(13 ก.ค.66) นายวิรัตน์ มีนชัยนันท์ ประธานสภากรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมสภากรุงเทพมหานครสมัยประชุมสามัญ สมัยที่สาม (ครั้งที่ 2) ประจำปีพุทธศักราช 2566 โดยมี สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร คณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม ณ ห้องประชุมสภากรุงเทพมหานคร อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ดินแดง
นายสุรจิตต์ พงษ์สิงห์วิทยา ส.ก.เขตลาดกระบัง เสนอญัตติขอให้กรุงเทพมหานครพิจารณาบริหารจัดการศึกษาสำหรับเด็กพิเศษในโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานครให้ครอบคลุม
เนื่องจากข้อมูลจากกรมสุขภาพจิต พบว่าในกลุ่มนักเรียนอายุระหว่าง 6-15 ปี ที่มีปัญหาผลการเรียนไม่ดี เรียนไม่ทันเพื่อน มักจะพบโรค คือ สมาธิสั้น ออทิสติก แอลดีหรือภาวะบกพร่องการเรียนรู้ และสติปัญญาบกพร่อง ซึ่งนักเรียนกลุ่มนี้ต้องได้รับการศึกษาพิเศษจากครูที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญ โดยปัจจุบันโรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานคร มีทั้งสิ้นจำนวน 437 โรงเรียน เปิดสอนการจัดการศึกษาพิเศษ (เรียนร่วม) จำนวน 158 โรงเรียน มีครูและบุคลากรการศึกษาพิเศษ จำนวน 362 คน มีนักเรียนที่มีความต้องการพิเศษ จำนวน 4,213 คน ซึ่งในความเป็นจริงอาจมีนักเรียนที่มีความต้องการพิเศษแต่ไม่มีโรงเรียนที่จัดการศึกษาพิเศษอยู่ใกล้บ้าน หรือไม่ได้รับการประเมินอาการเบื้องต้น ต้องเข้าเรียนในโรงเรียนที่ไม่มีการจัดการศึกษาพิเศษ ทำให้พัฒนาการแย่ลง มีปัญหาความบกพร่องมากขึ้น กรุงเทพมหานครจึงควรมีการคัดกรองนักเรียนทั้งหมดใน 437 โรงเรียน หากพบผู้เป็นกลุ่มเสี่ยง จะต้องเข้าสู่กระบวนการรักษา รวมทั้งเพิ่มบุคลากรการศึกษาพิเศษให้มีทุกโรงเรียน เพื่อไม่เป็นภาระด้านค่าใช้จ่ายของผู้ปกครอง และให้นักเรียนที่มีความต้องการพิเศษสามารถพึ่งพาตนเองและอยู่ร่วมกับสังคมได้ ดังนั้น จึงขอให้กรุงเทพมหานครพิจารณาบริหารจัดการการศึกษาสำหรับเด็กพิเศษในโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานครให้ครอบคลุม
“หลักเกณฑ์การขอเปิดสอนเรียนร่วมของโรงเรียนคือต้องมีเด็กพิเศษไม่น้อยกว่า 6 คน และเด็กเหล่านั้นต้องมีบัตรพิการถึงจะสามารถเปิดโรงเรียนเป็นโรงเรียนเรียนร่วมได้ โดยครูผู้ปฏิบัติหน้าที่สอนจะต้องมีจำนวน ครู 1 คน ต่อนักเรียน 6 คน ในกทม.เปิดสอนเรียนร่วมเพียง 158 แห่ง หรือ 36% ในขณะที่นักเรียนพิเศษมีมากถึง 4,213 คน และพบว่ายังต้องการครูเพิ่มอีก 340 คน เพื่อให้เป็นไปตามหลักการปฏิบัติงาน ยกตัวอย่างโรงเรียนแห่งหนึ่งมีเด็กพิเศษ 20 คน แต่ไม่สามารถเป็นโรงเรียนเรียนร่วมได้ เนื่องจากเด็กไม่มีบัตรผู้พิการตามเงื่อนไข และผู้ปกครองที่ต้องหาเช้ากินค่ำ ประกอบกับข้อจำกัดการตรวจของสถานพยาบาลที่สามารถให้บริการได้วันละ 2 คนต่อวัน เป็นปัญหาสำคัญที่ปล่อยปละละเลยมานาน จึงเสนอวิธีการแก้ไขปัญหา ดังนี้ 1.เด็กระดับอนุบาล อนามัยต้องตรวจเชิงรุกในกลุ่มเสี่ยง ซึ่งต้องได้รับความยินยอมจากผู้ปกครอง 2.ระดับชั้นประถมขึ้นไป ให้โรงพยาบาลสังกัดกรุงเทพมหานครหรือสถาบันราชานุกูลตรวจเชิงรุก เพื่อคัดกลุ่มเด็กที่คาดว่าบกพร่อง โดยผ่านความยินยอมจากผู้ปกครอง และ 3.ต้องเพิ่มจำนวนโรงเรียนและบุคลากรเพื่อรองรับเด็กที่มีความบกพร่อง โดยประสานมหาวิทยาลัยที่เป็นโรงเรียนแพทย์มาทำเป็นต้นแบบ โดยอาจเริ่มที่ลาดกระบัง ให้เป็นลาดกระบังโมเดล” ส.ก.สุรจิตต์ กล่าว
