ปรับใหม่ตอบโจทย์กทม. ลาดกระบัง-บางขุนเทียน แก้ปัญหาล้าสมัย-ตู้เหล็ก
‘ชัชชาติ’เตรียมจัดทำผังเมืองพิเศษ’ลาดกระบัง-บางขุนเทียน’ ปรับปรุงข้อบัญญัติล้าสมัย จ่อยกเลิก 11 ฉบับ ชี้นักโบราณคดีนักเศรษฐศาสตร์เมืองขาดแคลน สั่งเร่งประเมินเข้ม
เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน ที่ห้องประชุม ชั้น 4 สำนักการวางผังและพัฒนาเมือง เขตดินแดง นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) และผู้เกี่ยวข้อง ร่วมกิจกรรม ผู้ว่าฯกทม.สัญจรสำนักการวางผังและพัฒนาเมือง
นายชัชชาติกล่าวว่า หลังจากมีการโยกย้ายแต่งตั้งผู้บริหารในสังกัดกรุงเทพมหานครเรียบร้อย ต่อไปจะจัดกิจกรรมผู้ว่าสัญจรในส่วนของสำนักต่างๆ วันนี้มาที่สำนักวางแผนและพัฒนาเมือง มีหน้าที่สำคัญคือการจัดทำผังเมือง ผังเมืองเป็นเรื่องสำคัญ เปรียบเหมือนธรรมนูญเมือง เป็นตัวแม่บททุกคนต้องมาร้อยเรื่องเข้าด้วยกัน ที่ผ่านมาอาจจะไม่ได้มองผังเมืองเป็นเรื่องสำคัญมาก ผังเมืองเป็นตัวกำหนดทิศทางของเมือง
ผังเมืองเป็นแม่บทของหลายสำนัก อย่างสำนักการระบายน้ำ ต้องมาดูผังเมืองว่าจะระบายน้ำอย่างไร ต้องไปเชื่อมโยงกับผังชาติด้วย นายชัชชาติกล่าว และว่า สำหรับประเด็นพูดคุยกันคือ 1.การจัดการฐานข้อมูลการวิจัยของเมือง ที่ผ่านมาศึกษาวิจัยเจำนวนมาก แต่ไม่ได้นำไปใช้ จะต้องมีการเพิ่มแนวทางการทำงานวิจัย สำหรับบุคลากรที่ยังขาดแคลนคือ นักเศรษฐศาสตร์เมือง เนื่องจากปัจจุบันเรามีเพียงนักวางผังเมือง มองเพียงจากฝั่งซัพพลายไซด์ (Supply Side) แต่ยังขาดความรู้ว่าฝั่งดีมานด์ไซด์ (Demand Side) ว่าความต้องการพื้นที่แต่ละประเภทเป็นเท่าไหร่
นายชัชชาติกล่าวว่า บุคลากรที่ยังขาดแคลนอีกคือนักโบราณคดี เพราะ กทม.รับโบราณสถานจากกรมศิลปากรเกือบ 40 แห่ง แต่จากการพูดคุยอยากให้ร่วมมือกับหน่วยงานที่เชี่ยวชาญมากกว่า ถ้า กทม.เปิดรับบรรจุโดยตรง เจ้าหน้าที่จะไม่มีความก้าวหน้าในอาชีพ นอกจากนี้มีการเสนอให้มีนักผังเมืองประจำเขต แต่ตนอยากให้มีนักผังเมืองประจำโซนมากกว่า จำนวน 6 โซน จะมีผู้เชี่ยวชาญแต่ละโซนให้คำปรึกษาได้ 2.ร่างผังเมืองรวมฉบับแก้ไข ครั้งที่ 4 ทบทวนใหม่ให้เป็นไปตาม พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การผังเมือง พ.ศ.2562 เพราะยังทำประชาพิจารณ์ไม่ครบ จึงต้องเริ่มกระบวนการใหม่ แต่ถือเป็นโอกาสจะปรับแก้ เพราะผังเมืองต้องตอบโจทย์เมืองในปัจจุบัน
นายชัชชาติกล่าวว่า สำหรับการจัดทำผังเมืองที่ผ่านมาเป็นตัวกำหนดว่าจะสร้างอาคารสูงสุดได้เท่าไหร่ เป็นตัวกำหนดราคาที่ดินในแต่ละพื้นที่ ทำให้เอกชนพยายามสร้างอาคารให้สูงที่สุดตามที่ผังเมืองกำหนด แต่ไม่ได้คำนึงถึงอนาคตของเมือง จึงต้องมี FAR Bonus เพิ่มพื้นที่ใช้สอยของอาคารให้สอดคล้องกับนโยบาย เช่น เพิ่มพื้นที่สำหรับที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อยในเมือง มี Hawker Center หรือศูนย์อาหาร สำหรับหาบเร่แผงลอย
“พรรคก้าวไกลเคยให้นโยบายนี้มาก่อน ทางเราก็รับมาให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น จึงต้องรีบปรับผังเมืองให้ทันสมัย เพราะต้องผ่านหลายกระบวนการประชาพิจารณ์ ตัองจบภายในปีหน้าให้ได้” นายชัชชาติกล่าว
