กทม.เตรียมพร้อมเฝ้าระวังโรคฝีดาษลิงในกรุงเทพฯ เปิดศูนย์ปฏิบัติการควบคุมโรคอุบัติใหม่ รพ.สิรินธร
นายสุนทร สุนทรชาติ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย (สนอ.) กทม.กล่าวถึงความคืบหน้าการประสานความร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในการสอบสวนควบคุมโรคฝีดาษลิงในพื้นที่กรุงเทพฯ ว่า กรุงเทพมหานคร โดย สนอ.ร่วมกับสำนักงานเขตที่เกี่ยวข้องได้ประสานความร่วมมือกับสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง (สปคม.) กองระบาดวิทยา สธ.สอบสวนควบคุมโรคฝีดาษลิงในกรุงเทพฯ รายใหม่ 3 ราย ในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา โดยเก็บตัวอย่าง Oropharyngeal swab ผู้สัมผัสเสี่ยงสูง (ผลไม่พบเชื้อ) และติดตามทุก 7 วัน เป็นเวลา 21 วัน หากพบว่า มีอาการเข้าได้กับโรคให้รีบแจ้งศูนย์บริการสาธารณสุข กทม.ทราบทันที รวมทั้งเก็บตัวอย่างส่งตรวจพื้นผิวสัมผัส เพื่อตรวจหาเชื้อโรคฝีดาษลิง ให้สุขศึกษาในการเฝ้าระวังและป้องกันโรค แนะนำวิธีการทำความสะอาดฆ่าเชื้อบริเวณสถานประกอบการและจัดทำบอร์ดประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เกี่ยวกับโรคฝีดาษลิงและการป้องกันตนเองแก่ผู้ใช้บริการ ขณะเดียวกันได้แจ้งสถานพยาบาลสังกัด กทม.และสำนักงานเขตให้เตรียมความพร้อมแนวทางเฝ้าระวังป้องกันโรคฝีดาษลิง อีกทั้งแจ้งเครือข่ายองค์กรภาคประชาสังคมที่ดูแลเรื่อง LGBTQ ให้ประชาสัมพันธ์กลุ่มเป้าหมายด้วยอีกทางหนึ่ง พร้อมเน้นย้ำแนวทางส่งเสริมความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง โดยให้ประชาชนหลีกเลี่ยงการใกล้ชิดผู้ติดเชื้อและผู้ที่มีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อ สวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง และหมั่นล้างมือบ่อย ๆ งดมีเพศสัมพันธ์และหลีกเลี่ยงการสัมผัสแนบชิดกับผู้ที่มีอาการไข้ และมีผื่น ตุ่มน้ำ ตุ่มหนองบริเวณร่างกาย งดการมีเพศสัมพันธ์ หรือสัมผัสใกล้ชิดกับคนแปลกหน้า หรือไม่ทราบประวัติมาก่อน
นางเลิศลักษณ์ ลีลาเรืองแสง ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ (สนพ.) กทม.กล่าวว่า ได้สั่งการให้ทุก รพ.ในสังกัด กทม.เฝ้าระวังคนไข้ทั้งห้องฉุกเฉิน (ER) และผู้ป่วยนอก (OPD) รวมถึง รพ.ที่มีคลินิกเฉพาะทาง เช่น คลินิกโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ คลินิกโรคผิวหนัง รวมทั้งมอบหมาย รพ.สิรินธร เปิดศูนย์ปฏิบัติการควบคุมโรคอุบัติใหม่ เพื่อเฝ้าติดตามข้อมูลควบคุมดูแลสถานการณ์โรคฝีดาษลิงอย่างใกล้ชิด หากพบผู้ป่วยที่อาการต้องสงสัยให้แยกกักตัวและแจ้งให้ผู้บริหาร กทม.