(23 ก.พ.67) เวลา 14.00 น. นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในพื้นที่เขตสัมพันธวงศ์และเขตปทุมวัน ประกอบด้วย
สำรวจสวน 15 นาที สวนหย่อมชุมชนโชฎึก ถนนมหาพฤฆาราม พื้นที่เขตสัมพันธวงศ์ เดิมเขตฯ มีสวน 15 นาที (สวนเดิม) ได้แก่ สวนหย่อมพระมหาธีรญาณมุนี พื้นที่ 940 ตารางเมตร สวนศิลป์ป๋วย อึ๋งภากรณ์ พื้นที่ 840 ตารางเมตร สวน 15 นาที (สวนใหม่) ได้แก่ สวนหย่อมชุมชนโชฎึก พื้นที่ 600 ตารางเมตร สวนหย่อมชุมชนโปลิศสภา พื้นที่ 500 ตารางเมตร สวนหย่อมหน้าศาลเจ้าไทฮั้ว พื้นที่ 600 ตารางเมตร
ซึ่งสวนทั้ง 3 แห่ง อยู่ระหว่างการปรับปรุงภูมิทัศน์ สำหรับสวน 15 นาที เป็นไปตามนโยบายของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียว แหล่งพักผ่อนหย่อนใจ และลานออกกำลังกายใกล้บ้าน เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงพื้นที่สีเขียวได้ภายใน 15 นาที หรือระยะทางในการเดิน 800 เมตร
ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ พิจารณาถึงความเหมาะสมในการใช้พื้นที่จัดทำสวน 15 นาที เพื่อให้สวนดังกล่าวเกิดประโยชน์ในการใช้งานอย่างแท้จริง
ติดตามมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 โครงการก่อสร้าง นายบุญชัย พิพัฒน์ศิริกุล ซอยเจริญกรุง 22 ซึ่งเป็นการก่อสร้างอาคารพักอาศัยความสูง 6 ชั้น ผู้ประกอบการจะต้องปฏิบัติตามวิธีและเงื่อนไขแนบท้ายใบอนุญาตในการก่อสร้างตามกฎกระทรวงฉบับที่ 4 (พ.ศ.2526) และแก้ไขเพิ่มเติมตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 67 (พ.ศ.2563) และมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ตามรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) พร้อมทั้งมอบหมายให้เขตฯ จัดทำแผนปฏิบัติการตรวจสอบและควบคุมสถานประกอบการที่ก่อให้เกิดปัญหาฝุ่น PM2.5 ตามมาตรการควบคุมมลพิษทางอากาศและมาตรการด้านความปลอดภัยในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ลงพื้นที่ตรวจสถานประกอบการเดือนละ 2 ครั้ง อาทิ ประเภทกิจการหลอมโลหะ 5 แห่ง ประเภทสถานที่ก่อสร้าง 3 แห่ง ประเภทตรวจวัดควันดำในสถานที่ต้นทาง 3 แห่ง รวมถึงประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เกี่ยวกับฝุ่น PM2.5 กำชับสถานประกอบการในพื้นที่ให้ปฏิบัติตามมาตรฐานที่กฎหมายกำหนดอย่างเคร่งครัด เพื่อควบคุมค่าฝุ่น PM2.5 ให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน เพื่อป้องกันมลพิษทางอากาศและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
เยี่ยมชมต้นแบบการคัดแยกขยะ โรงเรียนวัดปทุมคงคา พื้นที่ 2 งาน 4.74 ตารางวา มีครูบุคลากรและนักเรียน 114 คน เข้าร่วมโครงการคัดแยกขยะ ตั้งแต่ปี 2565
วิธีการคัดแยกขยะ โดยจำแนกตามประเภทของขยะ ดังนี้ 1.ขยะอินทรีย์ ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้แก่ครูบุคลากรและนักเรียน ในการคัดแยกขยะอินทรีย์ประเภทเศษอาหาร เขตฯ จัดเก็บทุกวัน 2.ขยะรีไซเคิล ส่งเสริมให้ความรู้แก่คณะครูบุคลากรและนักเรียน ในการคัดแยกขยะรีไซเคิล โรงเรียนกำหนดจุดทิ้งขยะรีไซเคิล เช่น ขวดน้ำ กระป๋องอลูมิเนียม กระดาษ
โดยรวบรวมขยะดังกล่าวเพื่อนําไปจําหน่าย ส่วนกล่องนมโรงเรียน มีถังขยะสำหรับทิ้งกล่องนมพับแล้ว เขตฯ จัดเก็บเดือนละ 1-2 ครั้ง เพื่อนํากล่องนมดังกล่าวส่งให้กับโครงการหลังคาเขียว เพื่อมูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภา) ยามยาก 3.ขยะทั่วไป โรงเรียนให้ความร่วมมือในการนําขยะทั่วไปที่เหลือจากการคัดแยกแล้วใส่ถุงและมัดปากถุงให้แน่น เพื่อรอเขตฯ จัดเก็บทุกวัน โดยวิธีการชักลาก 4.ขยะอันตราย โรงเรียนมีจุดรวบรวมขยะอันตรายภายในโรงเรียน เขตฯจัดเก็บ 1 ครั้ง/เดือน สำหรับปริมาณขยะก่อนคัดแยกและหลังคัดแยก ดังนี้ ขยะทั่วไปก่อนคัดแยก 450 กิโลกรัม/เดือน หลังคัดแยก 360 กิโลกรัม/เดือน ขยะรีไซเคิลก่อนคัดแยก 65 กิโลกรัม/เดือน หลังคัดแยก 95 กิโลกรัม/เดือน ขยะอินทรีย์ก่อนคัดแยก 220 กิโลกรัม/เดือน หลังคัดแยก 250 กิโลกรัม/เดือน ขยะอันตรายก่อนคัดแยก 3 กิโลกรัม/เดือน หลังคัดแยก 3 กิโลกรัม/เดือน ขยะติดเชื้อก่อนคัดแยก 1 กิโลกรัม/เดือน หลังคัดแยก 1 กิโลกรัม/เดือน
