(4 ต.ค.66) นายวิรัตน์ มีนชัยนันท์ ประธานสภากรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมสามัญ สมัยที่สี่ (ครั้งที่ 1) ประจำปีพุทธศักราช 2566 โดยมี สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร คณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม ณ ห้องประชุมสภากรุงเทพมหานคร อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ดินแดง
โดยก่อนเริ่มการประชุมสภากรุงเทพมหานคร ประธานสภากรุงเทพมหานครได้กล่าวแสดงความเสียใจกับครอบครัวผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บจากเหตุการณ์ศูนย์การค้าสยามพารากอน โดยสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร ตลอดจนผู้บริหารกรุงเทพมหานครและหัวหน้าส่วนราชการที่ร่วมการประชุม ร่วมไว้อาลัย
นายนภาพล จีระกุล สมาชิกสภากรุงเทพมหานครเขตบางกอกน้อย ในฐานะประธานคณะกรรมการวิสามัญเพื่อศึกษาปัญหาของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว (บางส่วน) รายงานผลการศึกษาของคณะกรรมการวิสามัญฯ ซึ่งได้ศึกษาลำดับความเป็นมา ข้อเท็จจริง และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งกรณีที่กรุงเทพมหานครได้รับแจ้งมาจากบริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BTSC) ค้างชำระค่าใช้จ่ายในส่วนของงานเดินรถและซ่อมบำรุง (O&M) และงานติดตั้งระบบการเดินรถ (E&M) ของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยายที่ 1 ส่วนต่อขยายที่ 2 ถึงปัจจุบัน (เดือนกันยายน 2566) โดยเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาร่วมชี้แจงและให้ข้อมูล
“แนวทางที่คณะกรรมการวิสามัญฯเสนอในครั้งนี้ ถือเป็นการรายงานผลการศึกษาเพื่อหาแนวทางการแก้ไขเพียงบางส่วนของคณะกรรมการวิสามัญฯเท่านั้น ไม่ได้เป็นการลงสัตยาบันเพื่อรับรองเรื่องใด ๆ ทั้งสิ้น แต่อาจเป็นแนวทางที่ใช้แก้ไขปัญหาได้ และฝ่ายบริหารสามารถเลือกนำไปดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งสภากทม.ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในการบริหารจัดการหรือจ่ายเงินให้ใครได้ ในที่สุดแล้วว่าวิธีการแก้ไขจะเป็นอย่างไรก็อยู่ที่ครม.(คณะรัฐมนตรี) และเมื่อถึงเวลานั้นผู้บริหารเห็นว่าต้องมีการใช้เงินเพื่อแก้ปัญหาหาก็ต้องนำเข้าสภากทม.เพื่อขอความเห็นชอบอีกครั้งหนึ่ง ถึงตอนนั้นสภากทม.ก็จะมีข้อมูลเบื้องต้นไว้แล้ว และสามารถพิจารณาในก้าวต่อไปได้เลย” ประธานคณะกรรมการวิสามัญฯ กล่าว
ทั้งนี้คณะกรรมการวิสามัญฯได้รายงานผลการศึกษา สาระสำคัญประกอบด้วย ค่าใช้จ่ายของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว การดำเนินการกรณีค่าใช้จ่ายโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว และข้อสังเกตของคณะกรรมการวิสามัญฯ ดังนี้
1.กรุงเทพมหานครควรแยกทำสัญญางานติดตั้งระบบการเดินรถฉบับใหม่กับบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) โดยตรง
2.กรุงเทพมหานครควรกำกับดูแลสัญญาเอง ไม่ให้บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด เป็นผู้ดำเนินการ แต่คงสัญญาเดิม (บันทึกมอบหมายระหว่างกรุงเทพมหานคร กับ บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด และสัญญาระหว่างบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด กับ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) โดยจัดทำบันทึกข้อตกลงใหม่นี้ต่อท้ายสัญญา
3.หากบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เสนอราคาขายทรัพย์สินพร้อมเงื่อนไขที่เหมาะสมควรเป็นธรรมต่อทั้ง 2 ฝ่าย
4.หากกรุงเทพมหานครและบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ไม่สามารถตกลงกันได้ ควรคืนโครงการนี้กลับไปให้รัฐบาลเป็นผู้ดำเนินการ
อย่างไรก็ดี จากการพิจารณาของคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร คณะกรรมการวิสามัญฯ ได้รับทราบถึงแนวทางการแก้ไขปัญหางานติดตั้งระบบการเดินรถตามที่ผู้บริหารเสนอ โดยผู้บริหารจะไปดำเนินการเพื่อให้ได้ข้อยุติเกี่ยวกับรายละเอียดจำนวนเงิน เงื่อนไขการชำระเงิน และบัญชีอุปกรณ์งานระบบการเดินรถเพื่อจัดทำเป็นบันทึกข้อตกลง (เพิ่มเติม) การรับมอบทรัพย์สินงานระบบการเดินรถ (ไฟฟ้าและเครื่องกล) โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ เพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไป
จากนั้นสมาชิกสภากรุงเทพมหานครได้สอบถามรายละเอียดในประเด็นที่สนใจ อาทิ เรื่องสัญญาการเดินรถ ระบบการเดินรถ การแยกสัญญา E&M และ O&M การแบ่งจ่ายเงินเป็นงวด ประสิทธิภาพของทรัพย์สินซึ่งกรุงเทพมหานครอาจต้องรับโอนมา ประกอบด้วย นางสาวนฤนันมน์ ห่วงทรัพย์ สก.เขตคลองสามวา นายตกานต์ สุนทรวุฒิ สก.เขตหลักสี่ นายพุทธิพัชร์ ธันยาธรรมนนท์ สก.เขตยานนาวา นายสุรจิตต์ พงษ์สิงห์วิทยา สก.เขตลาดกระบัง และนางกนกนุช กลิ่นสังข์ สก.เขตดอนเมือง
—————–