และ สธ.ทราบทันที หากพบผู้ป่วยให้แยกผู้ป่วยที่ติดเชื้อออกจากผู้อื่น อย่างไรก็ตาม แม้การฉีดวัคซีนป้องกันไข้ทรพิษจะช่วยลดความเสี่ยงการติดเชื้อดังกล่าวได้ แต่การฉีดวัคซีนดังกล่าวควรทำเฉพาะในบุคคลที่ต้องทำงานมีความเสี่ยง หรือใกล้ชิดกับคน หรือสัตว์ที่ติดเชื้อเท่านั้น และวัคซีนยังสามารถรับได้ภายหลังการได้รับเชื้อไม่เกิน 14 วัน หากมีอาการเจ็บป่วยให้รีบพบแพทย์ทันทีและแยกกักตัว เพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ หรือสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนสุขภาพ สำนักการแพทย์ กทม. โทร.1646 ตลอด 24 ชั่วโมง
นอกจากนี้ ขอให้ประชาชนติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิด หากต้องเดินทางไปยังประเทศที่พบผู้ป่วยฝีดาษลิง ควรระมัดระวังหลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์พาหะ และหลังจากเดินทางกลับจากประเทศที่มีการระบาด ขอให้สังเกตอาการ เนื่องจากโรคนี้เกิดจากการสัมผัสใกล้ชิด ไม่ได้ติดต่อกันได้ง่าย ๆ มาตรการที่ใช้ป้องกันโรคโควิด 19 ยังใช้ป้องกันโรคฝีดาษลิงได้ หากพบความผิดปกติ เช่น มีไข้ มีตุ่มผื่นที่ใบหน้า แขน และขา ให้รีบพบแพทย์ทันที รวมทั้งปฏิบัติตามมาตรการ Universal Prevention หมั่นล้างมือด้วยสบู่ หรือเจลแอลกอฮอล์บ่อย ๆ เว้นระยะห่าง ไม่คลุกคลีกับผู้ป่วย หรือผู้มีตุ่มน้ำ ตุ่มหนอง สำหรับกลุ่มชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชายและมีคู่นอนหลายคน สามารถเข้ารับคำปรึกษาได้ที่คลินิกสุขภาพเพศหลากหลาย กรุงเทพมหานคร (BKK Pride Clinic) ใน รพ.สังกัด กทม. 5 แห่ง ประกอบด้วย รพ.กลาง โทร.02 220 8000 ต่อ 10350 รพ.ตากสิน โทร.02 4370 123 ต่อ 1136, 1140 รพ.เจริญกรุงประชารักษ์ โทร.02 2897 890 รพ.ราชพิพัฒน์ โทร.02 102 4222 หรือ 02 421 2222 และ รพ.สิรินธร โทร.02 3286 900 – 15 ต่อ 10268, 10269
กทม.เตรียมพร้อมระบบระบายน้ำ ตรวจสอบความแข็งแรงต้นไม้ – ป้ายขนาดใหญ่ ป้องกันผลกระทบพายุฤดูร้อน
นายสุราษฎร์ เจริญชัยสกุล ผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ (สนน.) กทม.กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมรองรับสถานการณ์จากอิทธิพลของพายุฤดูร้อนที่อาจส่งผลกระทบต่อพื้นที่กรุงเทพฯ ว่า สนน.ได้จัดเจ้าหน้าที่พร้อมปฏิบัติการตลอด 24 ชั่วโมง โดยมีเจ้าหน้าที่ศูนย์ควบคุมระบบป้องกันน้ำท่วม ติดตาม ตรวจสอบ เฝ้าระวังสภาพอากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยา ตรวจสอบติดตามกลุ่มฝนด้วยเรดาร์ตรวจอากาศของ กทม.