Flag
Search
Close this search box.
กทม.ชี้แจงข่าวร้องเรียน ประจำวันจันทร์ที่ 8 เมษายน 2567

กทม.วางแนวทางปลูกต้นไม้ในพื้นที่สาธารณะ เลือกพันธุ์ไม้ให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อม

  

นายประพาส เหลืองศิรินภา ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม (สสล.) กทม.กล่าวกรณีมีข้อสังเกตต้นไม้ส่วนใหญ่ที่นำมาปลูกบริเวณพื้นที่สาธารณะ โดยเฉพาะแนวเกาะกลางถนน ใต้สะพานยกระดับ หรือใต้รางรถไฟฟ้ามักตายเร็ว เนื่องจากสภาพแวดล้อมไม่เหมาะสมว่า กทม.มีข้อปฏิบัติตามแนวทางหลักเกณฑ์พิจารณาการปลูกต้นไม้ในพื้นที่กรุงเทพฯ ประกอบด้วย การปลูกต้นไม้ยืนต้นบนถนนสายเดียวกัน ควรพิจารณาปลูกต้นไม้ชนิดเดียวกันทั้งถนน รวมถึงกรณีการปลูกซ่อมต้นไม้ยืนต้นที่ตาย หรือแคระแกร็น หรือปลูกเสริมให้ได้ระยะด้วย เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยสวยงามและสะดวกในการดูแลรักษา สำหรับการปลูกไม้ดอกไม้ประดับ เพื่อการตกแต่งในถนนสายเดียวกัน ควรปลูกในรูปแบบเดียวกัน หรือคล้ายคลึงกัน และควรเลือกพันธุ์ไม้เพียง 2-3 ชนิดที่ดูแลรักษาง่าย 

  นอกจากนั้น บริเวณที่ว่างริมถนน ริมคลอง หรือที่ว่างอื่น ๆ ให้พิจารณาปลูกต้นไม้ยืนต้นในลักษณะสวนป่าให้มากที่สุด หรือปลูกไม้ดอกไม้ประดับที่ดูแลรักษาง่าย ส่วนบริเวณโคนต้นไม้ยืนต้นให้ปูอิฐรูพรุนเสมอกับพื้นทางเท้า หรือปลูกไม้คลุมดิน ส่วนบริเวณใต้สะพานลอยข้ามแยกให้พิจารณาปลูกต้นไม้ เพื่อเพิ่มสีเขียวและลดความแข็งกระด้างของโครงสร้างสะพาน โดยพิจารณาเลือกชนิดต้นไม้ให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อม ขณะที่การปูหญ้าบริเวณเกาะกลาง ควรปูให้ชิดขอบคันหิน ไม่ควรเซาะร่องลึก และบริเวณเสาตอม่อ เช่น เสาตอม่อรถไฟฟ้า ทางด่วน หรือสะพานข้ามแยก ให้พิจารณาจัดทำสวนแนวตั้ง เพื่อเพิ่มสีเขียวและลดความแข็งกระด้างของโครงสร้าง โดยพิจารณาเลือกชนิดพันธุ์ไม้ให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อม

 

 

กทม.กวดขันรถ จยย.บนทางเท้าเตรียมขยายจุดติดตั้งกล้อง CCTV พร้อมระบบ AI เพิ่มอีก 100 จุด ภายใน ส.ค.นี้

  

