปัญหาให้กับชุมชน เช่น ส่งเสียงรบกวน ส่งกลิ่นไม่พึงประสงค์ ก่อความสกปรก ทำลายของ การเพิ่มจำนวนมากขึ้น โดยพิจารณาจากองค์ประกอบของเหตุรำคาญ คือ มีเหตุเกิดขึ้น เหตุที่เกิดนั้นอาจก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ผู้อยู่อาศัยในบริเวณใกล้เคียง หรือผู้ที่ต้องประสบกับเหตุนั้น และเป็นเหตุให้เสื่อม หรืออาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ เป็นไปตาม พ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ. 2535 หมวด ๕ เหตุรำคาญ (หมวด 6 การควบคุมการเลี้ยง หรือปล่อยสัตว์) และข้อบัญญัติ กทม.เรื่อง การควบคุมการเลี้ยง หรือปล่อยสัตว์สุนัข พ.ศ. 2548 

ทั้งนี้ สำนักงานเขตฯ ได้จัดทำทะเบียนข้อมูลสุนัขและแมวจรจัดในพื้นที่เขตหนองจอกครบทุกชุมชน และสำนักอนามัยได้สนับสนุนจัดสรรกรง 3 ประเภท ได้แก่ กรงดักแมว กรงกักขังและขนส่ง และกรงคอนโดพักคอย พร้อมขนมแมวเลีย เพื่อให้สำนักงานเขตฯ นำแมวจรจัดในพื้นที่เข้ารับการผ่าตัดทำหมันและฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าในช่วงเดือน เม.ย.67 เมื่อผ่าตัดทำหมัน ฉีดวัคซีนฯ แล้วให้สำนักงานเขตฯ รับแมวกลับ เพื่อดูแลพักฟื้นเป็นเวลา 3-5 วัน ก่อนปล่อยกลับคืนพื้นที่โดยไม่เพิ่มจำนวนในชุมชน

 


 

 

แชร์ข่าว:
กรุงเทพฯ มีอะไร อัพเดทข่าวสารฉับไว กิจกรรมที่น่าสนใจ และมีส่วนร่วมได้ รวมไว้ให้ที่นี่

©2022 สงวนลิขสิทธิ์ กรุงเทพมหานคร

สำนักงานประชาสัมพันธ์ สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร 173 ถนนดินสอ แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กทม. 10200