เชื่อมปฐมภูมิยึดประชาชนเป็นหลัก
หาต้นแบบลดเหลื่อมล้ำเขตเมือง
จากการประชุมแลกเปลี่ยนเชิงยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนกองทุนหลักประกันสุขภาพกรุงเทพมหานคร ที่สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) รศ.ดร.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการ กทม.เปิดเผยว่า กองทุนหลักประกันสุขภาพกรุงเทพฯ เป็นเงินที่ได้รับจัดสรรจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ทุกปี ร่วมกับเงินของ กทม.ที่ร่วมสมทบอีกไม่น้อยกว่า 60% เพื่อใช้ในการดูแลส่งเสริมด้านสุขภาพให้กับประชาชนในพื้นที่ซึ่งก่อตั้งปี 2561 เป็นต้นมา กองทุนนี้ถูกนำเงินไปใช้เฉลี่ยอยู่ที่เพียง 13-20% เท่านั้น ทั้งนี้ ปี 2567 ผู้ว่าฯ กทม.ได้ตั้งเป้าหมายให้เกิดการใช้เงินอยู่ที่ 80% ของงบที่ได้รับการจัดสรรในแต่ละปี มุ่งให้ประชาชนเป็นศูนย์กลาง และบูรณาการการมีส่วนร่วมของชุมชนทุกภาคส่วนในพื้นที่ มีสมัชชาสุขภาพกรุงเทพมหานคร เป็นเวทีกลางในการพัฒนาประเด็นสู่การปฏิบัติ มีธรรมนูญสุขภาพในระดับเขตเป็นทิศทาง การเชื่อมร้อยกลไกในระดับปฐมภูมิของกทม.ทั้งโรงพยาบาล ศูนย์บริการสาธารณสุข ศูนย์สุขภาพชุมชน คลินิกชุมชนอบอุ่น ร้านขายยา อาสาสมัครสาธารณสุขกรุงเทพมหานคร (อสส.)
ขณะที่ ดร.ทพญ.น้ำเพชร ตั้งยิ่งยง ผู้อำนวยการ สปสช. เขต 13 กทม. กล่าวว่า กองทุนหลักประกันสุขภาพกรุงเทพฯมีงบประมาณที่ได้รับการจัดสรรปีละประมาณ 340 ล้านบาท โดยปัจจุบันมีเงินคงเหลือรวมทั้งสิ้นกว่า 1 พันล้านบาท โดยผลการดำเนินงานในปีงบประมาณ 2566 มีโครงการที่ได้อนุมัติรวมทั้งหมด 651 โครงการ รวมเป็นเงิน 56.8 ล้านบาท หรือคิดเป็นราว 16% ของงบประมาณที่ได้รับการจัดสรรเท่านั้น โดยปี 2567 สปสช.จะทบทวนและปรับประกาศบางอย่างที่อาจติดขัด พัฒนาโปรแกรมสนับสนุนการบริหารกองทุนให้มีประสิทธิภาพ ผลักดันภาคส่วนที่ยังเข้าไม่ถึงงบประมาณนี้ได้เข้าถึงมากขึ้น ส่งเสริมศูนย์พัฒนาเด็กเล็กในชุมชน คลินิกชุมชนอบอุ่น ได้ใช้งบกองทุนไปจัดบริการมากขึ้น
ด้าน น.ส.รษิดา เรืองศิริ นักบริหารแผนชำนาญการ สำนักสนับสนุนการพัฒนาระบบสุขภาพ สสส. กล่าวว่า สสส. ร่วมมือกับ 5 มหาวิทยาลัยราชภัฏกลุ่มรัตนโกสินทร์ จัดตั้งศูนย์วิชาการสุขภาวะเขตเมืองสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพภาคประชาชนให้เข้าถึงกลไกการเงินการคลังด้านสุขภาพระดับพื้นที่ ปี 2567 จะหาพื้นที่ต้นแบบ หรือแซนด์บ็อกซ์ เพื่อค้นหาปัจจัยความสำเร็จ ข้อติดขัด เพื่อพัฒนา ขยายผล ออกแบบกลไกการบริหารจัดการที่มีส่วนร่วมและมีประสิทธิภาพ จนนำไปสู่การลดความเหลื่อมล้ำในระบบสุขภาพเขตเมืองที่เป็นเป้าหมายสำคัญได้.
ที่มา: นสพ.ไทยรัฐ ฉบับวันที่ 27 ต.ค. 2566