(20 ก.ค.66) เวลา 14.30 น. นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในพื้นที่เขตราชเทวี ประกอบด้วย
เยี่ยมชมต้นแบบการคัดแยกขยะตามแหล่งกำเนิด โรงแรมชาเทรียมแกรนด์ กรุงเทพ ซอยเพชรบุรี 20 พื้นที่ 88,582 ตารางเมตร วิธีการคัดแยกขยะ โดยจำแนกตามประเภทของขยะ ดังนี้ 1.ขยะอินทรีย์ มีผู้รับซื้อมาเก็บทุกวัน แยกเก็บขยะอินทรีย์ในภาชนะที่ผู้รับซื้อจัดหามาให้ เก็บไว้ในห้องเย็นแยกส่วนกับขยะทั่วไป 2.ขยะรีไซเคิล มีผู้รับซื้อขยะประเภทรีไซเคิล แยกเก็บจากขยะอินทรีย์และขยะทั่วไป 3.ขยะทั่วไป เขตฯ จัดเก็บทุกวัน แยกขยะจากขยะอินทรีย์และขยะรีไซเคิล 4.ขยะอันตราย แยกเก็บจากขยะทั่วไป ขยะอินทรีย์ จะเรียกเขตฯ หรือ outsource มาเก็บเมื่อเต็มพื้นที่ สำหรับปริมาณขยะหลังคัดแยก ดังนี้ ขยะทั่วไปหลังคัดแยก 3,000 กิโลกรัม/วัน ขยะรีไซเคิลหลังคัดแยก 400 กิโลกรัม/เดือน ขยะอินทรีย์หลังคัดแยก 600 กิโลกรัม/วัน ขยะอันตรายหลังคัดแยก 20 กิโลกรัม/เดือน
สำรวจถนนสวย ถนนพญาไท บริเวณหน้าสำนักงานเขตราชเทวี เขตฯ ได้คัดเลือกถนนพญาไทเข้าร่วมโครงการถนนสวย โดยปรับปรุงภูมิทัศน์และเพิ่มพื้นที่สีเขียวบริเวณถนนพญาไท ตั้งแต่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ถึงเชิงสะพานหัวช้าง ระยะทาง 1,850 เมตร ดำเนินการปลูกต้นข่อยรอบเสาตอม่อรถไฟฟ้า BTS เพื่อช่วยดักจับและกรองฝุ่นที่ในพื้นที่ ซึ่งต้นข่อยเป็นต้นไม้ที่ลักษณะใบมีขนหรือขรุขระ อีกทั้งยังช่วยลดความแข็งกระด้างของเสาตอม่อ สร้างความร่มรื่นและสวยงาม นอกจากนี้ เขตฯ ได้ทาสีแนวคอกต้นไม้ (เดิม) เพื่อแสดงความเป็นสัดส่วน และเพิ่มสีสันสดใส ประดับตกแต่งสวนแนวตั้งด้วยวัสดุรีไซเคิล บริเวณป้ายรถประจำทาง ประดับตกแต่งสวนหิน โดยการปูหญ้าเทียม บริเวณใต้สถานีรถไฟฟ้า BTS พญาไท จัดทำคอกต้นไม้ พร้อมทาสีคอกต้นไม้ ตั้งแต่หน้าสถาบันสอนภาษาแบ๊บติส ถึงถนนโยธี และตั้งแต่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ถึงแยกพญาไท ปลูกต้นไม้ประดับทดแทนต้นไม้ที่ยืนต้นตายหรือทรุดโทรมตามแนวต้นไม้เดิมที่ปลูกไว้ บริเวณไหล่ทางและเกาะกลางถนนพญาไท
พร้อมกันนี้ได้สอบถามถึงการคัดแยกขยะภายในสำนักงานเขตราชเทวี มีข้าราชการและบุคลากร 429 คน วิธีการคัดแยกขยะ โดยจำแนกตามประเภทของขยะ ดังนี้ 1.ขยะรีไซเคิล ทุกฝ่ายคัดแยกเศษกระดาษ ขวดแก้ว ขวดพลาสติก โดยแม่บ้านจะรวบรวมไว้ จำหน่ายให้คนรับซื้อของเก่า 2.