ทีมข่าวชุมชนเมือง รายงาน
หากพูดถึงสถานที่หรือแหล่งท่องเที่ยวชุมชนฝั่งธนบุรี หลายคนนึกถึงชุมชนในย่าน “กะดีจีน” หรือ “กุฎีจีน” เริ่มตั้งแต่ลงสะพานสวนลอยฟ้าเจ้าพระยา หรือสะพานด้วน เลี้ยวขวาจะผ่านวัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร วัดซางตาครู้ส ศาลเจ้าเกียนอันเกง วัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร ซึ่งสถานที่เหล่านี้เป็นสถานที่เที่ยวอยู่ริมน้ำ หรือหากเดินย้อนกลับมาฝั่งพระนคร ก็สามารถเดินต่อเนื่องเข้าสะพานพระพุทธยอดฟ้า ปากคลองตลาด เสาชิงช้าและย่านเยาวราชได้
ที่ผ่านมา กทม. ดำเนินโครงการปรับภูมิทัศน์ย่านกะดีจีน ด้วยการปรับปรุงทางเดินริมน้ำ ลานกลางแจ้ง จัดทำสวน ติดตั้งไฟฟ้าส่องสว่าง ตามหลักออกแบบ Universal Design แล้วเสร็จเปิดให้ประชาชนใช้บริการ ทำให้นักท่องเที่ยวเดินทางเข้าถึงแหล่งท่องเที่ยวในชุมชนสะดวกและง่ายมากขึ้น
อีกทั้งการเดินชมวิวริมแม่น้ำเจ้าพระยาก็ยังมีบรรยากาศที่สวยงาม ดึงดูดใจนักท่องเที่ยวอีกด้วย…
ดังนั้น กทม. ริเริ่มแผนก่อสร้างทางเดินริมน้ำเชื่อมต่อสถานที่ท่องเที่ยวอื่น ๆ เพิ่มเติม เพื่อสร้าง “ความเชื่อมโยง” ให้นักท่องเที่ยวสามารถเดินถึงกันได้ ตั้งแต่ วัดกัลยาณมิตรฯ มายังป้อมวิไชยประสิทธิ์ ที่อยู่ในพระราชวังกรุงธนบุรีหรือพระราชวังเดิม เข้าสู่วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร และ เดินเชื่อมต่อไปจนถึง รพ.ศิริราช ปัจจุบันทางเดินริมน้ำสิ้นสุดที่วัดกัลยาณมิตรฯ
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯกทม. เผยความคืบหน้าโครงการก่อสร้างทางเดินเชื่อมจากวัดกัลยาณมิตรฯ เขตธนบุรี เชื่อมโยงการเดินทางท่องเที่ยวไปยังสถานที่ท่องเที่ยวอื่น จนถึงรพ.ศิริราชว่า ได้หารือกับ ผบ.ทร. ถึงการทำทางเดินเท้าเชื่อมจากวัดกัลยาณมิตรฯ มายังป้อมวิไชยประสิทธิ์แล้ว เป็นการพูดคุยถึงพื้นที่ว่าจะสามารถทำทางเดินลงได้ตรงจุดไหน บริเวณใด เส้นทางไหนได้บ้าง เพราะทางกองทัพเรือเอง ก็ยังมีพื้นที่ที่ใช้ในราชการอยู่ อาจไม่สะดวกที่จะให้คนเข้าไปเดิน
เบื้องต้น จึงเน้นไปทางริมน้ำ แล้วเลาะข้ามป้อมวิไชยประสิทธิ์ไปตามศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เลยไปเข้าที่วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร จากนั้นจะเดินทะลุออกมาด้านนอกบริเวณถนนอรุณอมรินทร์ แล้วค่อยวนกลับเข้าไปทางเดินริมน้ำอีกครั้ง บริเวณวัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหาร จากนั้นนักท่องเที่ยวจะสามารถเดินต่อเนื่องยาวไปจนถึงวังหลังและศิริราชได้
