(20 ก.ค.66) รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นวิทยากรในงาน 11th ASEAN Conference หัวข้อ Why Credible Government Matters? ณ ห้องประชุม Function Eleven ชั้น 11 โรงแรมสยามแอทสยามดีไซน์โฮเต็ล กรุงเทพฯ
รองผู้ว่าฯ ทวิดา กล่าวถึงภาพรวมความหมายของการกำกับดูแลที่ดีและรัฐบาลที่น่าเชื่อถือ ว่า ต้องมีความเห็นอกเห็นใจ เข้าใจและไม่ทิ้งใครไว้ด้านหลัง นอกจากนั้นยังต้องมีคนช่วยเหลือในการทำงาน การบริการที่ไว้ใจได้ มีข้อมูลที่เชื่อถือได้ รวมถึงการกำกับดูแลที่ดี แนวความคิดที่สามารถให้ความไว้วางใจได้ หากพูดถึงเรื่องการไว้วางใจรัฐบาลไม่ใช่แค่การพูดแล้วจะสามารถเชื่อได้เลย แต่ต้องทำงานเพื่อพิสูจน์ว่ารัฐบาลหรือหน่วยงานมีความน่าเชื่อถือ เช่น ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์) จะลงพื้นที่ในกรุงเทพมหานครเพื่อทำความเข้าใจว่าแท้จริงแล้วประชาชนต้องการอะไร ดังนั้นจึงออกมาเป็นนโยบาย 9 ด้าน 9 ดี ที่แสดงถึงความต้องการของคนกรุงเทพมหานคร ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง ขยะ ทางเท้า อากาศสะอาด ความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม สาธารณสุข การศึกษา ฯลฯ
ในแง่ธุรกิจแม้ว่ากรุงเทพมหานครจะเป็นเมืองแห่งธุรกิจแต่ยังไม่สามารถเป็นเมืองที่มีธุรกิจที่สร้างสรรค์ เพราะฉะนั้นไม่ใช่แค่หน่วยกทม. หน่วยงานเดียวแต่ต้องสร้างพันธมิตรและสร้างเครือข่ายระดับนานาชาติ เพราะการทำงานนั้นทำคนเดียวไม่ได้ สิ่งที่ต้องทำคือดูเรื่องความโปร่งใสและมีความรับผิดชอบ ความสามารถในการจัดเก็บข้อมูล รวมถึงเรื่องความปลอดภัย ดังนั้นหากสามารถสร้างความปลอดภัยและทำให้คนรู้สึกถึงสิ่งนั้นได้ ก็จะสร้างความเชื่อใจได้
เรื่อง Traffy fondue เป็นระบบที่ภาครัฐมีอยู่แล้ว และกทม. ก็ได้นำมาปรับใช้ในการทำงาน โดยปีที่ผ่านมาได้รับเรื่องร้องเรียนกว่า 300,000 เรื่อง สามารถแก้ปัญหาไปแล้วกว่า 260,000 เรื่อง ซึ่งเป็นผลงานของกทม. โดยที่ผู้ว่าฯ กทม. ไม่ต้องลงนามในเอกสาร ทำให้การแก้ปัญหาเป็นไปด้วยความรวดเร็ว แต่ในบางเรื่องที่มีขั้นตอนซับซ้อนก็อาจใช้เวลาในการแก้ไข โดยผู้ว่าฯ ชัชชาติเคยกล่าวไว้ว่า ให้มองคำร้องเรียนเหล่านั้นเป็นความเชื่อใจ เพราะหากประชาชนไม่เชื่อใจก็คงไม่บอกปัญหาให้เราฟัง นอกจากนี้กรุงเทพมหานครยังมีการเปิด open policy ประชาชนสามารถติดตามทุกนโยบาย และงบประมาณที่ใช้ในแต่ละโครงการได้
สุดท้ายคือเรื่องความไว้วางใจของประชาชน นอกจาก Traffy fondue การเปิดข้อมูล ยังมีอีกหลายโครงการเช่น Bkk Ranger ให้คนรุ่นใหม่เข้ามาทำงานโดยใช้สภากรุงเทพมหานครเป็นเครื่องมือในการทำงาน มีการนำเสนอไอเดียใหม่ๆ ติดตามผลงานทุก 3 เดือน ซึ่งจะทำให้ประสบความสำเร็จในการทำโปรเจคได้เร็วขึ้น รวมถึงมี SandBox City Lab เป็นต้น
“เราจะกำกับดูแลการทำงานให้ดีแค่ไหนก็ได้ แต่สิ่งที่จะทำให้งานสำเร็จคือประชาชนที่เรียนรู้และปฏิบัติอย่างเข้มแข็งหากการทำงานของเราตอบโจทย์และสามารถให้ในสิ่งที่ประชาชนต้องการและสมควรได้ คนเหล่านี้เป็นตัวพิสูจน์ว่าเราประสบความสำเร็จในการทำงานและแสดงให้เห็นว่าประชาชนเชื่อใจเราจริงๆ” รองผู้ว่าฯ ทวิดา กล่าว
สำหรับการประชุม 11th ASEAN Conference มีการดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 11 ร่วมกับเครือข่ายในต่างประเทศ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และประสบการณ์ร่วมกัน แลกเปลี่ยนแนวปฏิบัติที่ดีระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนเพื่อนำความรู้ไปขับเคลื่อนภารกิจองค์กรได้ นอกจากนั้นเวทีนี้ยังหวังจะทำให้เกิดความร่วมมือระหว่างประเทศและเครือข่ายเพื่อร่วมกันกับผลักดันเรื่องหลักธรรมาภิบาลหรือการเปลี่ยนแปลงระบบราชการให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และสร้างประเทศให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในรูปแบบที่ตอบโจทย์กับอนาคตของโลก และเป็นภาครัฐที่เปิดกว้าง ทำให้ทุกส่วนเข้ามามีส่วนร่วมกับภาครัฐได้ในหลายมิติ และสิ่งที่สำคัญที่สุดคือต้องเป็นภาครัฐมีความเชื่อมั่นต่อประชาชนเพื่อนำไปสู่ภาครัฐที่น่าเชื่อถือ ทั้งนี้การประชุมจัดขึ้นในวันที่ 20 -21 กรฏาคม 2566 ณ Siam@Siam Design Hotel Bangkok
————–