ขยะอินทรีย์ ทุกฝ่ายมีถังขยะรองรับเศษอาหาร ทุกเย็นฝ่ายรักษาความสะอาดฯ จะรวบรวมขยะเศษอาหารทั้งหมดของแต่ละชั้นลงมาใส่ถังปิดฝามิดชิด โรงอาหารแยกเศษอาหารและเศษผักจากการประกอบอาหารรวบรวมไว้ เพื่อให้เกษตรนำไปเลี้ยงสัตว์ โดยเกษตรกรจะเข้ามารับที่เขตฯ 3.ขยะอันตราย มีจุดเก็บขยะอันตราย บริเวณชั้น 1 ทางลงไปลานจอดรถด้านหลังอาคาร 4.ขยะทั่วไป มีถังขยะทั่วไปอยู่ทุกชั้น แม่บ้านจะรวบรวมลงมาทิ้งที่ถังรวมขยะทั่วไปทุกวัน รอรถเก็บขนมูลฝอยเข้าจัดเก็บ สำหรับปริมาณขยะก่อนคัดแยกและหลังคัดแยก ดังนี้ ขยะทั่วไปก่อนคัดแยก 175 กิโลกรัม/วัน หลังคัดแยก 156 กิโลกรัม/วัน ขยะรีไซเคิลหลังคัดแยก 12.5 กิโลกรัม/วัน ขยะอินทรีย์หลังคัดแยก 8 กิโลกรัม/วัน ขยะอันตรายหลังคัดแยก 0.11 กิโลกรัม/วัน ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ พิจารณาปรับเปลี่ยนขนาดรถเก็บขนมูลฝอย เพื่อให้เหมาะสมกับปริมาณขยะที่เก็บได้ในแต่ละพื้นที่ รวมถึงเพิ่มจำนวนเที่ยวในการจัดเก็บขยะเป็น 2 ครั้ง/สัปดาห์ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาขยะตกค้าง
ติดตามการให้บริการประชาชนของฝ่ายทะเบียน ภายในศูนย์บริหารราชการ ฉับไวใสสะอาด (Bangkok Fast & Clear : BFC) เขตราชเทวี ระยะเวลาในการให้บริการประชาชนที่มาติดต่องานทะเบียนบัตรประจำตัวประชาชน ตั้งแต่กดรับบัตรคิวจนเสร็จสิ้นขั้นตอนการทำงาน ซึ่งควรใช้ระยะเวลาไม่เกิน 15 นาที ไม่รวมเวลารอคอย โดยขึ้นอยู่กับจำนวนประชาชนที่มารับบริการในแต่ละวัน ปัญหาและอุปสรรคที่ส่งผลให้งานบริการเกิดความล่าช้า ประสิทธิภาพของอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ที่ใช้งาน หากชำรุดเสียหายให้จัดหาเครื่องใหม่มาทดแทน เพื่อให้การปฏิบัติงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ อำนวยความสะดวกแก่ประชาชนให้ได้รับการบริการอย่างรวดเร็ว
ต่อมาได้ติดตามการใช้งานระบบสารสนเทศภาษีท้องถิ่นของกรุงเทพมหานคร (BMA-TAX) ในการจัดเก็บรายได้ การบันทึกข้อมูลรายการภาษี การค้นหาและแก้ไขข้อมูลผู้เสียภาษี ปัญหาที่เกิดขึ้นจากการเข้าใช้งานในระบบ ศักยภาพของอุปกรณ์คอมพิวเตอร์และอายุในการใช้งาน ประสิทธิภาพระบบเครือข่ายแบบใช้สายสัญญาณ (LAN) และแบบไร้สายสัญญาณ (WIFI) พร้อมทั้งสอบถามถึงปัญหาและอุปสรรคในการจัดเก็บภาษีรายได้ การจัดส่งหนังสือแจ้งการประเมินภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างให้แก่ผู้เสียภาษี จำนวนจดหมายตีกลับ ตลอดจนให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานและคำแนะในการจัดเก็บภาษีประเภทต่างๆ เพื่อให้การจัดเก็บภาษีรายได้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพตามกรอบเป้าหมายที่กำหนดไว้ ซึ่งเขตฯ มีที่ดิน 10,835 แปลง สิ่งปลูกสร้าง 22,674 แห่ง ห้องชุด 33,177 ห้อง สรุปผลการสำรวจภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง รวมทั้งสิ้น 66,686 รายการ สำรวจครบทั้งหมดแล้ว
