ศูนย์เอราวัณแจงประสานอาสามูลนิธิให้ดูแลผู้ป่วยหลังรับแจ้งผ่านสายด่วน 1669
นางเลิศลักษณ์ ลีลาเรืองแสง ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ (สนพ.) กทม.กล่าวกรณีมีผู้ร้องเรียนโทรสายด่วน 1669 ให้มารับผู้ป่วยหนักโดยรอนานกว่า 5 ชั่วโมง จนผู้ป่วยเสียชีวิตว่า สนพ.ขอแสดงความเสียใจกับญาติและครอบครัวผู้เสียชีวิต โดยเบื้องต้นได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีดังกล่าว พบว่าเมื่อวันที่ 26 มี.ค.66 เวลา 07.11 น. มีผู้โทรแจ้งผ่านสายด่วน 1669 ให้รถพยาบาลมารับผู้ป่วยมีอาการอ่อนเพลีย ปวดศีรษะ ในห้องพักที่ซอยอิสรภาพ 29 ลัดออกซอยจรัญสนิทวงศ์ 12 ซึ่งเป็นซอยแคบมาก ผู้รับโทรศัพท์จึงให้เจ้าหน้าที่ศูนย์เอราวัณแจ้งผ่านไลน์ “อาสามูลนิธิ” เข้าไปดูแลผู้ป่วย ต่อมาเวลา 07.30 น. หมายเลขเดิมโทรมาตามรถ เจ้าหน้าที่ศูนย์เอราวัณจึงแจ้งว่า ได้ให้อาสามูลนิธิเข้าไปดูแล แต่ภายหลังสอบถามที่มูลนิธิแจ้งว่า ไม่มีการพิมพ์ตอบการปฏิเสธเคสในไลน์และการกดปฏิเสธการรับเคสในระบบก็ไม่ทันทีแบบ realtime ในเวลานั้นเจ้าหน้าที่ศูนย์เอราวัณจึงเข้าใจว่า มูลนิธิอยู่ระหว่างดำเนินการ จากนั้นเวลา 10.28 น. ญาติผู้ป่วยอีกคนโทรแจ้งขอรถพยาบาลเนื่องจากผู้ป่วยหมดสติ เมื่อเจ้าหน้าที่จะแนะนำวิธีการช่วยชีวิตขั้นพื้นฐาน (CPR) มีญาติแจ้งว่า ผู้ป่วยเสียชีวิตแล้วให้แจ้งตำรวจแทน และในเวลา 14.00 น. เจ้าหน้าที่ศูนย์เอราวัณได้ประสานญาติผู้เสียชีวิต เพื่อรวบรวมข้อมูลเบื้องต้นของเหตุการณ์ดังกล่าว
ทั้งนี้ การดำเนินการของศูนย์เอราวัณ ภายใต้หมายเลข 1669 ในภาวะปกติมีสายด่วนโทรเข้าศูนย์เอราวัณประมาณวันละ 2,500 สาย และต้องประสานส่งต่อผู้ป่วยประมาณ 200 – 300 ราย/วัน ศูนย์เอราวัณจึงจำเป็นต้องมีเครือข่ายช่วยให้บริการออกรับ – ส่งเคส เพื่อให้บริการประชาชนตลอด 24 ชั่วโมง โดยไม่มีวันหยุด ขณะเดียวกันศูนย์เอราวัณยังเป็นศูนย์กลางประสานความร่วมมือกับโรงพยาบาลภาครัฐ ภาคเอกชน มูลนิธิ และเครือข่ายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องในการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยในภาวะฉุกเฉินทุกประเภท รวมทั้งบริการรถพยาบาลฉุกเฉิน พร้อมทีมกู้ชีพในระดับต่าง ๆ เพื่อให้ความช่วยเหลือและลำเลียงผู้บาดเจ็บและผู้ป่วยไปยังสถานพยาบาลที่เหมาะสมตามระดับความรุนแรงของอาการผู้ป่วย จากกรณีดังกล่าวจึงจำเป็นต้องเพิ่มจุดบริการผู้ป่วยให้เพียงพอ ซึ่งต้องอาศัยทั้งทรัพยากรและบุคลากร รวมทั้งการพัฒนาระบบสารสนเทศและการสนับสนุนด้านงบประมาณ เพื่อให้สามารถประสานการรับแจ้งและให้บริการรับ – ส่งผู้ป่วยได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตาม สถานพยาบาลในสังกัด กทม.