เจ้าหน้าที่หน่วยปฏิบัติการเร่งด่วนเคลื่อนที่ (BEST) เข้าพื้นที่ขณะฝนเริ่มตก เพื่อตรวจสอบพร้อมเร่งระบายน้ำในจุดที่ประสบปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่จุดเสี่ยง จุดเฝ้าระวัง รวมถึงบริเวณอุโมงค์ทางลอดต่าง ๆ พร้อมทั้งความช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วม ขณะเดียวกันได้จัดเจ้าหน้าที่ควบคุมสถานีสูบน้ำ อุโมงค์ระบายน้ำและบ่อสูบน้ำ เตรียมพร้อมระบบระบายน้ำ เร่งขุดลอกท่อระบายน้ำ คูคลอง พร้อมเปิดทางน้ำไหล และจัดเก็บขยะวัชพืชกีดขวางทางน้ำ เร่งลดระดับน้ำในคูคลอง บ่อสูบน้ำและแก้มลิงให้อยู่ในระดับต่ำตามแผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วม เตรียมพร้อมเครื่องจักรและเครื่องกำเนิดไฟฟ้าสำรองประจำสถานีสูบน้ำกรณีไฟฟ้าขัดข้อง เครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่ (โมบายยูนิต) รถเครน รถบรรทุกติดตั้งเครนยกไฮโดรลิค บอลลูนไลท์ เครื่องมือและอุปกรณ์ต่าง ๆ ติดตั้งและตรวจสอบแก้ไขเครื่องสูบน้ำ เครื่องผลักดันน้ำ จัดเตรียมน้ำมันเชื้อเพลิงให้เพียงพอสำหรับเครื่องสูบน้ำและเครื่องจักรกลที่ติดตั้งใช้งานในพื้นที่จุดเสี่ยงและจุดเฝ้าระวังน้ำท่วม ทั้งนี้ สามารถแจ้งเหตุปัญหาน้ำท่วมขังในพื้นที่กรุงเทพฯ ได้ที่สายด่วน 1555 ศูนย์ควบคุมระบบป้องกันน้ำท่วม โทร.02 248 5115 ตลอด 24 ชั่วโมง
นายประพาส เหลืองศิรินภา ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม (สสล.) กทม.กล่าวว่า สสล.ได้แจ้งเตือนหน่วยงานที่รับผิดชอบดูแลต้นไม้ใหญ่ทั้งบริเวณถนนสายหลัก สายรอง สวนสาธารณะ และพื้นที่สีเขียวที่มีต้นไม้ใหญ่ รวมถึงสำนักงานเขตทั้ง 50 เขต ให้ตรวจตราต้นไม้ใหญ่ในความรับผิดชอบ โดยเฉพาะต้นไม้ใหญ่ที่อยู่ใกล้บ้านเรือนประชาชน หรือเส้นทางสัญจร ให้ประเมินความเสี่ยงและตัดแต่ง สางโปร่งทรงพุ่มที่หนาทึบ ตัดแต่งกิ่งผุ กิ่งที่เสี่ยงหัก ตามหลักรุกขกรรม หากสำรวจพบต้นเอนเอียงให้เร่งดำเนินการค้ำยัน ขณะเดียวกันได้จัดเตรียมหน่วยเร่งด่วนฉุกเฉิน 24 ชั่วโมง พร้อมยานพาหนะและเครื่องมือ เพื่อแก้ไขหากมีเหตุต้นไม้โค่นล่มกีดขวางทางจราจร หรือทำความเสียหายแก่บ้านเรือนประชาชน นอกจากนั้น ได้ขอความร่วมมือประชาชนร่วมตรวจสอบสภาพต้นไม้ กิ่งไม้ในพื้นที่ส่วนบุคคล รวมถึงพื้นที่สาธารณะ หากพบต้นไม้อยู่ในสภาพเสี่ยงที่จะหักโค่นล้ม หรือพบเห็นต้นไม้โค่นล้ม หรือเสี่ยงที่จะโค่นล้ม สามารถแจ้งได้ที่ สำนักงานเขตพื้นที่ หรือสายด่วน กทม.โทร.1555 หรือแจ้งผ่านระบบ Traffy Fondue เพื่อให้เจ้าหน้าที่เข้าไปตัดแต่งต้นไม้ กิ่งไม้ รวมถึงเก็บกวาดกิ่งไม้ หรือต้นไม้ที่หักโค่นกีดขวางในที่สาธารณะ
