Flag
Search
Close this search box.
กทม.ชี้แจงข่าวร้องเรียน ประจำวันพฤหัสบดีที่ 4 เมษายน 2567

กทม.จัดทำแผนรับมือสภาพอากาศร้อนจัด พร้อมเฝ้าระวังแจ้งเตือนระดับความร้อน

นายสุนทร สุนทรชาติ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย (สนอ.) กทม.กล่าวกรณีกรมอุตุนิยมวิทยาคาดหมายสภาพอากาศทั่วไปในช่วงนี้ถึงวันที่ 6 เม.ย.67 ประเทศไทยมีอากาศร้อนจัดว่า กทม.มีความห่วงใยสุขภาพอนามัยของประชาชนอันเนื่องมาจากสภาพอากาศที่ร้อนจัดในพื้นที่กรุงเทพฯ จึงจัดทำมาตรการรับมือสภาพอากาศที่ร้อนจัด พร้อมกับสำรวจกลุ่มเสี่ยงในพื้นที่ ซึ่งขณะนี้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้เห็นชอบแผนการรับมือกับสภาพอากาศที่ร้อนจัดในพื้นที่กรุงเทพฯ ปี 2567 เรียบร้อยแล้ว โดยมีมาตรการดำเนินการ ประกอบด้วย มาตรการดำเนินการตลอดปี ซึ่งเป็นมาตรการที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันสุขภาพอนามัยของประชาชนและการลดอุณหภูมิเมือง เช่น การเพิ่มพื้นที่สีเขียว โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันจัดทำแผนและแนวทางการดำเนินงานสำหรับเจ้าหน้าที่และประชาชน รวมทั้งจัดทำสื่อและอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล เพื่อเตรียมแจกจ่ายให้ประชาชนกลุ่มเสี่ยง ชี้แจงการดำเนินงานแก่เจ้าหน้าที่สาธารณสุขและสื่อสารความเข้าใจแก่ประชาชน พร้อมทั้งติดตามสถานการณ์เป็นระยะ ส่วนมาตรการระยะวิกฤต เป็นมาตรการที่เกี่ยวข้องกับการเฝ้าระวัง แจ้งเตือน ป้องกันสุขภาพอนามัยของประชาชน โดยจะดำเนินการตามระดับดัชนีความร้อน (Heat Index) ประกอบด้วย ระดับเฝ้าระวัง (Heat index = 27.0-32.9 องศาเซลเซียส, สีเขียว) ติดตามสถานการณ์ค่าดัชนีความร้อน (Heat Index) ทุกวัน จัดทำฐานข้อมูลกลุ่มเสี่ยงทั้งประเภทและจำนวนให้เป็นปัจจุบัน เตรียมการรองรับสถานการณ์และสนับสนุนองค์ความรู้เรื่องการดูแลและป้องกันผลกระทบจากความร้อน เช่น จัดเตรียมสื่อคู่มือแนวทางองค์ความรู้วิชาการให้แก่ผู้ดูแลเด็กปฐมวัย ผู้ดูแลผู้สูงอายุ และแจ้งสถานพัฒนา เด็กปฐมวัย และศูนย์ดูแลผู้สูงอายุดูแลกลุ่มเสี่ยงอย่างใกล้ชิด จัดเตรียมตรวจสอบความพร้อมของอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล ยา และเวชภัณฑ์ให้พร้อม เป็นต้น ระดับเตือนภัย (Heat index = 33.0-41.9 องศาเซลเซียส, สีเหลือง) ได้แก่ สื่อสารแจ้งเตือนประชาชนทั่วไปและประชาชนกลุ่มเสี่ยงตามระดับความรุนแรง วันละ 1 ครั้ง เวลา ๐๗.๐๐ น. ผ่านเว็บไซต์ เฟซบุ๊ก : กรุงเทพมหานคร และสำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร ป้ายจราจรอัจฉริยะของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ป้ายบนรถไฟฟ้า BTS และเสียงตามสาย เฝ้าระวังโรค อาการที่เกิดจากความร้อนและพฤติกรรมการป้องกันความร้อนของประชาชน สื่อสารแจ้งเตือนประชาชนและกลุ่มเสี่ยงในพื้นที่ ให้ความรู้การปฐมพยาบาลโรคลมร้อน (Heat stroke) เตรียมความพร้อมระบบส่งต่อผู้ป่วยฉุกเฉิน และจัดเตรียมเตียงรองรับผู้ป่วย จัดเตรียมพื้นที่ หรือศูนย์คลายร้อน (Cool room) ในสถานบริการ สาธารณสุขสถานที่ราชการ หรือชุมชน เป็นต้น ระดับอันตราย (Heat index = 42.0-51.9 องศาเซลเซียส, สีส้ม) มีมาตรการ (เพิ่มเติมจากระดับเตือนภัย) ได้แก่ สื่อสารแจ้งเตือนประชาชนทั่วไปและประชาชนกลุ่มเสี่ยงตามระดับความรุนแรง วันละ 2 ครั้ง เวลา ๐๗.๐๐ น. และ 11.00 น. หากพบการเจ็บป่วยเพิ่มขึ้นอย่างผิดปกติให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่เป็นทีมสอบสวนโรคลงพื้นที่สอบสวน วิเคราะห์สถานการณ์ติดตามความรุนแรงของผลกระทบที่เกิดขึ้นและส่งต่อข้อมูลให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กำหนดแนวทางการรับมือกับสภาพอากาศที่ร้อนจัด รวมถึงให้ความรู้คำแนะนำการดูแลป้องกันตนเองกับประชาชนกลุ่มเสี่ยง (เด็กแรกเกิด ถึงอายุ 5 ขวบ ผู้ที่มีอายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไป ผู้ป่วย หรือผู้ที่มีโรคประจำตัว หญิงตั้งครรภ์ ผู้ที่ต้องทำงานกลางแจ้งเป็นเวลานาน ผู้ที่ออกกำลังกายกลางแจ้ง) เป็นต้น ระดับอันตรายมาก (Heat index = มากกว่าหรือเท่ากับ 52.0 องศาเซลเซียส, สีแดง) ได้แก่ สื่อสารแจ้งเตือนประชาชนทั่วไปและประชาชนกลุ่มเสี่ยงตามระดับความรุนแรง วันละ 3 ครั้ง เวลา ๐๗.๐๐ น. 11.00 น. และ 15.00 น. จัดตั้งหน่วยบริการสุขภาพประชาชนและเตรียมความพร้อมของระบบส่งต่อผู้ป่วยฉุกเฉิน สถานพยาบาลยกเลิกนัดผู้ป่วยที่ไม่จำเป็นในช่วงที่อากาศร้อนจัด จัดศูนย์คลายร้อน (cool room) ให้พร้อมใช้และให้ประชาชนเข้าพักชั่วคราว เพื่อหลีกเลี่ยงอากาศที่ร้อนจัด และเตรียมความพร้อมของระบบส่งต่อผู้ป่วยฉุกเฉิน อาสาสมัครสาธารณสุข กทม. (อสส.) ที่มีความพร้อมออกเยี่ยมบ้านติดตามอาการของประชาชนกลุ่มเสี่ยง ให้ความรู้และคำแนะนำการดูแลป้องกันตนเองแก่ประชาชนและรายงานสถานการณ์ให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขทราบ จัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ เพื่อดูแลสุขภาพประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มที่มีโรคประจำตัว กลุ่มผู้ป่วยติดเตียง เป็นต้น