ตรวจพื้นที่ Hawker Center บริเวณเกาะดินแดง อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ที่ผ่านมา เขตฯ ได้สำรวจและพิจารณาพื้นที่ซึ่งมีความเหมาะสมเพื่อจัดทำ Hawker Center อาจเป็นพื้นที่ว่างหรือตลาดนัดเอกชน โดยคำนึงถึงช่วงเวลาทำการค้าและความสะดวกในการเข้าถึงพื้นที่ทั้งผู้ค้าและผู้ซื้อ เป็นไปตามนโยบายของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร โดยเน้นจุดที่มีความต้องการของผู้บริโภค อยู่ใกล้กับพื้นที่ทำการค้าเดิม มีจุดล้างทำความสะอาดภาชนะ จุดคัดแยกขยะและกำจัดขยะรวม ซึ่งเขตฯ ได้ปรับปรุงพื้นที่ว่างบริเวณเกาะดินแดง ขีดสีตีเส้นกำหนดพื้นที่ตั้งวางแผงค้า รองรับผู้ค้าได้ 20 ราย ส่วนร้านค้าเดิมที่ตั้งอยู่ด้านในได้พัฒนาทำความสะอาดพื้นที่ จัดวางโต๊ะเก้าอี้สำหรับนั่งรับประทานอาหารให้เป็นระเบียบยิ่งขึ้น ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ พิจารณาถึงความเหมาะสมในการใช้พื้นที่อื่นๆ เพื่อจัดทำ Hawker Center โดยเน้นย้ำให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ พร้อมทั้งกวดขันผู้ค้าไม่ให้ตั้งวางสิ่งของรุกล้ำแนวเส้นที่กำหนดไว้ ตลอดจนขอความร่วมมือผู้ค้าให้เก็บอุปกรณ์และทำความสะอาดพื้นที่หลังเลิกทำการค้าในแต่ละวัน รวมถึงพิจารณาหาแนวทางยุบรวมพื้นที่ทำการค้าที่มีผู้ค้าจำนวนน้อยราย โดยจัดหาพื้นที่ใกล้เคียงกับจุดเดิม หรือพื้นที่ Hawker Center เพื่อให้ผู้ค้าย้ายเข้ามาทำการค้าในจุดเดียวกัน
ซึ่งเขตฯ มีพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน จำนวน 17 จุด รวมผู้ค้าทั้งสิ้น 370 ราย ดังนี้ 1.เกาะราชวิถี ตั้งแต่ปากซอยราชวิถี 13 ถึงท้ายซอยราชวิถี 13 ช่วงเวลาทำการค้า 05.00-22.00 น. ผู้ค้า 36 ราย และเกาะราชวิถี (กลางคืน) ตั้งแต่ปากซอยราชวิถี 11 ถึงท้ายซอยราชวิถี ช่วงเวลาทำการค้า 17.00-22.00 น. ผู้ค้า 6 ราย 2.อนุสาวรีย์ชัย ฝั่งเซเวียร์ หลังศาลาที่พักผู้โดยสารเกาะพหลโยธิน ช่วงเวลาทำการค้า 05.00-17.00 น. ผู้ค้า 15 ราย 3.ปากซอยราชวิถี 12 ตั้งแต่ปากซอยราชวิถี 12 ถึงซอยราชวิถี 18 ช่วงเวลาทำการค้า 05.00-17.00 น. ผู้ค้า 26 ราย 4.เกาะพหลโยธิน อนุสาวรีย์ชัย ช่วงเวลาทำการค้า 05.00-17.00 น. ผู้ค้า 78 ราย 5.