นายธวัชชัย นภาศักดิ์ศรี ผู้อำนวยการสำนักการโยธา (สนย.) กทม.กล่าวว่า สนย.ได้ประสานเจ้าของอาคารตรวจสอบป้ายโฆษณาขนาดใหญ่ในพื้นที่กรุงเทพฯ เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากเหตุพายุฤดูร้อน หากเป็นป้ายที่ได้ก่อสร้างแล้วเสร็จเกินหนึ่งปี เจ้าของป้ายต้องจัดให้มีผู้ตรวจสอบ ตามมาตรา 32 ทวิ แห่งพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 ประกอบกฎกระทรวงกำหนดคุณสมบัติเฉพาะของผู้ตรวจสอบ หลักเกณฑ์การขอขึ้นทะเบียนและการเพิกถอนการขึ้นทะเบียนเป็นผู้ตรวจสอบและหลักเกณฑ์การตรวจสอบอาคาร พ.ศ.2548 ขณะเดียวกันได้ประสานสำนักงานเขตทั้ง 50 เขต เตรียมป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากป้ายล้ม โดยกำชับเจ้าของป้ายโฆษณาให้ตรวจสอบการใช้งานและความมั่นคงแข็งแรงของป้าย หากเป็นป้ายถูกกฎหมาย แต่มีสภาพเก่า ชำรุด อันอาจก่อให้เกิดภยันตราย ต้องมีคำสั่งให้เจ้าของป้ายดำเนินการแก้ไข หรือให้รื้อถอน และดำเนินคดีกับเจ้าของป้ายที่ฝ่าฝืนกฎหมายอย่างเคร่งครัด และเร่งรัดการรื้อถอน รวมทั้งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนอยู่ห่างจากป้ายโฆษณาที่อาจล้ม หรือหักโค่นในขณะเกิดพายุฝนฟ้าคะนอง พร้อมจัดเตรียมเครื่องมือกล เพื่อป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยที่เกิดจากป้าย ส่วนป้ายหาเสียงของผู้สมัครรับเลือกตั้งบนถนนสายต่าง ๆ สนย.ได้ขอความร่วมมือสำนักงานเขตให้ตรวจสอบและควบคุมให้เป็นไปตามประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่อง หลักเกณฑ์ และวิธีการจัดทำ สถานที่ปิดประกาศเกี่ยวกับการเลือกตั้งและสถานที่ติดแผ่นป้ายเกี่ยวกับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
นายศุภกฤต บุญขันธ์ ผู้อำนวยการสำนักเทศกิจ (สนท.) กทม. กล่าวว่า สนท.ได้ติดตามสถานการณ์ฝนตกในพื้นที่กรุงเทพฯ อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วงที่มีฝนฟ้าคะนองและมีพายุตามที่กรมอุตุนิยมวิทยาแจ้งเตือน ทั้งในช่วงก่อนฝนตก ขณะฝนตก และหลังฝนตก โดยก่อนฝนตกจะจัดเจ้าหน้าที่ พร้อมยานพาหนะลงพื้นที่ตรวจสอบบริเวณถนนสายหลัก พื้นที่ชุมชนและพื้นที่จุดอ่อนน้ำท่วมขัง พื้นที่ที่มีการก่อสร้างรถไฟฟ้าและสาธารณูปโภค รวมทั้งกำชับเจ้าหน้าที่เทศกิจลงพื้นที่ตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงของป้ายโฆษณา ป้ายหาเสียงผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หากพบว่าป้ายไม่มั่นคงแข็งแรงให้ประสานเจ้าของป้ายดำเนินการแก้ไขให้มีความมั่นคงและแข็งแรงทันที