 

 

เขตลาดกระบังรณรงค์ฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า-ทำหมันสุนัข-แมวจรจัดในพื้นที่
 
นายชัชชญา ขำจันทร์ ผู้อำนวยการเขตลาดกระบัง กทม.กล่าวถึงการเฝ้าระวังและป้องกันการแพร่ระบาดของโรคพิษสุนัขบ้าในพื้นที่เขตลาดกระบังว่า สถานการณ์โรคพิษสุนัขบ้าเขตลาดกระบังในปี 2567 ไม่พบสุนัขติดโรคพิษสุนัขบ้าและไม่พบสัตว์ติดโรคพิษสุนัขบ้ามาแล้ว 8 เดือน นับจากเคสสุดท้ายเมื่อวันที่ 13 ก.ค.66 โดยสำนักงานเขตฯ ได้ดำเนินมาตรการเชิงรุกร่วมกับสำนักอนามัย จัดแผนการรณรงค์ฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าในพื้นที่เขตลาดกระบัง เมื่อวันที่ 5-15 มี.ค.ที่ผ่านมา โดยได้รับความร่วมมือจากศูนย์บริการสาธารณสุข 45 ร่มเกล้า และศูนย์บริการสาธารณสุข 46 กันตารัติอุทิศ และสำนักงานสัตวแพทย์สาธารณสุข สำนักอนามัย โดยสัตว์ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า 1,755 ตัว และจะรณรงค์อีกครั้งในเดือน ก.ย.67