ได้จัดบริการรองรับประชาชนให้สามารถเข้าถึงบริการด้วยความสะดวก รวดเร็วและลดความแออัดในสถานพยาบาล เช่น การบริการรักษาทางไกลผ่านระบบ Telemedicine พัฒนาแอปพลิเคชัน “หมอ กทม.” ที่สามารถพบแพทย์ผ่าน Video Conference ร่วมกับระบบการรักษาพยาบาลปกติ นัดหมาย จองคิว ชำระค่าบริการ เรียกรถพยาบาลฉุกเฉิน และเปิดให้บริการ “สายด่วนสุขภาพสำนักการแพทย์ กทม. โทร.1646” ให้บริการคำปรึกษาปัญหาด้านสุขภาพ โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายตลอด 24 ชั่วโมง
กทม.เตรียมพร้อมช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากพายุฤดูร้อนถึง 29 มี.ค.นี้
นายธีรยุทธ ภูมิภักดิ์ ผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (สปภ.) กทม.กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมรองรับสถานการณ์จากอิทธิพลของพายุฤดูร้อนที่อาจส่งผลกระทบต่อพื้นที่กรุงเทพฯ ว่า สปภ.ได้เตรียมพร้อมเจ้าหน้าที่ดับเพลิงและกู้ภัย ยานพาหนะ และอุปกรณ์การกู้ภัยต่าง ๆ ตามแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2564 – 2570 เพื่อรองรับสถานการณ์จากอิทธิพลของพายุฤดูร้อนตั้งแต่บัดนี้จนถึงวันที่ 29 มี.ค.66 ขณะเดียวกันในช่วงต้นเดือน มี.ค.ที่ผ่านมาได้แจ้งสำนักงานเขตให้เร่งตรวจตราอาคารสถานที่ ป้ายโฆษณา สิ่งก่อสร้าง รวมถึงไม้ยืนต้นในพื้นที่สาธารณะที่มีสภาพไม่มั่นคงแข็งแรง เพื่อตรวจสอบซ่อมแซมตามอำนาจหน้าที่ พร้อมทั้งเชิญชวนประชาชนจิตอาสาร่วมสอดส่องดูแลและปรับปรุงให้เกิดความปลอดภัย หากเกิดเหตุพายุฤดูร้อน (วาตภัย) ที่ส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินในพื้นที่ใด ขอให้ผู้อำนวยการเขตเร่งสำรวจความเสียหายที่เกิดขึ้นและประสานการดำเนินการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยตามกฎ ระเบียบ และหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องโดยเร็ว รวมทั้งกรณีป้ายโฆษณา สิ่งก่อสร้าง ไม้ยืนต้น หรือโครงสร้างพื้นที่ฐาน โดยเฉพาะระบบไฟฟ้าได้รับความเสียหายให้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการแก้ไขไม่ให้กีดขวางพื้นที่สาธารณะและซ่อมแซมให้สามารถกลับมาใช้งานได้ตามปกติโดยเร็ว ทั้งนี้ หากประชาชนที่ประสบเหตุพายุฤดูร้อน (วาตภัย) หรือเหตุสาธารณภัยอื่น ๆ สามารถแจ้งเหตุผ่านสายด่วน 199 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง
กทม.เร่งตรวจสอบกรรมสิทธิ์ที่ดิน “สวนชูวิทย์” ขอความร่วมมือโครงการหยุดก่อสร้างชั่วคราว