หน้าองค์การเภสัชกรรม ถนนพระรามที่ 6 ตั้งแต่หน้าองค์การเภสัชกรรม ถึงสถาบันสุขภาพจิตเด็ก ช่วงเวลาทำการค้า 05.00-17.00 น. ผู้ค้า 13 ราย 6.ซอยโยธี ตั้งแต่ประตู 1 โรงพยาบาลราชวิถี ถึงปากซอยโยธี ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-14.00 น. ผู้ค้า 10 ราย 7.เกาะดินแดง อนุสาวรีย์ชัย ตั้งแต่เชิงสะพานพหลโยธิน ถึงเชิงสะพานข้ามคลองสามเสน ช่วงเวลาทำการค้า 06.00 -22.00 น. ผู้ค้า 22 ราย 8.กรมปศุสัตว์ ตั้งแต่หน้าไปรษณีย์ ถึงทางเข้าธนาคารกรุงศรีอยุธยา ช่วงเวลาทำการค้า 05.00 – 17.00 น. ผู้ค้า 10 ราย 9.หน้าคิวคอนโด ถนนเพชรบุรี ช่วงเวลาทำการค้า 05.00-17.00 น. ผู้ค้า 7 ราย 10.MRT เพชรบุรี ตั้งแต่ข้างสถานีรถไฟฟ้า MRT ถึงท่าเรืออโศก ช่วงเวลาทำการค้า 05.00-17.00 น. ผู้ค้า 24 ราย และ MRT เพชรบุรี (กลางคืน) ตั้งแต่ MRT ประตู 2 ถึง MRT ประตู 3 ช่วงเวลาทำการค้า 17.00-22.00 น. ผู้ค้า 10 ราย 11.ถนนราชปรารถ ตั้งแต่ซอยราชปรารภ 8 ถึงแยกประตูน้ำ ช่วงเวลาทำการค้า 05.00-17.00 น. ผู้ค้า 30 ราย 12.แยกมิตรสัมพันธ์ ตั้งแต่แยกมิตรสัมพันธ์ ถึงสะพานข้ามคลองแสนแสบ ช่วงเวลาทำการค้า 05.00-17.00 น. ผู้ค้า 14 ราย และแยกมิตรสัมพันธ์ (กลางคืน) ตั้งแต่ปากทางเข้าชุมชนโรงเจ ถึงหน้าอู่ศรีไพรแอร์ ช่วงเวลาทำการค้า 17.00-22.00 น. ผู้ค้า 10 ราย 13.ถนนบรรทัดทอง (กลางคืน) ตั้งแต่แยกซอยพญานาค ถึงสะพานเจริญผล ช่วงเวลาทำการค้า 17.00-22.00 น. ผู้ค้า 16 ราย 14.หน้าอาคารเอเวอร์กรีน (กลางคืน) ตั้งแต่หน้าอาคารเอเวอร์กรีน ถึงแยกราชเทวี ช่วงเวลาทำการค้า 17.00-22.00 น. ผู้ค้า 20 ราย 15.หน้าโรงเรียนเซนต์ดอมินิค (กลางคืน) ตั้งแต่ประตู 4 โรงเรียนเซนต์ดอมินิค ถึงอาคาร RASA TWO ช่วงเวลาทำการค้า 17.00-22.00 น. ผู้ค้า 6 ราย 16.ซอยเพชรบุรี 39-41 (กลางคืน) ตั้งแต่ปากซอยเพชรบุรี 39 ถึงสนามฟุตบอล GREEN PARK ช่วงเวลาทำการค้า 17.00-22.00 น. ผู้ค้า 5 ราย และ 17.ราชปรารภ 8 (กลางคืน) ตั้งแต่ร้านอินเดียฟู๊ดส์ ถึงหน้าอพาร์ทเม้นท์ ช่วงเวลาทำการค้า 17.00-22.00 น. ผู้ค้า 12 ราย
ในการลงพื้นที่วันนี้มี นายศุภกฤต บุญขันธ์ ผู้อำนวยการสำนักเทศกิจ นายกรณิศ บัวจันทร์ ผู้อำนวยการเขตราชเทวี พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่เขตราชเทวี สำนักสิ่งแวดล้อม สำนักเทศกิจ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่และให้ข้อมูล
#สิ่งแวดล้อมดี #สุขภาพดี #บริหารจัดการดี #เศรษฐกิจดี
—– (จิรัฐคม…สปส.รายงาน)