สมาชิกสภากรุงเทพมหานครได้ร่วมอภิปรายเพื่อสนับสนุนญัตตินี้ ในประเด็นเมื่ออนุมัติให้มีการเรียนการสอนแล้ว กรุงเทพมหานครควรเตรียมแผนรองรับเพื่อให้สามารถดูแลเด็กพิเศษได้เต็มที่ และควรดูแลอัตราค่าตอบแทนของครูให้พิเศษด้วยเพื่อเป็นขวัญกำลังใจให้ครู การหาเทคโนโลยีมาช่วยเพื่อให้เด็กได้รับความรู้เหมือนมีครู การผลักดันให้มีครูเด็กพิเศษทุกโรงเรียนเพื่อให้เด็กพิเศษสามารถเข้าเรียนที่ไหนก็ได้
ประกอบด้วย นางกนกนุช กลิ่นสังข์ ส.ก.เขตดอนเมือง นางเมธาวี ธารดำรง ส.ก.เขตปทุมวัน นางสาวรัตติกาล แก้วเกิดมี ส.ก.เขตสายไหม นายวิรัช คงคาเขตร ส.ก.เขตบางกอกใหญ่ นายพีรพล กนกวลัย ส.ก.เขตพญาไท และนางสาวนิภาพรรณ จึงเลิศศิริ ส.ก.เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย
นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า หากดูจากตัวเลข จำนวนเด็กพิเศษมีสัดส่วนเด็กที่เรียนรู้ช้ามากที่สุด 1,553 คน ซึ่งเด็กประเภทนี้อาจเกิดจากการเรียนรู้ตอนเด็ก ไม่ได้เกิดปัญหาตั้งแต่ในครรภ์ ฝ่ายบริหารจึงมีนโยบายในการพัฒนาเด็กเล็กให้มากที่สุด โดยหาวิธีให้เรารับเด็กเข้าระบบการศึกษาให้เร็วขึ้น ซึ่งจะเริ่มในปีการศึกษาหน้า อย่างไรก็ตามในความจริงมีผู้ปกครองจำนวนมากไม่ยอมรับว่าลูกเป็นเด็กพิเศษทำให้เด็กได้รับการดูแลช้า จึงมีนโยบายในการคัดกรองให้เร็วมากขึ้นด้วย
จำนวนของครูการศึกษาพิเศษ เดิมใช้อัตราส่วน ครู 1 คน ต่อเด็กพิเศษ 10 คน แต่ปัจจุบันปรับเป็น ครู 1 คน ต่อเด็กพิเศษ 6 คน เพื่อให้ครูดูแลเด็กได้ละเอียดมากขึ้น ที่ผ่านมากทม.ได้ดำเนินการทั้งการเพิ่มจำนวนโรงเรียนและพัฒนาความพร้อม และกรุงเทพมหานครได้มอบเงินอุดหนุนพิเศษให้ครูเพิ่มอีกรายละ 2,000 บาท แต่เนื่องจากครูที่จบด้านนี้มามีจำนวนน้อยมาก จึงทำให้ครูไม่มีวุฒิโดยตรง กรุงเทพมหานครจึงแก้ปัญหาด้วยการจัดอบรม เพื่อให้ครูมีความรู้และเมื่อปฏิบัติหน้าที่จะได้รับค่าตอบแทนพิเศษมากขึ้นด้วย
ในส่วนของการพัฒนาสิ่งแวดล้อมการศึกษาที่เดิมพึ่งพิงครูมาก ปัจจุบันได้นำเทคโนโลยีเข้ามาเพื่อช่วยเหลือครู โดยนำร่อง Active Learning ในโรงเรียนไทยนิยมสงเคราะห์ เขตบางเขน ทดลองในห้องเรียนที่มีเด็กพิเศษ โดยเรียนร่วมกันกับเด็กปกติ ทำให้ภาระครูน้อยลง เด็กได้เรียนร่วมกันมากขึ้น ทั้งนี้มีแผนขยายอีก 11 โรงเรียน และปีต่อไปอีก 100 โรงเรียน รวมถึงในปีงบประมาณต่อไปจะจัดสรรงบกว่า 300 ล้านเพื่อปรับปรุงกายภาพโรงเรียนอีกหลายแห่ง
“เรื่องสิทธิเด็กก็เป็นเรื่องสำคัญที่กทม.ให้ความสำคัญ และต้องมีการอบรมทั้งเด็กและบุคลากรที่เกี่ยวข้องทุกคน โดยกรุงเทพมหานครได้ออกประกาศเรื่องสิทธิเด็กไปแล้วตั้งแต่พ.ย.65 และยังมีการอบรมอย่างต่อเนื่องเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาการ Bully ในห้องเรียน” รองผู้ว่าฯ ศานนท์ กล่าว