นายธวัชชัย นภาศักดิ์ศรี ผู้อำนวยการสำนักการโยธา (สนย.) กทม.กล่าวว่า กรณีการก่อสร้างโครงการอาคารขนาดใหญ่บนพื้นที่ที่เคยเป็นที่ตั้งสวนสาธารณะ “สวนชูวิทย์” และมีข้อสังเกตสวนสาธารณะดังกล่าว เป็นสาธารณะสมบัติหรือไม่นั้นว่า โครงการก่อสร้างอาคารดังกล่าวได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ตามหนังสือสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเมื่อวันที่ 28 ม.ค.64 ได้รับอนุญาตให้ก่อสร้างอาคาร 51 ชั้น ชั้นใต้ดิน 3 ชั้น ชั้นลอย 4 ชั้น จำนวน 1 หลัง เพื่อใช้เป็นโรงแรม (200 ห้อง) สำนักงาน ภัตตาคาร พาณิชย์ สถานพยาบาล (ประเภทไม่ค้างคืน) สถานศึกษา จอดรถยนต์ โดยบริเวณที่ขออนุญาตเป็นการใช้ที่ดินภายในเขตผังเมืองรวม หมายเลข พ.5 – 4 สีแดง เป็นการใช้ประโยชน์ที่ดินที่ตั้งอยู่ริมถนนสาธารณะที่มีเขตทางไม่น้อยกว่า 12 เมตร (โครงการตั้งอยู่ริมถนนสุขุมวิทเขตทางกว้าง 30 – 32 เมตร)
จากการตรวจสอบกรรมสิทธิ์ที่ดินบริเวณก่อสร้างเป็นของบริษัทเอกชนตั้งแต่ปี 2545 ถึงปัจจุบัน และไม่ปรากฏรายละเอียด หรือเอกสารว่า ได้ยกเป็นที่สาธารณะ การพิจารณาอนุญาตจึงเป็นไปตามกฎหมายควบคุมอาคาร ส่วนกรณีการตั้งข้อสังเกตสวนสาธารณะดังกล่าวเป็นสวนสาธารณะสมบัติหรือไม่นั้น สนย.ได้หารือร่วมกับสำนักงานกฎหมายและคดี กทม.แล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างประสานศาลฎีกา เพื่อขอรายละเอียดคำพิพากษากรณีดังกล่าวมาศึกษาข้อกฎหมาย เพื่อพิจารณาตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องและนำเรียนผู้บริหาร กทม.พิจารณาต่อไป ทั้งนี้ สนย.ได้มีหนังสือแจ้งบริษัทฯ ขอความร่วมมือหยุด หรือชะลอการก่อสร้าง เพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น และให้บริษัทฯ นำส่งเอกสารชี้แจง เพื่อให้ สนย.พิจารณาในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
กทม.ออกหน่วยสาธารณสุขเคลื่อนที่ในชุมชนสัปดาห์ละ 2 ครั้ง บริการตรวจรักษาโรคจากฝุ่น PM2.5
นายสุนทร สุนทรชาติ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย (สนอ.) กทม.กล่าวกรณีการแจ้งเตือนภัยจากฝุ่น PM2.5 หากรับเข้าสู่ร่างกายในระยะยาวจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพว่า สนอ.ได้สั่งการให้ศูนย์บริการสาธารณสุข กทม.ทั้ง 69 แห่ง ออกหน่วยสาธารณสุขเคลื่อนที่ในพื้นที่ชุมชนสัปดาห์ละ 2 ครั้ง เพื่อให้บริการตรวจรักษาโรคและให้คำแนะนำประชาชนในการดูแลสุขภาพป้องกันตนเองจากโรคอันเนื่องมาจากฝุ่น PM2.5 ขณะเดียวกันได้แจกจ่ายหน้ากากอนามัย พร้อมทั้งติดตามตรวจเยี่ยมผู้ป่วยกลุ่มเปราะบาง อาทิ กลุ่มเด็ก กลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มโรคระบบทางเดินหายใจ กลุ่มโรคหัวใจและหลอดเลือด และกลุ่มหญิงตั้งครรภ์ นอกจากนั้น ยังร่วมกับสำนักการแพทย์ กทม.เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์โรคอันเนื่องมาจากฝุ่น PM2.5 ได้แก่ โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคหืดเฉียบพลัน โรคหัวใจขาดเลือดแบบเฉียบพลัน โรคเยื่อบุตาขาวอักเสบ และโรคผื่นผิวหนังอักเสบ เป็นรายวันอย่างใกล้ชิด เพื่อวางแผนและกำหนดมาตรการให้บริการแก่ประชาชนได้อย่างทันท่วงที