      นอกจากนี้ ยังได้สำรวจเพื่อวางแผนการทำหมันแมวจรจัด โดยสำนักงานเขตฯ เป็น 1 ใน 7 เขตนำร่องการทำหมันแมวจรจัด โครงการดังกล่าวจัดขึ้นโดยสำนักงานสัตวแพทย์สาธารณสุข สำนักอนามัย จัดขึ้นครั้งแรกในวันที่ 27 พ.ย.66 ชุมชนเคหะร่มเกล้าโซน 1 โดยดักจับแมวจรจัดในชุมชนมาทำหมัน 39 ตัว และเมื่อทำหมันเสร็จแล้ว ปล่อยแมวลงสู่ชุมชนตามเดิม รวมทั้งได้จัดทำแผนการทำหมันแมวจรจัดตลอดทั้งปี โดยให้แต่ละสำนักงานเขตนำแมวจรจัดมาทำหมันอย่างต่อเนื่อง ส่วนสำนักงานเขตฯ จะนำแมวไปทำหมันที่ศูนย์พักพิงสุนัขประเวศได้ดำเนินการครั้งแรกไปแล้วเมื่อวันที่ 4 มี.ค.67 จำนวน 10 ตัว และจะดำเนินการอีกครั้งในวันที่ 29 เม.ย.67 ปัจจุบันสำนักงานสัตวแพทย์สาธารณสุขได้ประสานออกหน่วยทำหมันให้กับสุนัขและแมวในพื้นที่เขตลาดกระบังภายในเดือน พ.ค.67 ทั้งนี้ อยู่ระหว่างการประสานสถานที่ คาดว่าจะสามารถรับทำหมันให้กับสุนัขและแมวในวันดังกล่าวได้จำนวน 90-100 ตัว

 

 

 

เขตปทุมวันเร่งแก้ปัญหาคนเร่ร่อนและขยะในพื้นที่ พร้อมจัดระเบียบผู้ค้าหน้าสวนลุมพินี

นางสาวสุขวิชญาณ์ นสมทรง ผู้อำนวยการเขตปทุมวัน กทม.กล่าวกรณีมีข้อวิจารณ์สภาพภูมิทัศน์บริเวณหน้าสวนลุมพินีที่มีคนเร่ร่อนและขยะในพื้นที่ว่า สำนักงานเขตฯ ได้จัดเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทศกิจ ฝ่ายรักษาความสะอาดและสวนสาธารณะ และฝ่ายสิ่งแวดล้อมและสุขาภิบาล ประสานความร่วมมือกับสำนักสิ่งแวดล้อมลงพื้นที่ตรวจสอบและแก้ไขปัญหาคนเร่ร่อนใช้พื้นที่ด้านหน้าสวนลุมพินีเป็นที่พักอาศัยหลับนอนและการทิ้งขยะไม่เป็นที่บริเวณด้านหน้าประตูสวน รวมทั้งที่จอดรถ พร้อมพิจารณาเพิ่มถังรองรับมูลฝอยแบบแยกประเภทให้เพียงพอกับความต้องการและตั้งวางให้เหมาะสมกับสถานที่ ขณะเดียวกันได้ประชาสัมพันธ์ขอความร่วมมือผู้ใช้บริการสวนสาธารณะทิ้งขยะให้ถูกที่ เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยของพื้นที่และเพิ่มความเข้มงวดกวดขันจัดระเบียบผู้ค้าบริเวณด้านหน้ารั้วสวนลุมพินี ทั้งการตั้งวางสิ่งของและอุปกรณ์การค้าไม่ให้กีดขวางทางสัญจร ควบคุมดูแลรักษาความสะอาดและสุขอนามัยของร้านค้า การจัดการขยะ การล้างภาชนะและเทน้ำทิ้งบนทางเท้า รวมถึงการบังคับใช้กฎหมายกับผู้ที่กระทำผิดตาม พ.ร.บ.รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. 2535 ต่อไป

 

 

แชร์ข่าว:
กรุงเทพฯ มีอะไร อัพเดทข่าวสารฉับไว กิจกรรมที่น่าสนใจ และมีส่วนร่วมได้ รวมไว้ให้ที่นี่

©2022 สงวนลิขสิทธิ์ กรุงเทพมหานคร

สำนักงานประชาสัมพันธ์ สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร 173 ถนนดินสอ แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กทม. 10200