จิราพร จันทร์เรือง
การเข้าถึงระบบบริการสุขภาพของคนกรุงเทพมหานคร ที่มีจำนวนประชากรในระบบบริการสุขภาพรวมกันจำนวนมากถึง 1 ใน 6 ของประเทศ แม้ว่าจะมีสถานพยาบาล หรือโรงพยาบาล (รพ.) จำนวนมาก หลากหลายสังกัดกระจายอยู่ในพื้นที่ ก็ไม่เพียงพอ จะเห็นได้ว่า มีการส่งต่อผู้ป่วยเพื่อหาเตียงอยู่เสมอ ฉะนั้น การส่งต่อข้อมูลการรักษาระหว่าง รพ. ต่างสังกัด จึงเป็นเรื่องที่ท้าทายการยกระดับระบบสุขภาพดิจิทัลที่ทันสมัย เพื่อให้ประชาชนมีความสะดวกในการเข้ารับบริการ
“การจัดการระบบข้อมูลสุขภาพ” คือ จุดเริ่มต้นและทางออกของการแก้ไขปัญหาระบบบริการสุขภาพในพื้นที่กรุงเทพฯ
พญ.ปฐมพร ศิรประภาศิริ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ ปฏิบัติหน้าที่ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 13 กรุงเทพมหานคร ในฐานะประธานร่วมคณะกรรมการพัฒนาระบบสุขภาพดิจิทัลกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ปัญหาการจัดบริการสุขภาพคนกรุงเทพฯ นั้น เกิดขึ้นมาอย่างยาวนาน เราจะเห็นได้ชัดในช่วงที่มีการระบาดของโรคโควิด-19 ที่การหาเตียงให้ผู้ป่วยเป็นเรื่องที่ยากลำบาก เนื่องจากพื้นที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) มี รพ. อยู่หลายสังกัด แต่ละสังกัดต่างมีฐานข้อมูลโรงพยาบาลที่แยกจากกัน ต้องโทรศัพท์หาเตียงไล่ไปทีละ รพ. จึงมีระบบข้อมูลที่พัฒนาขึ้นเฉพาะกิจ เพื่อรวมข้อมูลสุขภาพจาก รพ. สังกัดต่างๆ เช่น การรวมผลทางห้องปฏิบัติการของผู้ป่วย (Co-Lab) การรวมข้อมูลเตียงว่างใน รพ. (Co-Ward) และเชื่อมกันด้วยระบบ ระบบ Co-Link ซึ่งในตอนนั้นกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และ กทม.ได้รับความช่วยเหลือจากสถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ (องค์การมหาชน) หรือ Big Data Institute (Public Organization) : BDI มาช่วยร้อยเรียงข้อมูลจากระบบต่างๆ เข้าด้วยกัน หลังจากโรคโควิด-19 สงบ ก็จำเป็นต้องปิดระบบนี้ไป เพื่อพัฒนาระบบให้มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น และสอดคล้องกับพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2562 หรือ PDPA ที่มีผลบังคับใช้
“เหตุการณ์นี้ ทำให้เราเห็นถึงความจำเป็นในการเชื่อมต่อข้อมูลสุขภาพอย่างเป็นระบบ ซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานของระบบสุขภาพที่จะเป็นประโยชน์ในการรักษาและส่งตัวผู้ป่วยระหว่างโรงพยาบาลตามนโยบายบัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่ และเพื่อให้สอดคล้องกับเทรนด์สุขภาพในยุคปัจจุบัน ที่ผู้ป่วยหรือประชาชนเองมีความต้องการที่จะเปิดดูข้อมูลสุขภาพของตัวเอง ที่เป็นข้อมูลส่วนบุคคล (Personal Health Records : PHRs) รพ. และหน่วยบริการสุขภาพต่างๆในกรุงเทพฯ จึงจำเป็นต้องสร้างเส้นทางหรือถนนสำหรับเชื่อมข้อมูลจากทุกๆ สังกัดเข้าด้วยกันเพื่อการส่งต่อ” พญ.ปฐมพรกล่าว
