‘ชัชชาติ’ตั้งใจโอนสีเทา-สีเงิน 1.9แสนล.ให้รฟม.คุมรายเดียว
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยว่า กทม. ได้เสนอเรื่องการโอนโครงการรถไฟฟ้าในกำกับ กทม. เป็นโครงการลงทุนใหม่ 2 สาย ได้แก่ โครงการรถไฟฟ้าสายสีเทา ช่วงวัชรพล-ทองหล่อ ระยะทาง 16.3 กิโลเมตร (กม.) และโครงการรถไฟฟ้าสายสีเงิน ช่วงบางนา-ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ระยะทาง 19.7 กม. ให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.) ของกระทรวงคมนาคม เป็นผู้กำกับดูแลรถไฟฟ้าทั้ง 2 สายแทน กทม. ต่อคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) ที่มีรองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เพื่อพิจารณาแล้ว
นายชัชชาติ กล่าวต่อว่า หาก คจร. เห็นชอบตามที่ กทม. เสนอ จะทำให้ กทม. เหลือการลงทุนก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าเพียงส่วนเดียวคือ ส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงบางหว้าตลิ่งชัน ระยะทางประมาณ 7.5 กม. ซึ่งอยู่ระหว่างเตรียมศึกษาความเหมาะสมรูปแบบการลงทุนฯ เพื่อให้โครงข่ายระบบขนส่งมวลชนสมบูรณ์ ส่วนโครงการรถไฟฟ้าสายสีทอง ช่วงสถานีกรุงธนบุรี-คลองสาน ก่อนหน้านี้ กทม. มีแผนจะก่อสร้างใน ระยะ(เฟส) ที่ 2 ต่อไปอีก 1 สถานี ได้แก่ สถานีประชาธิปก เป็นสถานีที่ 4 และเป็นสถานีสุดท้ายของโครงการฯ ที่สามารถ เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ (กาญจนาภิเษก) ของ รฟม. ได้นั้นต้องรอดูการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ และพิจารณาอีกที เพราะต้องใช้งบประมาณลงทุนด้วย การก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีทองที่ผ่านมา ไม่ได้ใช้งบประมาณของภาครัฐ มีเอกชนเป็น ผู้ดำเนินการให้
นายชัชชาติ กล่าวอีกว่า เชื่อว่าการทำเครือข่ายรถไฟฟ้าโดยมีผู้กำกับดูแลเพียงรายเดียว จะเป็นสิ่งที่ดีกว่าการมีหลาย ผู้กำกับ ปัญหาเรื่องระบบตั๋วก็จะน้อยลง สามารถบริหารจัดการได้เบ็ดเสร็จ เชื่อมต่อได้อย่างสะดวก เกิดประโยชน์ต่อประชาชน และความจริงแล้วการทำโครงการรถไฟฟ้า ทาง กทม. ไม่ควรเป็นผู้ดำเนินการ เพราะไม่ได้มีหน่วยงานและผู้เชี่ยวชาญด้านนี้โดยตรง ขณะที่ รฟม. มีผู้เชี่ยวชาญ และดำเนินโครงการก่อสร้าง และกำกับดูแลรถไฟฟ้ามาแล้วหลายสาย จึงควรให้ รฟม. เป็นผู้กำกับดูแลทั้งหมด กทม. ยังมีงานอื่นที่ต้องเร่งดำเนินการอีกมากมาย อาทิ งานด้านทางสาธารณสุข โรงพยาบาลต่าง ๆ งานสาธารณูปโภค งานด้านการศึกษา และการพัฒนาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดีขึ้น เป็นต้น
รายงานข่าวแจ้งว่า สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีเงิน ช่วงบางนา-ท่าอากาศยานสุวรรณภูมินั้นกทม.จัดทำการศึกษา และวิเคราะห์โครงการฯ เสร็จเรียบร้อย มีระยะทาง 19.7 กม. 14 สถานี แบ่งเป็น 2 เฟส ได้แก่ เฟสที่ 1 จากแยกบางนา-ธนาซิตี้ 12 สถานี ระยะทาง 14.6 กม. และเฟสที่ 2 ธนาซิตี้สุวรรณภูมิใต้ 2 สถานี ระยะทาง 5.1 กม. ค่าลงทุนโครงการรวม 1.35 แสนล้านบาท แบ่งเป็น ค่างานที่เกี่ยวข้องกับการจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน 1,181 ล้านบาท, ค่างานโยธา และงานระบบรถไฟฟ้า 36,020 ล้านบาท, ค่างานจัดซื้อขบวนรถไฟฟ้า 6,720 ล้านบาท และค่าดำเนินงานและบำรุงรักษา (O&M) 91,767 ล้านบาท สัมปทาน 30 ปี
ส่วนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเทา เฟสที่ 1 ช่วงวัชรพลทองหล่อ กทม. ได้จัดทำการศึกษา และวิเคราะห์โครงการฯ แล้วเสร็จเช่นกัน มีระยะทาง 16.3 กม. 15 สถานี มูลค่าลงทุนอยู่ที่ 6.28 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็น ค่าตอบแทนและการชดเชยการ ใช้ที่ดิน 2.05 พันล้านบาท, ค่าก่อสร้าง (งานโยธา-งานระบบรถไฟฟ้า-งานจัดซื้อขบวนรถไฟฟ้า) 2.31 หมื่นล้านบาท ค่าใช้จ่ายด้านสิ่งแวดล้อม 100 ล้านบาท, ค่าที่ปรึกษาควบคุมงานฯ 841 ล้านบาท, ค่าออกแบบ 462 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายสำรอง 1.32 พันล้านบาท และค่าดำเนินงานและบำรุงรักษา (O&M) 34,938 ล้านบาท สัมปทาน 30 ปี.
ที่มา: นสพ.เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 19 ม.ค. 2567