การแก้ปัญหายาเสพติดในพื้นที่กทม. ทำต่อเนื่องมาตลอด ช่วงปลายปี 66 ลงนาม MOU โครงการชุมชนบำบัดยั่งยืนในตำบลแพร่ระบาดสูงสุด 100 แห่ง ตามนโยบายเร่งด่วนใน 2 ชุมชน คือ ชุมชนชานเมือง และแฟลตการเคหะชุมชนห้วยขวาง โดยค้นหาผู้เสพในชุมชนเข้ารับการบำบัดอย่างน้อย 200 ราย ระยะเวลา 4 เดือน เริ่มตั้งแต่ 18 ธ.ค. 66-17 เม.ย. 67
“รอบรั้วฯ” ติดตามล่าสุดในที่ประชุมคณะกรรมการบริหารการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ที่มี น.ส.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าฯ กทม. เป็นประธาน สำนักอนามัยรายงานแนวทางตั้ง “ทีมพิทักษ์จิตเวช” โดยศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดเขต (ศป.ปส.ข.) ที่รวมเอาบุคลากรทั้งจากสำนักงานเขต, ศูนย์บริการสาธารณสุข, สถานีตำรวจในพื้นที่, อาสาสมัครสาธารณสุขที่รับผิดชอบงานยาเสพติด/จิตเวช คาดดำเนินการได้ในเดือน ก.พ.นี้
บทบาทหลักคือการทำหน้าที่ 1.ค้นหาและส่งต่อข้อมูลผู้เสพ/ผู้ติดและผู้ป่วยจิตเวชสู่กระบวนการรักษา 2.เข้าร่วมการซ้อมแผนเผชิญเหตุ 3.การติดตามดูแลช่วยเหลือผู้ที่ผ่านการบำบัดและผู้ป่วยจิตเวช 4.รวบรวมข้อมูลผู้ป่วยจิตเวชจากยาเสพติดทั้งหมด 5. รายงานการกินยาจิตเวชทุกวัน ผ่าน Line OA
จากการติดตามสถานการณ์พบในพื้นที่ “เมืองหลวง” เฉพาะปีงบประมาณ 66 จับกุมยาเสพติดคดีร้ายแรง 3,254 คดี มากสุดใน 3 เขต ได้แก่ ลาดกระบัง 159 คดี คลองเตย 142 คดี และบางกะปิ 141 คดี
เพื่อลดผลกระทบภัยคลุ้มคลั่งจากการใช้ยาเสพติดในชุมชน การร่วมมือและซักซ้อมการปฏิบัติงานเป็นส่วนหนึ่งของแผนที่เตรียมไว้รองรับเหตุการณ์เฉพาะหน้า
งานนี้รองผู้ว่าฯ ทวิดา ย้ำว่าเมื่อผู้เสพได้รับการบำบัดแล้ว ยังต้องดูต่อเนื่องไปถึงเรื่องการสร้าง “อาชีพ” ให้ด้วย เพื่อให้คนกลุ่มนี้มีรายได้ดูแลตัวเอง สามารถกลับมาใช้ชีวิตในสังคมได้
“ผลลัพธ์” สำคัญของงานนี้จึงไม่เพียงแค่ผู้ที่เข้าบำบัดและครอบครัว แต่ชุมชนและสังคมจะมีผลพลอยได้ที่ปลอดภัยขึ้นด้วย.
ที่มา: นสพ.เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 19 ม.ค. 2567