พญ.ปฐมพรกล่าวต่อไปว่า นโยบายบัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่ของรัฐบาล โดย นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการ สธ. ตั้งเป้าให้เป็นนโยบายเร่งด่วน หรือ Quick Win และ “นโยบายการส่งต่อไร้พรมแดน” รักษาส่งต่อผู้ป่วยไร้รอยต่อด้วยการบูรณาการข้อมูลของกรุงเทพฯ มีความสอดคล้องกัน โดยในส่วนของ กทม. นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร มอบหมายให้ รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าฯกทม. สำนักการแพทย์ และสำนักอนามัย ซึ่งได้ดำเนินการร่วมกับ สธ. โดยเขตสุขภาพที่ 13 กรุงเทพมหานคร และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เขต 13 กรุงเทพมหานคร อย่างใกล้ชิด ร่วมกันพัฒนาการเชื่อมข้อมูลสุขภาพระหว่างสังกัดต่างๆ ให้มีความชัดเจนและเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น โดยทำงานผ่านคณะกรรมการที่ กทม.ตั้งขึ้น ได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานต่างๆ เช่น รศ.ธีรณี อจลากุล ผู้อำนวยการสถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ฯ ที่เข้ามาช่วยดูแลและพัฒนาการเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพของประชาชน กรมการแพทย์ ในสังกัด สธ.ช่วยพัฒนาฐานข้อมูลและการประมวลผล นอกจากนั้น ยังมีผู้เชี่ยวชาญด้านการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ที่จะเข้ามาให้คำแนะนำเกี่ยวกับ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลฯ เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ในการเชื่อมข้อมูลของ รพ. ต่างๆ ในกรุงเทพฯ เข้าด้วยกัน ยังมีความซับซ้อนและท้าทายกว่าในต่างจังหวัดมาก พญ.ปฐมพร อธิบายว่า รพ. แต่ละแห่งมีระบบสารสนเทศโรงพยาบาล (Hospital Information System : HIS) แตกต่างและหลากหลาย
“ประชาชนอาจเข้าใจว่าแพทย์ก็ต้องบันทึกข้อมูล โรค ยา ผลตรวจเลือด เหมือนกัน แล้วทำไมส่งข้อมูลกันไม่ได้ นั่นเป็นเพราะระบบสารสนเทศแต่ละ รพ. ใช้รหัสไม่เหมือนกัน 100% ฉะนั้น การเชื่อมข้อมูลกันต้องมีการปรับรหัสให้เป็นมาตรฐานกลางเดียวกันก่อน เช่น การบันทึกเพศชาย ที่บางระบบใช้รหัส 001 บางระบบใช้รหัส 01 ก็เอามาร่วมกันไม่ได้ ซึ่งในเรื่องนี้ ทางสถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ฯ จะเข้ามาช่วยปรับและเชื่อมข้อมูลสุขภาพ ความท้าทายต่อมาคือ ข้อมูลสุขภาพที่เป็นข้อมูลส่วนบุคคลอ่อนไหว หรือมีชั้นความลับสูงที่จะต้องได้รับการคุ้มครองมากกว่าข้อมูลทั่วไป เนื่องจาก รพ.รัฐต่างสังกัด และ รพ.เอกชน ต่างก็ต้องดูแลข้อมูลตามกฎหมายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล หรือ PDPA ส่งผลให้ขั้นตอนการเชื่อมต่อต้องมีการจัดการระบบรักษาความปลอดภัยหลายชั้น คณะกรรมการ จึงต้องมีการประสานความร่วมมือ สร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการเชื่อมโยง แลกเปลี่ยน ข้อมูลสุขภาพ เพื่อการรักษา และข้อเน้นย้ำว่า เมื่อเชื่อมข้อมูลแล้ว ไม่ใช่ใครๆ ใน รพ. จะสามารถเข้าไปดูข้อมูลสุขภาพของประชาชนได้ แต่ผู้ที่ดูข้อมูลได้ต้องเป็นแพทย์ที่ให้การรักษาซึ่งพิสูจน์ยืนยันตัวตนได้ว่าเป็นบุคลากรของ รพ.จริง และยังต้องได้รับอนุญาตจากผู้ป่วยเจ้าของข้อมูลให้เข้าถึงข้อมูลได้เท่านั้น” พญ.ปฐมพรกล่าว และว่า ในขณะนี้ มีทั้งระบบการให้ความยินยอมโดยผู้ป่วยแสดงความยินยอมผ่านโทรศัพท์มือถือเมื่อแพทย์ขอดูประวัติเก่าทุกครั้ง และการแสดงความยินยอมผ่านระบบเพียงครั้งเดียวสำหรับผู้ที่รู้สึกไม่สะดวก