เพื่อไม่ให้เกิดอันตรายกับประชาชน หากเป็นป้ายที่ติดตั้งโดยไม่ได้รับอนุญาตให้จับกุมดำเนินคดีตามกฎหมาย และเมื่อเกิดสถานการณ์ฝนตกหนัก มีน้ำท่วมขัง ได้ประสานจัดกำลังเจ้าหน้าที่เทศกิจทั้ง 50 เขต พร้อมยานพาหนะออกปฏิบัติหน้าที่ให้ความช่วยเหลืออำนวยความสะดวกด้านการจราจร พร้อมทั้งให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ประสบปัญหาน้ำท่วมขังให้ได้รับความสะดวกและปลอดภัยในพื้นที่
กทม.เปิดคลินิกมลพิษทางอากาศเพิ่มเป็น 8 แห่ง ดูแลประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากฝุ่น PM2.5
นางเลิศลักษณ์ ลีลาเรืองแสง ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ (สนพ.) กทม.กล่าวถึงการยกระดับการให้บริการประชาชนที่ได้รับผลกระทบทางสุขภาพจากปัญหาฝุ่น PM2.5 ว่า สนพ.ได้ขยายเวลาให้บริการคลินิกมลพิษทางอากาศเพิ่มเป็น 8 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาล (รพ.) กลาง โทร.02 220 8000 ต่อ 10811 (วันอังคารและวันศุกร์ เวลา 08.00 – 12.00 น.) รพ.ตากสิน โทร. 02 437 0123 ต่อ 1426 , 1430 (วันจันทร์-วันศุกร์ ยกเว้นวันพุธและวันหยุดราชการ เวลา 09.00 – 12.00 น.) รพ.เจริญกรุงประชารักษ์ โทร. 02 289 7225 (วันพุธ เวลา 13.00 – 15.00 น.) รพ.หลวงพ่อทวีศักดิ์ ชุตินฺธโร อุทิศ โทร.02 429 3576 ต่อ 8522 (วันพฤหัสบดี เวลา 08.00 – 12.00 น.) รพ.เวชการุณย์รัศมิ์ โทร.02 543 2090 หรือ 084 215 3278 (วันอังคาร เวลา 13.00 – 16.00 น.) รพ.ลาดกระบังกรุงเทพมหานคร โทร.02 326 9995 (วันจันทร์-วันศุกร์ เวลา 08.00 – 16.00 น.) รพ.ราชพิพัฒน์ โทร. 063 324 11216 หรือ 099 170 5879 (วันจันทร์-วันศุกร์ เวลา 08.00 – 16.00 น.) และ รพ.สิรินธร โทร.02 328 6901 ต่อ 11434 (วันอังคาร เวลา 13.00 – 16.00 น.) เพื่อให้คำปรึกษาแก่ประชาชนและให้บริการตรวจรักษาลดความรุนแรงของอาการที่เกิดจากฝุ่นละออง
ขณะเดียวกันได้บูรณาการความร่วมมือกับสำนักอนามัย สำนักงานเขต และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดเตรียมหน่วยแพทย์และสาธารณสุขเคลื่อนที่ในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากค่าฝุ่น PM2.5 ที่สูง จนมีผลกระทบต่อสุขภาพในช่วงที่สภาพอากาศเปลี่ยนแปลง เพื่อช่วยเหลือและให้ความรู้ประชาชน รวมทั้งจัดเตรียมยา เวชภัณฑ์ และหน้ากากอนามัย เพื่อแจกจ่ายให้ประชาชน พร้อมรายงานสถิติผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ฝุ่นละออง ติดตามสถานการณ์ฝุ่นละออง เพื่อปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ป่วยยามจำเป็นหากมีรายงานค่าฝุ่นในพื้นที่ระดับเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ โดยสถิติผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ฝุ่นละอองของ รพ.