ติดตามการจัดระเบียบพื้นที่ทำการค้า บริเวณถนนเพาะพาณิชย์ เขตฯ มีพื้นที่ทำการค้า จำนวน 3 จุด รวมผู้ค้าทั้งสิ้น 443 ราย ได้แก่ 1.ถนนเยาวราช ทั้ง 2 ฝั่ง ตั้งแต่แยกเฉลิมบุรีถึงแยกราชวงศ์ ช่วงเวลาทำการค้า 10.00-18.00 น. ฝั่งขวาผู้ค้า 25 ราย ฝั่งซ้ายผู้ค้า 74 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 17.00-24.00 น. ฝั่งขวาผู้ค้า 76 ราย ฝั่งซ้ายผู้ค้า 96 ราย 2.ถนนราชวงศ์ ทั้ง 2 ฝั่ง ตั้งแต่แยกราชวงศ์ถึงท่าเรือราชวงศ์ ช่วงเวลาทำการค้า 09.00-17.00 น. ฝั่งขวาผู้ค้า 46 ราย ฝั่งซ้ายผู้ค้า 98 ราย 3.ถนนข้าวหลาม ทั้ง 2 ฝั่ง ตั้งแต่ถนนเจริญกรุงถึงสะพานข้ามคลองผดุงกรุงเกษม ช่วงเวลาทำการค้า 17.00-24.00 น. ฝั่งขวาผู้ค้า 17 ราย ฝั่งซ้ายผู้ค้า 11 ราย ส่วนพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน จำนวน 82 จุด รวมผู้ค้าทั้งสิ้น 1,961 ราย
ซึ่งในปี 2567 เขตฯ มีเป้าหมายยกเลิกพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน จำนวน 3 จุด ได้แก่ ถนนพาดสาย ผู้ค้า 1 ราย ถนนทรงวาด บริเวณวัดสัมพันธวงศ์ ผู้ค้า 2 ราย ถนนทรงวาด ผู้ค้า 1 ราย ควบรวมพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน จำนวน 20 จุด ให้คงเหลือ 8 จุด โดยในปี 2567 พื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผันคงเหลือ 67 จุด รวมผู้ค้าทั้งสิ้น 1,957 ราย
ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้เดินตรวจความเรียบร้อยบริเวณถนนราชวงศ์จนถึงถนนเพาะพาณิชย์
โดยมอบหมายให้เขตฯ กำชับผู้ค้าบริเวณถนนเพาะพาณิชย์ไม่ให้ตั้งวางสิ่งของบนพื้นผิวจราจร หรือวางขายสินค้ารุกล้ำในทางเท้าเกินแนวเส้นที่เขตฯ กำหนดไว้ ขอความร่วมมือผู้ค้าให้เก็บอุปกรณ์ทำการค้าและทำความสะอาดพื้นที่หลังเลิกทำการค้าในแต่ละวัน ตลอดจนพิจารณาหาแนวทางยุบรวมจุดที่มีผู้ค้าจำนวนน้อยราย
โดยให้ย้ายมาทำการค้าในจุดเดียวกัน นอกจากนี้ยังได้พูดคุยสร้างความเข้าใจกับผู้ค้าให้เห็นถึงความสำคัญของส่วนรวม วัตถุประสงค์ในการจัดระเบียบผู้ค้าและพื้นที่ทางเท้า เพื่อให้ผู้ค้าประชาชนและนักท่องเที่ยวสามารถใช้ประโยชน์ของพื้นที่ทางเท้าร่วมกันได้อย่างสะดวกและปลอดภัย
ในวันเดียวกันนี้ เวลา 13.00 น. ได้ลงพื้นที่ติดตามการปรับปรุงพื้นที่ว่างข้างสวนลุมพินี ด้านถนนสารสินตัดถนนราชดำริ เขตปทุมวัน เพื่อจัดทำสถานที่สำหรับรองรับผู้ค้าที่จะย้ายจากด้านถนนสารสินเข้ามาทำการค้าในบริเวณดังกล่าว
ที่ผ่านมาเขตฯ ได้ประสานสำนักการโยธาปรับสภาพพื้นที่โดยเทพื้นผิวแอสฟัลต์ สำนักการระบายน้ำปรับปรุงยกระดับฝาท่อระบายน้ำ
สำนักสิ่งแวดล้อมบำรุงรักษาต้นไม้ โดยดำเนินการเสร็จเรียบร้อยแล้ว ในส่วนของเขตฯ ได้จัดทำผังร้านค้า จุดตั้งวางโต๊ะเก้าอี้ จุดล้างภาชนะ จุดทิ้งขยะ โดยกำหนดให้ผู้ค้าตั้งวางแผงค้าด้านในที่ติดกับรั้วสวนลุมพินี ตั้งวางโต๊ะเก้าอี้สำหรับนั่งรับประทานอาหารบริเวณตรงกลาง กำหนดรูปแบบแผงค้าในลักษณะเดียวกัน
ในการลงพื้นที่วันนี้มี คณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่เขตสัมพันธวงศ์ เขตปทุมวัน สำนักเทศกิจ สำนักการโยธา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่และให้ข้อมูล
#สิ่งแวดล้อมดี #สุขภาพดี #เศรษฐกิจดี
—– (จิรัฐคม…สปส.รายงาน)