ในการประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมสามัญ สมัยที่สาม (ครั้งที่ 2) ประจำปีพุทธศักราช 2566 วันนี้ (13 ก.ค.66) : นายสุทธิชัย วีรกุลสุนทร ส.ก.เขตจอมทอง เสนอญัตติขอให้กรุงเทพมหานครพิจารณาแก้ไขปัญหาการทิ้งขยะในที่รกร้างว่างเปล่า และนางกนกนุช กลิ่นสังข์ ส.ก.เขตดอนเมือง เสนอญัตติขอให้กรุงเทพมหานครบริหารจัดการระบบการจัดเก็บมูลฝอยให้มีประสิทธิภาพ ซึ่งสภากรุงเทพมหานครมีมติเห็นชอบให้ส.ก.ร่วมอภิปราย 2 ญัตติ ในคราวเดียวกัน
ส.ก.สุทธิชัย กล่าวว่า เนื่องจากปัญหาการลักลอบทิ้งขยะในที่รกร้างว่างเปล่าเป็นปัญหาที่พบมากในกรุงเทพมหานครโดยเฉพาะในพื้นที่เขตรอบนอก ก่อให้เกิดปัญหาสภาพแวดล้อมเสื่อมโทรม สกปรก ไม่เป็นระเบียบเรียบร้อย กลายเป็นแหล่งเพาะเชื้อโรค และเป็นสาเหตุการเกิดอัคคีภัยได้ ถึงแม้จะมีการกำหนดบทลงโทษผู้ที่ลักลอบทิ้งขยะและเจ้าของที่ดินไว้ ตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 และพระราชบัญญัติรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. 2535 แต่ยังคงมีผู้กระทำผิดอยู่ ดังนั้น เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาดังกล่าว กรุงเทพมหานครควรให้สำนักงานเขตประสานกับเจ้าของที่ดินแปลงที่รกร้างว่างเปล่าไม่ได้ใช้ประโยชน์และยินยอมให้สำนักงานเขตนำมาใช้เป็นที่พักขยะรอการจัดเก็บ โดยให้มีการบริหารจัดการที่ดีกำหนดเวลาจัดเก็บขยะที่ชัดเจน ทำให้สะดวกต่อการจัดเก็บ ทำความสะอาดง่าย ไม่ให้เกิดกลิ่นเหม็นและเป็นแหล่งเพาะพันธุ์พาหะนำโรค รวมทั้งยังเป็นการป้องกันการเกิดอัคคีภัย ทั้งนี้ กรุงเทพมหานครอาจให้ประโยชน์ตอบแทนแก่เจ้าของที่ดินด้วยการยกเว้นการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง หรือประโยชน์อื่นที่เหมาะสม เป็นการจูงใจในการแก้ไขปัญหากับกรุงเทพมหานคร
ส.ก.กนกนุช กล่าวว่า เนื่องจากปัจจุบันการจัดการมูลฝอยเป็นปัญหาใหญ่ของกรุงเทพมหานคร โดยในปีงบประมาณพ.ศ. 2565 ระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2564 – 30 กันยายน 2565 กรุงเทพมหานครจัดเก็บมูลฝอย จำนวน 3.27 ล้านตัน หรือเฉลี่ยเป็น 8,979 ตันต่อวัน และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นโดยเฉพาะในพื้นที่เขตรอบนอก เป็นผลจากจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้น ชุมชนเมืองมีการขยายตัว การท่องเที่ยวและปริมาณการบริโภคที่เพิ่มขึ้น ปริมาณมูลฝอยที่มากมายทำให้เกิดปัญหามูลฝอยตกค้างในพื้นที่ ซึ่งเกิดจากกระบวนการเก็บขนมูลฝอยขาดการบริหารจัดการที่ดี อาทิ เจ้าหน้าที่เก็บขนมูลฝอยและพนักงานขับรถเก็บขนมูลฝอยไม่เพียงพอ รถเก็บขนมูลฝอยไม่สามารถเข้าถึงพื้นที่ รอบเวลาเก็บขนมูลฝอยไม่สอดคล้องกับปริมาณมูลฝอย รวมถึงไม่มีพื้นที่หรือจุดรับทิ้งมูลฝอยรอการเก็บ ดังนั้น เพื่อให้การจัดเก็บมูลฝอยมีประสิทธิภาพ ไม่เกิดมลพิษจากมูลฝอยตกค้าง และไม่มีแหล่งเพาะเชื้อโรคหรือพาหะที่ส่งผลต่อสุขภาพของประชาชน กรุงเทพมหานครควรมีการวางแผนด้านบุคลากรด้วยการเพิ่มสวัสดิการและค่าตอบแทนให้เหมาะสมกับภาระงานที่หนักและอันตราย ควรจัดหาวัสดุอุปกรณ์ให้ตรงกับการใช้งาน มีการวางแผนทั้งในเรื่องเส้นทาง ความถี่ และเวลาในการจัดเก็บ จัดหารถเก็บขนมูลฝอยที่มีขนาดเหมาะสมกับพื้นที่ และจัดหาพื้นที่หรือจุดทิ้งมูลฝอยรอการจัดเก็บให้เพียงพอ