นายสุรเดช อำนวยสาร รองผู้อำนวยการสำนักเทศกิจ (สนท.) รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักเทศกิจ กทม.กล่าวกรณีสื่อออนไลน์วิจารณ์มีผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์หลายคันบนทางเท้าบริเวณถนนจรัญสนิทวงศ์ ก่อนถึงซอยจรัญสนิทวงศ์ 47 เขตบางกอกน้อยว่า กรณีดังกล่าว สนท.ได้ประสานเจ้าหน้าที่เทศกิจ สำนักงานเขตบางกอกน้อย เพิ่มความเข้มงวดตรวจตรา กวดขัน เฝ้าระวังไม่ให้มีการกระทำผิด และตั้งโต๊ะจับ-ปรับรถยนต์ หรือรถจักรยานยนต์จอด หรือขับขี่บนทางเท้าในบริเวณถนนจรัญสนิทวงศ์ ก่อนถึงซอยจรัญสนิทวงศ์ 47 เป็นประจำและต่อเนื่อง ขณะเดียวกันได้เพิ่มประสิทธิภาพการนำเทคโนโลยีมาช่วยจับ-ปรับผู้กระทำผิดกฎหมายจราจรและกฎหมายอื่น ๆ เบื้องต้นได้นำร่องในความผิดฐานจอด หรือขับขี่รถบนทางเท้า ตั้งแต่วันที่ 12 มิ.ย.66 – 1 เม.ย.67 ตรวจพบผู้กระทำผิด 74,333 ราย ออกหนังสือเชิญมาให้ถ้อยคำ 8,415 ราย ว่ากล่าวตักเตือน 225 ราย เปรียบเทียบปรับ 410 ราย เป็นเงิน 293,300 บาท ซึ่ง สนท.ได้เร่งรัดให้สำนักงานเขตที่ติดตั้งกล้องวงจรปิด (CCTV) พร้อมระบบ AI ออกหนังสือเชิญเจ้าของรถมาให้ถ้อยคำให้ครบทุกรายโดยเร็ว ขณะนี้บนถนนจรัญสนิทวงศ์มีกล้อง CCTV ที่ติดตั้งระบบ AI นำร่องเพียงจุดเดียว ได้แก่ ปากซอยจรัญสนิทวงศ์ 37 ส่วนในจุดอื่น ๆ อยู่ระหว่างสำรวจ เพื่อติดตั้งกล้อง CCTV เพิ่มเติมในจุดอื่น ๆ ต่อไป

  นอกจากนั้น ยังได้ดำเนินโครงการกวดขันรถยนต์ รถจักรยานยนต์ จอด หรือขับขี่บนทางเท้า เพื่อดูแลความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนผู้ใช้ทางเท้า โดยให้สำนักงานเขตบังคับใช้กฎหมาย ห้ามมิให้รถจอด หรือขับขี่บนทางเท้าโดยเด็ดขาด เนื่องจากเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 17 (2) แห่งพระราชบัญญัติรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ.2535 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2560 รวมทั้งให้เจ้าหน้าที่เทศกิจออกตรวจตรา กวดขัน เฝ้าระวังไม่ให้มีการกระทำผิด และตั้งโต๊ะจับ-ปรับรถยนต์ หรือรถจักรยานยนต์ จอด หรือขับขี่บนทางเท้าในบริเวณพื้นที่ที่มีผู้ฝ่าฝืนจำนวนมาก หรือในจุดที่ประชาชนร้องเรียนเป็นประจำ โดยเฉพาะในช่วงเวลาเร่งด่วน ซึ่งที่ผ่านมาระหว่างเดือน ก.ค.61 – 1 เม.ย.67 สามารถกวดขันจับกุมผู้กระทำความผิดได้ 55,888 ราย เปรียบเทียบปรับเป็นเงิน 62,429,000 บาท

  นายไทภัทร ธนสมบัติกุล ผู้อำนวยการสำนักการจราจรและขนส่ง (สจส.) กทม.กล่าวว่า สจส.ได้ทดลองติดตั้งระบบตรวจจับการขับขี่จักรยานยนต์บนทางเท้ากับกล้อง CCTV จำนวน 15 จุด และได้ส่งภาพถ่ายพร้อมทะเบียนรถของผู้กระทำผิดให้ สนท.ค้นหาผู้ครอบครองรถ เพื่อจับปรับตามพระราชบัญญัติรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. 2535 ที่กำหนด “ห้ามมิให้ผู้ใดจอด หรือขับขี่รถยนต์ รถจักรยานยนต์ หรือล้อเลื่อนบนทางเท้า เว้นแต่เป็นการจอด หรือขับขี่ เพื่อเข้าไปในอาคาร หรือมีประกาศของเจ้าพนักงานจราจรผ่อนผันให้จอด หรือขับขี่ได้” ซึ่งปรากฏผลพบว่า มีการฝ่าฝืนขับขี่ลดลงและผู้ขับขี่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม จึงตั้งเป้าหมายขยายจุดติดตั้งให้ทั่วพื้นที่กรุงเทพฯ เพิ่มอีก 100 จุด คาดว่า จะแล้วเสร็จทั้งหมดภายในเดือน ส.ค.นี้

 

 

เขตบางขุนเทียนจัดทำประชาคมร่วมแก้ปัญหาลิง-กำหนดจุดให้อาหาร-มุ่งปรับพฤติกรรมลิง

 