พญ.ปฐมพรกล่าวอีกว่า สำหรับการพัฒนาระบบดิจิทัลสุขภาพคนกรุงเทพฯ ความคาดหวังที่เป็นเป้าหมายสำคัญคือ “ระบบส่งต่อข้อมูลผู้ป่วย” เนื่องจากการใช้บริการทางการแพทย์ของคนกรุงเทพฯ มักจะเป็นลักษณะการไปรักษาหลายแห่ง เช่น เริ่มจากคลินิกชุมชนอบอุ่น ไป รพ.ระดับ ทุติยภูมิ-ตติยภูมิ ไปจนถึงโรงเรียนแพทย์
“หากพัฒนาระบบเชื่อมต่อข้อมูลผู้ป่วยที่ดีเอาไว้ และผู้ป่วยสามารถเดินทางจากคลินิกไป รพ. ได้โดยไม่ต้องมีใบส่งตัว ไม่ต้องขนซองยาไปให้หมอดู เพียงแค่อนุญาตให้แพทย์สามารถเข้าถึงข้อมูลสุขภาพได้ ข้อมูลจากคลินิกก็จะไหลไปแสดงบนคอมพิวเตอร์ที่ รพ.ได้ทันที ช่วยแก้ปัญหาที่ผู้ป่วยจะต้องไปขอข้อมูลสุขภาพของตัวเองเพื่อไปขอรับบริการกับ รพ. ต่อไป นอกจากนั้น หาก รพ. แต่ละแห่งเข้าถึงข้อมูลร่วมกันได้ ก็จะลดการเจาะเลือดซ้ำ ผู้ป่วยเองก็ไม่ต้องเจ็บตัวหลายรอบ หรือลดการเอกซเรย์ซ้ำ ผู้ป่วยก็ไม่ต้องรับรังสีมากเกินไป ทั้งยังช่วยลดการใช้จ่ายเงินค่ารักษาซ้ำซ้อน เช่น เมื่อแพทย์เห็นว่าได้รับยามาแล้ว ก็จะไม่จ่ายยาซ้ำ และหากยาที่จะสั่งเพิ่มมีผลเสริมหรือต้านฤทธิ์กันกับยาเดิม ก็จะได้ปรับเปลี่ยนยาให้เหมาะสม ประโยชน์อีกอย่างที่สำคัญต่อระบบสาธารณสุขของไทย ด้วยการเก็บข้อมูลสุขภาพบางส่วน เพื่อให้เห็นการเจ็บป่วยภาพรวมของประชาชน
ทำให้ทราบว่า พื้นที่ใดมีผู้ป่วยโรคใดมาก เพื่อให้มีการจัดการแพทย์ พยาบาลผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง จัดหาเครื่องมือแพทย์ที่อุปกรณ์ที่จำเป็นไปไว้ในพื้นที่ตรงนั้น เพื่อให้เกิดการจัดการและใช้ทรัพยากรตอบสนองการบริการประชาชนอย่างคุ้มค่าสูงสุด”พญ.ปฐมพรกล่าว
สำหรับปี 2567 ระบบดิจิทัลสุขภาพจะต้องเกิดความชัดเจนอย่างเป็นรูปธรรม โดย พญ.ปฐมพรกล่าวว่า สำหรับพื้นที่กรุงเทพฯ ได้แบ่งออกเป็น 7 โซนสุขภาพ (Bangkok Health Zoning) ขณะนี้คณะกรรมการ มีมติเลือกนำร่องการใช้ระบบเชื่อมต่อข้อมูลในโซนที่ 3 คือ กรุงเทพฯ ใต้ ซึ่งมี รพ.เจริญกรุงประชารักษ์ สังกัด กทม. เป็น รพ. บริหารจัดการภาพรวมของโซน (Health Zone Facilitator) มีโรงพยาบาลพี่เลี้ยง (Mentor Manager) คือ รพ.เลิดสิน สังกัด สธ., รพ.จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย สังกัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และมีหน่วยบริการปฐมภูมิ (Area Manager) คือ ศูนย์บริการสาธารณสุข และคลินิกชุมชนอบอุ่น ครอบคลุม เขตปทุมวัน เขตสาทร เขตบางรัก เขตวัฒนา เขตคลองเตย เขตพระโขนง เขตยานนาวา เขตบางคอแหลม เขตราษฎร์บูรณะ และเขตทุ่งครุ หากผู้ป่วยเห็นประโยชน์และความสำคัญของการเชื่อมข้อมูลสุขภาพของหน่วยบริการในพื้นที่กรุงเทพฯ ก็สามารถอนุญาตให้แพทย์เรียกดูข้อมูลสุขภาพได้ผ่าน Health Link แพลตฟอร์ม โดยปัจจุบันประชาชนสามารถเข้าไปแสดงความยินยอมให้แพทย์เข้าดูประวัติการรักษาในแอพพลิเคชั่น “เป๋าตัง” และ “ThaiD” และจุดลงทะเบียน (เวชระเบียน) โรงพยาบาลภายใต้สังกัด กทม.ได้ทุกแห่ง
“การนำร่องในโซนที่ 3 จะเชื่อมต่อข้อมูลตั้งแต่ร้านยาคุณภาพ คลินิกชุมชนอบอุ่น รพ.ของรัฐและเอกชนในเครือข่ายของ สปสช. เพื่อให้เห็นข้อมูลผู้ป่วยร่วมกันได้ จากนั้น จะมีการประเมินผลการส่งต่อการรักษาผู้ป่วยว่า การเชื่อมข้อมูลมีประโยชน์หรือไม่ อย่างไร เพื่อปรับปรุงและขยายไปยังโซนอื่นๆ ของกรุงเทพฯต่อไป” พญ.ปฐมพรกล่าว
บรรยายใต้ภาพ
พญ.ปฐมพร ศิรประภาศิริ
ที่มา: นสพ.มติชน ฉบับวันที่ 4 ม.ค. 2567 (กรอบบ่าย)