ในสังกัด ระหว่างวันที่ 6 – 23 มี.ค.66 มีผู้ป่วยเข้ารับบริการ 955 ราย พบว่า เป็นผู้ป่วยที่มีปัญหาโรคหลอดเลือดสมองสูงสุด จำนวน 386 ราย รองลงมาคือ ตาอักเสบ 192 ราย หอบหืด 135 ราย ระบบทางเดินหายใจ 124 ราย และปอดอุดกั้นเรื้อรัง 118 ราย
นอกจากนี้ สนพ.ขอแจ้งเตือนประชาชนกลุ่มเปราะบางที่มีความเสี่ยงสูง เช่น เด็กเล็ก หญิงตั้งครรภ์ ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ หอบหืด เยื่อบุตาอักเสบ หัวใจและหลอดเลือด รวมถึงผู้ที่ทำงานกลางแจ้งเป็นเวลานาน ควรเลี่ยงพื้นที่ฝุ่นสูง (สีแดง) หรือลดระยะเวลาออกนอกอาคารให้น้อยที่สุด หากจำเป็นต้องออกนอกอาคารให้สวมหน้ากากป้องกันฝุ่นและงดการทำกิจกรรม หรือออกกำลังกายกลางแจ้ง รวมทั้งปิดประตูหน้าต่างให้สนิท หรืออยู่ในห้องปลอดฝุ่นและสังเกตอาการตนเอง หากมีอาการไอ แน่นหน้าอก วิงเวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ผื่นแดง หรือมีอาการผิดปกติทางร่างกายอื่น ๆ ควรรีบพบแพทย์ทันที
กทม.ประสานกรมที่ดินรังวัดแนวเขตที่สาธารณะก่อนพิจารณาสร้างแนวเขื่อนจุดฟันหลอ
นายสัมฤทธิ์ สุมาลี ผู้อำนวยการเขตพระนคร กทม.กล่าวกรณีชุมชนท่าเตียนขอให้ กทม.เร่งอุดช่องว่างแนวเขื่อนริมเจ้าพระยา แก้ปัญหาน้ำเอ่อล้นเข้าท่วมพื้นที่ว่า สำนักงานเขตพระนครอยู่ระหว่างประสานกรมที่ดินรังวัดแนวเขตที่สาธารณะ เพื่อความชัดเจนในการดำเนินการต่าง ๆ โดยที่ผ่านมาได้สำรวจจุดฟันหลอ รวบรวมปัญหา และอุปสรรคแจ้งสำนักการระบายน้ำ กทม.เพื่อเป็นข้อมูลพิจารณาสร้างแนวเขื่อนป้องกันและได้ชี้แจงทำความเข้าใจกับผู้นำชุมชนถึงขั้นตอนการดำเนินงานเรียบร้อยแล้ว อย่างไรก็ตาม ในระหว่างที่การก่อสร้างแนวเขื่อนกั้นน้ำถาวรยังไม่แล้วเสร็จ สำนักงานเขตฯ ได้ร่วมกับสำนักการระบายน้ำ กทม.แก้ไขปัญหาความเดือดร้อนให้กับประชาชนชุมชนท่าเตียนที่ได้รับผลกระทบจากภัยน้ำท่วม โดยดูแลให้ความช่วยเหลือประชาชนที่อยู่บริเวณจุดฟันหลอ พร้อมทั้งจัดเรียงกระสอบทรายทำแนวกั้นน้ำชั่วคราวในช่วงสถานการณ์น้ำหลากและน้ำทะเลหนุน เพื่อลดผลกระทบจากระดับน้ำเอ่อล้นเข้าท่วมพื้นที่ หากประชาชนมีข้อสงสัย หรือประสงค์จะขอรับการสนับสนุนอื่นใดในช่วงฤดูน้ำหลาก สามารถติดต่อได้ที่ฝ่ายโยธา สำนักงานเขตพระนคร โทร.0 2281 8124 – 25, 0 2281 5370 ต่อ 6563 – 6564