จากการหารือได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี และมีการตั้งคณะทำงานร่วมกันโดยเชิญกรมศิลปากรร่วมด้วย เพราะเป็นพื้นที่พระราชวังเดิม หรือพระราชวังกรุงธนบุรี ซึ่งมีเรื่องของโบราณสถานอยู่
“เป็นเรื่องที่น่าสนใจมาก เพราะถ้าประชาชนสามารถเข้าไปดูในพื้นที่พระราชวังเดิมได้ เช่น สถานที่ที่สมเด็จพระเจ้าตากสินฯออกว่าราชการ (ท้องพระโรง) ห้องบรรทม ป้อมวิไชยประสิทธิ์ และยังมีอีกหลายอย่างที่เป็นศิลปะร่วมสมัย”
ผู้ว่าฯกทม. ย้ำว่าจุดใดที่สามารถทำทางเดินริมน้ำได้ กทม. ก็จะทำ หากจุดใดทำไม่ได้ก็จะทำเป็นทางเดินชุมชนลัดเลาะเข้าไป คล้ายเป็น “ทางเดินวัฒนธรรม” เพื่อให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจ ชมความเป็นอัตลักษณ์ของชุมชน จึงไม่ต้องทำเป็นทางเดินริมน้ำขนาดใหญ่ แต่จะพยายามยึดโครงสร้างเดิมที่มีอยู่แล้ว เป็นทางเดินชุมชนเน้นให้คนเดินสะดวก แต่ไม่ได้ให้รถวิ่ง
อย่างไรก็ตาม จะเห็นแบบร่างเป็นรูปธรรมในสิ้นปีนี้ หากแล้วเสร็จจะมีระยะทางตั้งแต่เดินลงสะพานสวนลอยฟ้าเจ้าพระยา หรือสะพานด้วนไปจนถึงศิริราชประมาณ 3 กิโลเมตร
นอกจากนี้ ยังมีแผนพัฒนาทางเดินริมน้ำที่เขตคลองสาน เป็นทางเดินขนาดเล็กลัดเลาะผ่านชุมชนบางจุดด้วย เพราะเมื่อนักท่องเที่ยวเดินลงจากสะพานด้วนเลี้ยวขวาก็เดินทางมายังฝั่งกุฎีจีน โบสถ์ซางตาครู้ส แต่หากเลี้ยวซ้ายก็จะพบกับ อุทยานเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี หรือสวนสมเด็จย่า และยังมีสวนของ กทม. ที่อยู่ระหว่างพัฒนา เจอท่าดินแดง สำนักงานเขตคลองสาน สำนักวัฒนธรรม กีฬาและการท่องเที่ยวอยู่
“เชื่อว่าหากพัฒนาให้เชื่อมโยงกันได้ทั้งสองฝั่ง และหากสามารถเชื่อมไปถึงสะพานตากสินได้ยิ่งดี เพราะจะเป็น 2 ลูป ทำให้ประชาชนเดินสะดวกขึ้น”
สำหรับเส้นทางการท่องเที่ยวริมน้ำ เมื่อแล้วเสร็จจะเห็นภาพเส้นทางท่องเที่ยวแบบ “วนลูป” เป็น “วงกลม” ได้ จากฝั่งพระนครสู่แหล่งท่องเที่ยวย่านฝั่งธนบุรี ซึ่งทางเดินริมน้ำจะผ่านแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมที่หลากหลาย ได้ชมแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ และศิลปะที่งดงามที่มีมายาวนาน
การทำให้นักท่องเที่ยวเข้าถึงแหล่งชุมชนได้ง่ายขึ้น ยังสามารถช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ สร้างชุมชนเข้มแข็ง ต่อยอดจากนโยบายการพัฒนาย่านสร้างสรรค์ และการทำให้ทางเดินสามารถเดินได้สะดวกก็สอดคล้องกับนโยบายให้ กทม. กลายเป็น “เมืองเดินได้เดินดี มีความปลอดภัย” อีกด้วย.
บรรยายใต้ภาพ
ทางเดินริมน้ำมองเห็นสะพานพุทธฯ
ทางเดินริมน้ำมุ่งหน้าป้อมวิไชยประสิทธิ์
ป้อมวิไชยประสิทธิ์
วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร
ที่มา: นสพ.เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 27 ต.ค. 2566