  นางภัสรา นทีทอง ผู้อำนวยการเขตบางขุนเทียน กทม.กล่าวถึงความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาลิงแสมในพื้นที่เขตบางขุนเทียนว่า สำนักงานเขตบางขุนเทียนร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการทำหมัน ตรวจสุขภาพ และฉีดวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้าให้ลิงแสมในพื้นที่ รวมทั้งจัดทำประชาคมให้ประชาชนในชุมชนเข้าร่วมรับฟัง

และแสดงความคิดเห็น แนวทางแก้ไข โดยการมีส่วนร่วมของชุมชนเทียนทะเล 22 และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำคู่มือเกร็ดความรู้เรื่องลิง เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจ พฤติกรรมของลิงในเบื้องต้น รวมถึงวิธีจัดการที่อยู่อาศัยในกรณีที่ต้องอยู่ร่วมกับลิงในชุมชน 

          นอกจากนั้น ได้ลงพื้นที่หารือแนวทางการแก้ไขปัญหาลิงแสมในพื้นที่เขตบางขุนเทียน ซึ่งได้ข้อสรุปร่วมกัน ดังนี้ (1) กำหนดจุดให้อาหารลิงใหม่ให้ห่างจากชุมชน (2) ขอความอนุเคราะห์ผู้ประกอบการตลาดในพื้นที่ร่วมจัดหาอาหารให้ลิงสัปดาห์ละ 3 วัน เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมลิงให้มากินอาหารจุดเดียว ลดการรบกวนบ้านเรือนประชาชน (3) จัดทำกรงครอบถังขยะ เพื่อป้องกันลิงรื้อถังขยะ (4) เพิ่มจุดให้อาหารลิงภายในบริเวณอนุสาวรีย์คุณกะลา เป็น 2 จุด (5) ตั้งจุดให้อาหารลิงในชุมชนเทียนทะเล 22 ภายในบริเวณร้าน Hungry Monkey โดยความยินยอมและเต็มใจจากเจ้าของร้าน (6) จัดทำป้ายจุดให้อาหารลิง ป้ายแจ้งเตือนห้ามทิ้งขยะในบริเวณพื้นที่ เพื่อรักษาความสะอาด ป้ายแจ้งเตือนชะลอความเร็วระวังลิงข้ามถนน เพื่อป้องกันอันตรายจากอุบัติเหตุทางถนน ป้ายห้ามจับสัตว์น้ำและทำร้ายลิง เพื่อป้องกันอันตรายจากอุปกรณ์จับปลา (7) จัดตั้งจุดทิ้งขยะในชุมชน พร้อมให้คำแนะนำการเปลี่ยนรูปแบบถังขยะและวิธีการทิ้งขยะ และ (8) ลงพื้นที่ชุมชนเทียนทะเล 22 และบ้านเอื้ออาทรแสมดำ (ซอยแสมดำ 17) เพื่อให้คำแนะนำการเปลี่ยนรูปแบบถังขยะที่สามารถป้องกันการรื้อถอนจากลิง และวิธีการทิ้งขยะให้เป็นที่เป็นเวลา ซึ่งการดำเนินการข้างต้นได้ผลดีสามารถปรับพฤติกรรมของลิง ลดปัญหาการรบกวนบ้านเรือนประชาชน รวมทั้งชาวชุมชนมีความรู้ความเข้าใจและสามารถเรียนรู้การอยู่ร่วมกับลิงได้

        ทั้งนี้ สำนักงานเขตฯ ได้จัดเจ้าหน้าที่รณรงค์ประชาสัมพันธ์ขอความร่วมมือประชาชนหลีกเลี่ยงการเข้าใกล้ หรือสัมผัสใกล้ชิดกับลิงแสมที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติในบริเวณดังกล่าว เพื่อป้องกันอันตรายจากการถูกลิงทำร้ายและป้องกันการติดเชื้อโรคต่าง ๆ ที่อาจติดต่อมากับสัตว์ป่าอย่างต่อเนื่อง

 

    

 

  

แชร์ข่าว:
กรุงเทพฯ มีอะไร อัพเดทข่าวสารฉับไว กิจกรรมที่น่าสนใจ และมีส่วนร่วมได้ รวมไว้ให้ที่นี่

©2022 สงวนลิขสิทธิ์ กรุงเทพมหานคร

สำนักงานประชาสัมพันธ์ สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร 173 ถนนดินสอ แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กทม. 10200