ทั้งนี้สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร ได้อภิปรายสนับสนุนญัตติในหลายประเด็น อาทิ การปรับปรุงที่รกร้างนอกจากจะแก้ปัญหาการทิ้งขยะได้แล้วยังสามารถทำเป็นสวน 15 นาทีได้ด้วย การเตรียมพร้อมรับขยะที่เพิ่มขึ้น ต้องเพิ่มอุปกรณ์และบุคลากรในการจัดเก็บให้สอดคล้องกัน การอบรมให้ความรู้เรื่องขยะต้องเริ่มตั้งแต่เด็กเล็ก การกำหนดจุดพักขยะสำหรับหมู่บ้านขนาดใหญ่ เพื่อแก้ไขปัญหาให้เป็นระบบและเป็นรูปธรรม การแก้ปัญหาขยะที่มาจากการก่อสร้าง รวมถึงการให้รางวัลนำจับผู้ทิ้งขยะในที่รกร้างจะเป็นแรงจูงใจให้มีผู้แจ้งมากขึ้น
ประกอบด้วย นายสมชาย เต็มไพบูลย์กุล ส.ก.เขตคลองสาน นายณรงค์ รัสมี ส.ก.เขตหนองจอก นางสาวรัตติกาล แก้วเกิดมี ส.ก.เขตสายไหม นายนริสสร แสงแก้ว ส.ก.เขตบางเขน นายธนวัฒน์ เชิดชูกิจกุล ส.ก.เขตประเวศ และนายณรงค์ศักดิ์ ม่วงศิริ ส.ก.เขตบางบอน
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ขยะเป็นหนึ่งในไม่กี่เรื่องที่ผู้บริหารต้องรับผิดชอบ 100% และเรายังทำได้ไม่ดีพอ ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์หลักที่เราทำอยู่ และต้องใช้ทรัพยากรให้ดีกว่านี้ หากดูที่สถานการณ์ปริมาณขยะในกรุงเทพมหานครที่ผ่านมา พบว่าปริมาณขยะลดลงในทุกปี แต่ขยะจะไปเพิ่มในบางเขต จากกรุงเทพฯชั้นในไปกรุงเทพฯชั้นนอก จากการดำเนินนโยบายทีผ่านมาทั้ง Zero waste การแยกขยะ ขยะลดลงอย่างต่อเนื่อง ภาพรวมคิดว่ามาถูกทางแล้ว การใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ กทม.มีพนักงานเก็บขนมูลฝอยถึง 7,675 คน และพนักงานรถเก็บขนมูลฝอย 2,735 คน สิ่งที่ต้องทำคือการเพิ่มประสิทธิภาพของคนเหล่านี้ เรื่องการบริหารจัดการ และการจัด Routing เป้าหมายคือทุกจุดในกทม. ต้องเก็บขยะอย่างน้อยอาทิตย์ละ 2 ครั้ง และเป็นนโยบายที่มอบให้ทุกเขตต้องทำให้ได้
แนวทางการจัดเก็บขยะคือถนนสายหลัก ถนนสายรองต้องจัดเก็บทุกวัน ถนนซอย ตรอก ชุมชน หมู่บ้านต้องจัดเก็บ 2-3 ครั้ง/สัปดาห์ และอาคารสถานที่ที่มีที่พักขยะต้องจัดเก็บ 2-3 ครั้ง/สัปดาห์ อาจต้องใช้เวลาในการปรับแต่ต้องให้สัญญากับประชาชนให้ได้ เมื่อได้คุยกับพนักงานพบว่าบางคนอยากได้โอที หากเราโอทีเพิ่มเค้าก็จะสามารถเพิ่มรอบการจัดเก็บ อุดช่องโหว่ได้ ในขณะเดียวกันประชาชนต้องช่วยในเรื่องการแยกขยะและการทำ Zero Waste ด้วย
“ตามหลักกฎหมายแล้วหมู่บ้านจัดสรรที่เกิดหลังปี 42 กทม.จะจัดเก็บขยะที่จุดพักเท่านั้น โดยกำหนดระยะเวลาและแจ้งให้ทราบ เมื่อนิติบุคคลไปยื่นขอใบอนุญาตหมู่บ้านจัดสรรเราก็จะแจ้งให้ทราบ ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องทำความเข้าใจและบังคับใช้กฎหมายให้เข้มงวด และติดตามความถี่ของรถจาก GPS รถขยะเพื่อนำข้อมูลมาบริหารจัดการให้ดีขึ้น เชื่อว่าไม่เกิน 3 เดือนต้องเห็นผล ในระยะยาวทุกจุดต้องเก็บให้ได้ 2 ครั้งต่อสัปดาห์” ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าว
นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า เรื่องการแก้ไขปัญหาในที่รกร้างว่างเปล่าในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมากทม.ได้ดำเนินการสำรวจจุดทิ้งขยะริมทางในที่สาธารณะและที่ส่วนบุคคลไปแล้ว 445 แห่ง กทม.มีกฎหมายที่เกี่ยวข้อง 7 ฉบับ และได้พยายามนำมาใช้ด้วยการพูดคุยกับเจ้าของที่ดินเพื่อหาความร่วมมือ และการให้เจ้าของที่ดินแก้ไขปัญหาเองภายใต้กฎหมายที่กำหนด ซึ่งกทม.ได้รวบรวมแนวทางปฏิบัติของกฎหมายแต่ละฉบับเพื่อให้เขตนำไปใช้ แก้ไขปัญหา และสำนักสิ่งแวดล้อมได้ช่วยดำเนินการเบื้องต้นโดยกำหนดแผนเข้าไปช่วยเขตที่อยู่ในพื้นที่ตะวันออก ส่วนเรื่องการจัดการขยะท่านผู้ว่าฯได้มีนโยบายให้สำนักสิ่งแวดล้อมและเขตเข้าไปดูแลร่วมกัน