นายชัชชาติกล่าวว่า อีกปัญหาของผังเมือง คือแผนการทำถนน ทำไม่เคยทัน กลายเป็นการเปลี่ยนสีผังเมืองไปแล้ว แต่ไม่ได้ทำถนนใหม่ ทำให้เกิดการรอนสิทธิ ทำให้ต้องรอการก่อสร้าง จึงต้องประสานงานกับสำนักการโยธาให้สร้างถนนใหม่ให้ทัน ต่อมาต้องปรับปรุงข้อบัญญัติผังเมืองจำนวนมากที่ล้าสมัย อยู่ระหว่างการยกเลิก 11 ฉบับ และอยู่ระหว่างการศึกษาปรับปรุงอีกจำนวนหนึ่ง
“แถวลาดกระบังมีการนำพื้นที่มาวางตู้คอนเทนเนอร์ ไม่ได้เป็นสิ่งปลูกสร้าง แต่สร้างผลกระทบกับประชาชน หรือการทำคลังสินค้า กระจายทั่วกรุงเทพฯ เพราะมีการค้าขายออนไลน์จำนวนมาก กฎหมายผังเมืองจะตามตรงนี้ไม่ทัน จึงต้องปรับกฎหมายผังเมืองให้สอดคล้องกับตรงนี้ด้วย” นายชัชชาติกล่าว
นายชัชชาติกล่าวว่า จะมีการจัดทำผังเมืองพิเศษเฉพาะตามนโยบายของเราในเขตบางขุนเทียนและเขตลาดกระบัง อยู่ระหว่างการจัดหาที่ปรึกษา รวมถึงการนำเครื่องมือที่สำคัญที่ยังไม่ค่อยได้ใช้ คือการจัดรูปที่ดิน กับการทำเมืองเฉพาะ จะนำมาใช้กับ 2 เขตดังกล่าว
“การจัดรูปที่ดินคือการนำที่ดินหลายแปลงมารวมกันวางผังใหม่ เจ้าของเดิมได้ประโยชน์ร่วมกัน ไม่ใช่ว่าถ้าตรงนี้ทำสวน คนทำสวนไม่ได้ประโยชน์จากการไม่มีมูลค่า คนทำที่อยู่อาศัยได้ประโยชน์เยอะ เอามาที่ดินรวมเป็นแปลงเดียวกัน แล้วเฉลี่ยผลประโยชน์กัน ที่ผ่านมามีแต่ที่ดินแถวสวนหลวง ร.9” นายชัชชาติกล่าว
นายชัชชาติกล่าวว่า การทำฐานข้อมูลของเมือง จะเปิดเผยข้อมูลทั้งสีของผังเมือง ความเสี่ยงของเมือง วิเคราะห์แสงแดด ทิศทางลมโดยภาคเอกชนสามารถนำข้อมูลเหล่านี้ไปขยายผลต่อได้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้เมือง จึงต้องเปิดเผยทุกข้อมูล ยกเว้นข้อมูลจำเป็นต้องปิด ที่ผ่านมาปิดทุกข้อมูล ยกเว้นจำเป็นต้องเปิด
การมีข้อมูลที่ดีการโอเพ่น ดาต้า (Open Data) เชื่อว่าเอกชน ประชาชน จะนำข้อมูลตรงนี้ไปพัฒนาเมืองให้ดีขึ้น” นายชัชชาติกล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า แนวคิดของผู้ว่าฯกทม.เรื่อง TDR (Transfer of Development Right) หรือการโอนสิทธิการพัฒนา นายชัชชาติกล่าวว่า ต้องคิดข้อดีข้อเสียให้ดี เพราะกังวลเรื่องความหนาแน่นบริเวณนั้น ถ้าไปโอนสิทธิจากที่ไกล จะช่วยเรื่องความเท่าเทียมของสิทธิ แต่ทำให้พื้นที่ตรงนั้นมีความหนาแน่นเกินกว่าเจตนารมณ์ในตอนแรก แต่ได้บอกที่ปรึกษาให้มีการทบทวน
เมื่อถามว่า ก่อนหน้านี้ ผู้ว่าฯกทม.มีแนวคิดการเก็บภาษีที่ดินตามสีของผังเมือง แต่กระทรวงการคลังปัดตกเรื่องนี้ไป ผู้ว่าฯกทม.มีแนวคิดการจัดเก็บภาษีที่ดินรูปแบบอื่นหรือไม่ นายชัชชาติกล่าวว่า ก่อนหน้านี้ กทม.สามารถเก็บภาษีโรงเรือนได้ 12.5% ของรายได้ ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเข้ามาแทน ทำให้การจัดเก็บภาษีลดลงกว่า 20% จึงต้องจริงจังในการเก็บภาษี โดยทำ 2 ส่วน คือ 1.ต้องประเมินอย่างเข้มข้น หลายอย่างต้องตีความ เช่น ที่จอดรถ ถนน ต้องทำคู่มือให้กับทางสำนักงานเขตเพื่อจัดเก็บภาษีให้เต็มประสิทธิภาพ 2.ต้องทำฐานข้อมูลให้ครบ หลายเขตยังจัดทำข้อมูลไม่ครบ ทำให้เจ้าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างไม่มีการยื่นประเมินภาษี จึงต้องเร่งทำฐานข้อมูลให้ครบเพื่อเก็บภาษีอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย
ส่วนเรื่องการเก็บภาษีเพิ่ม มีช่องทางสามารถทำได้ แต่ยังไม่ใช่ตอนนี้ เพราะเศรษฐกิจยังไม่ฟ้นกลับมาเต็มที่” นายชัชชาติกล่าว
ที่มา: นสพ.มติชน ฉบับวันที่ 29 พ.ย. 2565