นางเลิศลักษณ์ ลีลาเรืองแสง ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ (สนพ.) กทม. กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมของสถานพยาบาลในสังกัด กทม. เพื่อดูแลความปลอดภัยประชาชนในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี 2568 ว่า สนพ. เล็งเห็นผลกระทบของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยเฉพาะการนำไปสู่พฤติกรรมดื่มแล้วขับ การทะเลาะวิวาท การล่วงละเมิดและการแสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมต่าง ๆ จึงขอเชิญชวนและร่วมรณรงค์ให้บังคับใช้กฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างเข้มงวด โดยเฉพาะการไม่ขาย ไม่ดื่มในพื้นที่จัดงานสงกรานต์ในศาสนสถาน ในพื้นที่สาธารณะ ฯลฯ รวมถึงการไม่ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้แก่เยาวชนและผู้ที่มีอาการมึนเมา
สำหรับมาตรการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี 2568 สนพ. ได้เตรียมพร้อมบุคลากร เพื่อประสานรับแจ้งเหตุ รายงานและจัดเก็บข้อมูล (Database) ผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุในช่วง 7 วันอันตราย ระหว่างวันที่ 11-17 เม.ย. 68 โดยจะประสานความร่วมมือโรงพยาบาลภาครัฐและเอกชน มูลนิธิกู้ชีพ ในการรายงานข้อมูลผู้บาดเจ็บผ่านทางเว็บไซต์ www.bangkokems.bangkok.go.th และรายงานผ่านแบบฟอร์ม 3 ช่องทาง ได้แก่ หมายเลขแฟ็กซ์ 0 2220 7598 หรือ โทร. 0 2223 9684 อีเมล [email protected] และแอปพลิเคชันไลน์ erawan1646 พร้อมทั้งจัดเตรียมเจ้าหน้าที่และบุคลากรให้ความช่วยเหลือทางการแพทย์ในภาวะวิกฤตฉุกเฉิน การประสานงานการส่งต่อผู้ป่วยระหว่างโรงพยาบาล
สังกัด กทม. ทุกแห่ง ตลอดช่วง 7 วันอันตราย ส่วนการช่วยเหลือผู้บาดเจ็บหลังเกิดเหตุ สนพ. จะประสานโรงพยาบาลต่าง ๆ เพื่อเตรียมสำรองยา เวชภัณฑ์ เตรียมความพร้อมของห้องฉุกเฉินและรถปฏิบัติการการแพทย์ฉุกเฉินของโรงพยาบาลต่าง ๆ และศูนย์เอราวัณ ให้เตรียมช่วยเหลือประชาชน รวมทั้งจัดรถปฏิบัติการการแพทย์ฉุกเฉินของมูลนิธิต่าง ๆ ในระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉิน กทม. ร่วมกับหน่วยงานของสำนักงานเขตต่าง ๆ ประจำในจุดบริการประชาชน บริเวณเส้นทางเข้า-ออกเมือง 7 จุด และบริเวณสถานีขนส่ง 4 จุด รวม 11 จุด ตามเส้นทางออกจากกรุงเทพฯ โดยหากประชาชนมีอาการเจ็บป่วยฉุกเฉินสามารถแจ้งเหตุได้ที่สายด่วน 1669 ตลอด 24 ชั่วโมง
นายสิทธิพร สมคิดสรรพ์ ผู้อำนวยการสำนักการจราจรและขนส่ง (สจส.) กทม. กล่าวว่า เพื่อให้การดูแลรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการเฝ้าระวังและควบคุมสถานการณ์ต่าง ๆ ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ปี 2568 และลดอุบัติเหตุทางถนนจากพฤติกรรมเสี่ยงโดยเฉพาะการดื่มแล้วขับ สจส. ได้จัดเตรียมมาตรการความพร้อมในด้านต่าง ๆ ประกอบด้วย การตรวจสอบระบบกล้องโทรทัศน์วงจรปิด (CCTV) ให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน เชื่อมโยงสัญญาณภาพจากพื้นที่จัดงานสำคัญ เช่น ถนนสีลม บริเวณสนามหลวง ถนนข้าวสาร และพื้นที่โดยรอบเข้าสู่ศูนย์ควบคุมและติดตามสถานการณ์ ณ ศาลาว่าการ กทม. (เสาชิงช้า) พร้อมจัดเตรียมเจ้าหน้าที่ วัสดุอุปกรณ์ เครื่องมือ และยานพาหนะให้พร้อมปฏิบัติงานตลอด 24 ชั่วโมง รวมถึงการตั้งหน่วยซ่อมแซมเร่งด่วนเคลื่อนที่เร็ว รองรับสถานการณ์ฉุกเฉิน
นอกจากนี้ ได้ตรวจสอบความเรียบร้อยของท่าเทียบเรือ ศาลาที่พักผู้โดยสาร พร้อมประสานผู้รับจ้างและผู้รับสัมปทานเพื่อดูแลระบบรักษาความปลอดภัย รวมถึงการตรวจสอบความพร้อมของระบบขนส่งมวลชนทุกประเภท ได้แก่ รถไฟฟ้าสายสีเขียว (BTS) รถไฟฟ้าสายสีทอง รถโดยสารด่วนพิเศษ (BRT) และเรือโดยสารในคลอง พร้อมจัดรถ Shuttle Bus บริการในพื้นที่สนามหลวง ถนนข้าวสาร และลานคนเมือง เพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางของประชาชน
ส่วนมาตรการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงเทศกาล สจส. ได้บูรณาการความร่วมมือกับสำนักอนามัย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ภายใต้ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนกรุงเทพมหานคร (ศปถ.กทม.) และศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนระดับเขต (ศปถ.เขต) ทั้ง 50 เขต โดยขับเคลื่อนการรณรงค์ ภายใต้แนวคิด “ขับไม่ดื่ม ดื่มไม่ขับ” และมาตรการ “สงกรานต์ กทม. ปลอดภัย ปลอดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์” อย่างเข้มข้นต่อเนื่อง พร้อมประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่าง ๆ เพื่อสร้างการรับรู้ ความตระหนัก เฝ้าระวัง และชี้ให้เห็นโทษและการบังคับใช้กฎหมายของผู้ฝ่าฝืนและกระทำผิดกฎหมาย ทั้งนี้ เพื่อสร้างจิตสำนึกให้เกิดสังคมที่ปลอดภัย ป้องกัน ลดอุบัติเหตุ และปราศจากความสูญเสีย โดยเฉพาะจากพฤติกรรมเสี่ยงจากการดื่มแล้วขับ